หลายโรครุมเร้าระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าในอังกฤษ
ในขณะที่นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยหรือที่คนส่วนใหญ่คุ้นกันในชื่อว่า 30 บาทรักษาทุกโรคหรือบัตรทองยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงในสังคมไทย สังคมอังกฤษก็มีการถกเถียงถึงอนาคตของบริการสาธารณสุขแห่งชาติหรือ National Health Service (เอ็นเอชเอส) เช่นกัน ถกมานานและหลากหลายประเด็นด้วย ว่าไปแล้วเอ็นเอชเอสก็คือแม่แบบของโครงการ 30 บาท นพ. สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของโครงการ 30 บาท เป็นผู้ผลักดันแนวคิดรัฐสวัสดิการด้านสุขภาพให้เกิดขึ้นในสังคมไทย นพ.สงวน ซึ่งได้ลาโลกนี้ไปแล้ว เคยมาศึกษาที่วิทยาลัยสุขอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งลอนดอนด้วย (London School of Hygiene & Tropical Medicine)
ประเด็นหลักประเด็นหนึ่งของข้อถกเถียงในสังคมไทยในช่วงนี้คือ เรื่องการบริหารจัดการงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของสปสช. จนมีเสียงวิจารณ์การบริหารไปถึงขั้นที่ว่าอาจส่งผลให้เหมือนกับประเทศกรีซและมีฝ่ายที่ออกมาพูดว่ารัฐบาลมีแผนจะยกเลิกบัตรทอง แต่พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกมาสยบข่าวลือดังกล่าว พูดหนักแน่นว่ารัฐบาลไม่เคยคิดยกเลิกโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค
“บ้าไปแล้ว ผมไม่ยกเลิกหรอก โครงการ 30 บาทใครจะไปยกเลิก อย่างไรก็ตาม ก็ขอให้มีการพัฒนาประสิทธิภาพทางการแพทย์และพยาบาลเข้าถึงการรักษาพยาบาลประชาชนที่ห่างไกลอย่างทั่วถึง”
ถ้านายกฯ ตู่ ยกเลิกโครงการ 30 บาท ก็เท่ากับว่าเป็นการฆ่าตัวตาย เพราะเป็นนโยบายที่ให้หลักประกันด้านสุขภาพกับประชาชนอย่างทั่วถึง ประชาชนส่วนใหญ่ต่างบอกว่าบริการสาธารณสุขเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับและรัฐบาลต้องจัดหาให้ กรณีปัญหาเรื่องการบริหารงบประมาณก็จะต้องมาดูกันอีกทีว่าจะมีช่องทางไหนที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพได้มากที่สุดและทำให้โครงการนี้เป็นโครงการที่ยั่งยืนได้
การบริหารจัดการงบประมาณเป็นปัญหาใหญ่ของเอ็นเอชเอสเช่นกัน เพราะเอ็นเอชเอสเป็นระบบที่ให้บริการฟรี ที่ผู้ป่วยต้องเสียคือบริการตรวจเพื่อตัดแว่นและทำฟัน ส่วนบริการด้านสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าตรวจรักษา ค่าเข้ารักษาในโรงพยาบาล ค่าผ่าตัด ค่าบำบัดและติดตามผลนอกโรงพยาบาล ยกเว้นค่ายาซึ่งผู้ป่วยจะต้องจ่ายเองเวลาไปหาหมอที่เรียกว่าหมอครอบครัวหรือที่คนเรียกสั้น ๆ ว่าจีพี (General Practitioner) และจีพีสั่งจ่ายยา ผู้ป่วยสามารถไปรับยาตามใบสั่งนั้นได้ตามร้านขายยาที่จดทะเบียนรับจ่ายยาให้กับผู้ป่วยของเอ็นเอชเอส
กรณีต้องไปนอนโรงพยาบาลและโรงพยาบาลจ่ายยาให้ ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเงินค่ายา อย่างไรก็ตามอยู่ดี ๆ จะไปขอแอดมิดเข้าโรงพยาบาลไม่ได้ จะต้องมีใบส่งตัวจากหมอครอบครัว หรืออีกกรณีเช่น ผู้ป่วยไปหาหมอที่แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน (เอแอนด์อี) และหมอเห็นว่าต้องนอนโรงพยาบาล ผู้ป่วยถึงแอดมิดได้
ขณะนี้รัฐบาลกำหนดเพดานค่ายาไว้ที่ 8.20 ปอนด์ (ราว 430 บาท) ต่อยาหนึ่งขนาน มีบางกรณีที่ไม่ต้องจ่ายค่ายา เช่น หญิงมีครรภ์หรือเพิ่งคลอดทารก ผู้มีรายได้น้อย หรือจ่ายในราคาที่ถูกกว่า 8.20 ปอนด์ หากต้องรับยาหลายตัวติดต่อกัน ค่ายานี้ไม่ได้คงที่ตลอดแต่ปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ ราว 15-20 เพนซ์ (ราว 8-10 บาท) ต่อปี
เอ็นเอชเอส เริ่มจากแนวคิดที่ว่าประชาชนทุกระดับ ไม่ว่ารวยจน จะต้องสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพได้ โดยเอ็นเอชเอสถือกำเนิดเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2491 ซึ่งเป็นวันที่นายอไนริน เบวาน รัฐมนตรีสาธารณสุขในยุคนั้นไปเปิดโรงพยาบาลพาร์คในเมืองแมนเชสเตอร์ นับตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ เอ็นเอชเอสมีอายุครบ 67 ปีแล้ว โดยขณะนี้ให้บริการประชาชนกว่า 64 ล้านคน ในอังกฤษ, ไอร์แลนด์เหนือ, เวลส์และสกอตแลนด์ เอ็นเอชเอสได้งบมาจากเงินภาษีและเงินที่เรียกว่า National Insurance คนเรียกสั้น ๆ ว่าเอ็นไอ โดยเอ็นไอเป็นเงินที่รัฐบาลเรียกเก็บจากผู้ที่ทำงาน บริษัท หน่วยงานและห้างร้านต่าง ๆ เพื่อเป็นหลักประกันกรณีเจ็บป่วยหรือตกงานก็สามารถไปยื่นเรื่องขอเงินช่วยเหลือได้ เงินเอ็นไอยังส่งเข้ากองทุนบำนาญและใช้สำหรับจัดสรรสวัสดิการด้านอื่นด้วย หากแบ่งสัดส่วนรายได้ของเอ็นเอชเอสจะพบว่าราว 98.8% มาจากเงินภาษีกับเงินเอ็นไอ ส่วนอีก 1.2% เอ็นเอชเอสได้มาจากการเก็บค่ารักษาจากผู้ป่วย เช่น จากค่ายา ค่าบริการเพื่อตัดแว่นและทำฟัน
งบแต่ละปีสำหรับเอ็นเอชเอสเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องแถลงต่อสภาทุกปี สำหรับปีงบประมาณ 2558-2559 รัฐบาลให้งบเอ็นเอชเอสราว 6,047,440 ล้านบาท ภาระที่ประชาชนต้องช่วยรัฐบาลในกรณีบริการสาธารณสุขนอกจากเสียภาษี เสียค่าเอ็นไอแล้วก็คือช่วยจ่ายค่ายา งบค่ายาต่อปีของเอ็นเอชเอสล่าสุดอยู่ที่ราว 696,980 ล้านบาท
รัฐบาลพยายามรัดเข็มขัดเหมือนกัน บอกว่ามีการรั่วไหลเยอะ เช่น ผู้ป่วยรับยาไปแล้ว แต่กินไม่ครบคอร์สตามที่แพทย์สั่ง ล่าสุดรัฐมนตรีสาธารณสุขมีนโยบายว่ายาตัวไหนที่มีราคาเกิน 20 ปอนด์ (ราว 1,000 บาท) ขึ้นไป จะต้องมีป้ายกำกับราคาที่จำหน่ายตามท้องตลาด รวมทั้งระบุว่าเป็นยาที่ได้รับ “การอุดหนุนมาจากเงินภาษีของประชาชน” โดยจะเริ่มตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยตระหนักถึงภาระที่เอ็นเอชเอสต้องแบกรับและไม่มีอะไรได้มาฟรี ๆ งานวิจัยระบุว่าผู้ป่วยราว 30 - 50% ไม่ใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง ทำให้มีการสูญเสียราว 15,720 ล้านบาทต่อปี นอกจากปัญหาเรื่องยาแล้วยังมีปัญหาผู้ป่วยผิดนัดแพทย์ ไม่มาตามนัด คำนวณออกมาแล้วมีการสูญเสียราว 8,400 - 39,000 ล้านบาทต่อปี
รายงานการวิจัยของคิงส์ฟันด์เกี่ยวกับเอ็นเอชเอสชี้ว่า เมื่อปีงบประมาณที่ผ่านมาโรงพยาบาลในสังกัดเอ็นเอชเอสหลายแห่งขาดทุนมากเป็นประวัติการณ์และสถานการณ์จะยิ่งแย่ลงไปอีกหากรัฐบาลไม่จัดสรรงบเพิ่มเติมให้เอ็นเอชเอส ปัญหาเงินไม่พอใช้เป็นเสมือนกับโรคระบาดที่เกิดขึ้นตามโรงพยาบาลหลายแห่ง มีรายงานว่าเมื่อปีงบประมาณที่ผ่านมา (2557-2558) เอ็นเอชเอสขาดดุลถึงราว 43,000 ล้านบาท สาเหตุหนึ่งมาจากการจ้างบุคลากรทางการแพทย์ให้เข้ามาทำงานแทนพนักงานประจำในช่วงที่กำลังคนไม่พอ หน่วยงานที่กำกับดูแลการใช้จ่ายของเอ็นเอชเอสประเมินว่าในปีงบประมาณนี้ ยอดขาดดุลจะเพิ่มขึ้นอีก อาจขาดดุลถึงราว 104,000 ล้านบาท
นอกจากปัญหาการขาดแคลนกำลังคนและงบประมาณแล้ว เอ็นเอชเอสยังมีปัญหาการให้บริการด้วย เช่น เรื่องเตียงไม่พอรับผู้ป่วย ต้องส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเอกชน ทำให้เปลืองงบเพิ่มขึ้น การให้บริการล่าช้า ผู้ป่วยต้องเข้าคิวนานเพื่อรอรับการผ่าตัดแบบไม่เร่งด่วน มีหลายฝ่ายออกมาพูดว่าจะต้องมีการเก็บค่าบริการผู้ป่วยเพิ่ม เช่น กรณีผู้ป่วยนิดป่วยหน่อยก็ไปเอแอนด์อี ทำให้พนักงานเอแอนด์อีเสียเวลา แทนที่จะได้บริการผู้ป่วยที่จำต้องได้รับการดูแลจริง ๆ หรือเก็บเงินคนที่ผิดนัดแพทย์ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น
บริการสาธารณสุขแห่งชาติอังกฤษที่ก้าวมาจนมีอายุครบ 67 ปีในเดือนนี้ กำลังเผชิญกับปัญหาท้าทายหลายเรื่อง การทำให้เกิดความสมดุล ทั้งการบริการผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพและการบริหารจัดการกำลังคนและงบประมาณเพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืนเป็นเรื่องที่ผู้บริหารเอ็นเอชเอสและรัฐบาลตั้งเป้า แต่จะทำได้หรือไม่ ยังคงเป็นคำถาม หรืออาจจะต้องก้าวไปถึงขั้นผ่าตัดใหญ่ ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป
หมายเหตุ บริการสาธารณสุขแห่งชาติครอบคลุมถึงอังกฤษ, ไอร์แลนด์เหนือ, เวลส์และสกอตแลนด์ ซึ่งรวมเป็นสหราชอาณาจักร แต่ในบทความนี้ส่วนใหญ่กล่าวถึงเอ็นเอชเอสอิงแลนด์ที่ให้บริการเฉพาะในอังกฤษ ซึ่งมีประชากรรับบริการของเอ็นเอชเอสอิงแลนด์ราว 54 ล้านคน จากจำนวนประชากรในสหราชอาณาจักร 64.5 ล้านคน