ปราโมทย์ ไม้กลัด หวั่นปฏิรูปบริหารจัดการน้ำจบเกม หากร่างพ.ร.บ.ฉบับสปช.ถูกล้ม
ประธานกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมยื่นร่างพ.ร.บ.บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พ.ศ....ต่อครม. หลังครม.อนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ก.วิทย์ ระบุเป็นการทำงานซ้ำซ้อน ชี้ร่างฉบับสปช.วางยุทธศาสตร์แก้ปัญหาชัดเจนกว่า
8 กรกฎาคม 2558 คณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์(วสท.) จัดเสวนาวิชาการ “เปิดร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการทรัพยากรน้ำและเรียกร้องความชัดเจนภาครัฐในการปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 4 วสท.
ผศ.ดร.สิตางค์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะอนุกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กล่าวถึงความกังวลใจกับการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรี เพราะที่ผ่านมามีความพยายามที่จะให้ประเทศไทยมีแผ่นแม่บทในการบริหารจัดการน้ำมาเป็นเวลา 10-20 ปีแล้ว พยายามชงให้ผ่าน แต่ยังไม่เคยสำเร็จไม่ว่ารัฐบาลไหน
"การมีร่างพระราชบัญญัติในการบริหารจัดการน้ำอยู่ 2 ฉบับ ฉบับแรก คือ ฉบับของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกกันว่า ฉบับกรมน้ำ อีกฉบับ คือ ฉบับของภาคประชาชน ที่เสนอโดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) โดยสภาปฏิรูป (สปช.)ได้นำมาพิจารณาทั้งสองร่างเพื่อเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของทั้งสองร่าง"
ผศ.ดร.สิตางค์ กล่าวว่า แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำแห่งชาติพ.ศ.... ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ไปแล้ว คำถามคือครม.ปล่อยให้ร่างนี้ผ่านไปได้อย่างไร ทั้งๆที่มีร่างนี้ 2-3 ร่างที่ชนกันอยู่”
ผศ.ดร.สิตางค์ กล่าวด้วยว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะประธานคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้บอกให้ไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนที่จะนำเสนอต่อคสช. ดังนั้นเราจึงแจ้งไปยังพล.อ.ฉัตรชัย ว่า ให้มีการชะลอร่างของกระทรวงวิทย์ฯ ไปก่อนเพื่อที่จะรอผลการศึกษาและร่างฉบับสปช.แล้วเสร็จก่อน เพื่อจะได้นำมาพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้คือไม่ได้มีการสั่งให้ชะลอ และขณะนี้ร่างดังกล่าวก็ส่งถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาและมีการพิจารณาอย่างต่อเนื่องอยู่
“วันนี้จึงต้องการความชัดเจนจากรัฐบาลคสช.ว่า การสั่งให้สปช.ศึกษาจนกระทั่งร่างพ.ร.บ.การบริหารจัดน้ำฉบับใหม่เสร็จ วันนี้ทราบหรือไม่ว่า มีร่างใหม่แล้ว หรือเจตนาที่แท้จริงของคสช.คืออะไร ตรงนี้ไม่ชัดเจน เมื่อร้องขอให้มีการชะลอหรือชะงักร่างของกระทรวงวิทย์ฯ อนทำไมจึงไม่เกิดขึ้น”
คณะอนุกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาครม.บอกว่าทำงานอยู่บนพื้นฐานของความโปร่งใสเปิดเผย ขณะเดียวกันก็มีการชงร่างของกระทรวงวิทย์เข้าไป โดยที่ผ่านมาหน่วยงานดังกล่าวก็มีความขัดแย้งและไม่ได้เป็นที่ยอมรับในด้านข้อมูลสารสนเทศเกษตร ดังนั้นสิ่งที่นักวิชาการด้านน้ำทั้งหลายอยากได้คำตอบคือความชัดเจนของครม.ของรัฐบาลชุดนี้ อยากให้ย้อนไปในวันที่สั่งการให้สปช.ดำเนินการศึกษาร่างพ.ร.บ.การบริหารจัดการน้ำ ที่สำคัญคืออย่าผ่านร่างมั่วๆซั่วๆ
ดร.สิตางค์ กล่าวถึงพ.ร.บ.การบริหารจัดการน้ำฉบับสภาปฏิรูปแห่งชาติด้วยว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีหลักการทรัพยากรร่วม เข้าถึงและใช้ประโยชน์ รับประกันสิทธิของประชาชนในการใช้น้ำขั้นพื้นฐาน ยึดในหลักการสิทธิชุมชนและหลักธรรมาภิบาลของรัฐในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
ด้านนายปราโมทย์ ไม้กลัด ประธานกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอดีตอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การทำงานของสปช.นั้นมุ่งหวังที่จะให้เกิดการปฏิรูปและมีการบริหารจัดการน้ำแบบยั่งยืน ในฐานะที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกสปช.จึงได้มีการศึกษาและร่วมกันร่างพ.ร.บ.การบริหารจัดการน้ำพ.ศ....ขึ้นมาโดยมีการแถลงต่อสปช.ไปแล้วเมื่อวานนี้ (7ก.ค.58)
ทั้งนี้สำหรับร่างที่ได้มีการศึกษาจนแล้วเสร็จนั้น นายปราโมทย์ เห็นว่า จะต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ และระดับพื้นที่และจะต้องมีการปรับการปฏิบัติงานใหม่เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับโครงสร้างองค์กรรูปแบบใหม่
อดีตอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวด้วยว่า กลไกการมีส่วนร่วมให้ภาคประชาชนนั้นจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และจะต้องมีการผลักดันกฎหมายแม่บท รวมทั้งปรับปรุงกฎ ระเบียบ ที่มีอยู่แล้วและที่จะต้องเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่สำคัญคือต้องทำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อการแก้ไขปัญหาเชิงเทคนิคและเชิงพื้นที่ในมิติต่างๆ ที่สำคัญคือการบริหารจัดการข้อมูลให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึง และจะมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาต่อไป
"หากร่างพ.ร.บ.ฉบับที่เราร่างเสร็จถูกล้ม ก็เรียกกว่า การปฏิรูปเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำครั้งนี้จบเกมส์"
สำหรับความสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่ร่างนั้น นายปราโมทย์ ่กล่าวว่า หลักการคือกำหนดให้มีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับชาติ ให้เป็นคนทำแผนยุทธศาสตร์ของประเทศและมีหน้าที่กระจายข้อมูลเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ โดยไม่ต้องร้องขอแบบในอดีต