‘นพ.ประเวศ’ หนุนขุดสระน้ำประจำครอบครัว แก้วิกฤติภัยแล้ง-ช่วยหายจน
‘นพ.ประเวศ’ เปิดลานพลเมือง หนุนชุมชนจัดการตนเอง ยันปฏิรูปประเทศสำเร็จต้องคืนอำนาจ ปชช. เพิ่มอำนาจพลเมืองเป็นใหญ่ ติงรัฐจัดการทรัพยากรขาดความยั่งยืน กระทบสมดุลธรรมชาติ ฝนตกน้ำท่วม ฝนไม่ตกน้ำแล้ง แนะทางแก้ส่งเสริมสร้างสระน้ำครัวเรือน เลี้ยงปลา ปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่ป่า ช่วยหายจน
วันที่ 8 กรกฎาคม 2558 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดเวทีผู้นำชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ครั้งที่ 4 ‘สิทธิพลเมืองจัดการตนเอง’ โดยมี ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นประธาน พร้อมร่วมเปิดลานพลเมือง ณ ห้องประชุมไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม พอช.
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาไทยใช้อำนาจรัฐและอำนาจทุนในการบริหารประเทศ ซึ่งพิสูจน์แล้วไม่สามารถสร้างการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนได้ ในสังคมที่มีความสลับซับซ้อน ดังนั้น ต้องเปลี่ยนมาใช้ ‘อำนาจพลเมือง’ ซึ่งมีความละเอียดมากกว่า แต่ยอมรับว่าไม่รู้จะเรียกชื่อว่าอะไร เดิมเรียกว่า สังคมสมานุภาพ แต่ไม่ติดตลาด ประกอบด้วย
ประการแรก คนมีจิตสำนึกแห่งศักดิ์ศรีความเป็นคน ทำให้เกิดศักยภาพการสร้างสรรค์ และตั้งใจทำความดีเพื่อส่วนรวม ซึ่งพลังจิตสำนึกนับเป็นพลังของมนุษย์มากที่สุด เปรียบเสมือนนิวเคลียร์ในตัวเอง
ประการที่สอง การรวมตัวเป็นพลังทางสังคม ใช้ปัญญาและข้อมูลในการจัดการ ไม่ใช้ความคิดรุนแรง มุ่งทำร้ายผู้อื่น หรือโค่นล้มใคร
“เคยคุยส่วนตัวกับ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะใช้อำนาจอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ เพราะสังคมปัจจุบันมีความสลับซับซ้อน วิธีการต้องเปิดพื้นที่ทางสังคมและปัญญาอย่างกว้างขวาง แต่นักการเมืองไม่เข้าใจ เพราะเข้ามาบริหารประเทศก็อยากใช้อำนาจ ทั้งนี้ การใช้พลังทางสังคมถือเป็นการ ‘ปฏิวัติเงียบ’ เป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดความสุข” ราษฎรอาวุโส ระบุ
ศ.นพ.ประเวศ ยังกล่าวว่า มนุษย์มีสิทธิขั้นพื้นฐานในการมีชีวิตอยู่ โดยได้รับปัจจัยในที่ดิน ป่าไม้ และแหล่งน้ำ กล่าวคือ ทรัพยากรธรรมชาติดั้งเดิมเป็นสิทธิของประชาชน ต่อมาเกิดรัฐขึ้นจึงยึดทรัพยากรเหล่านี้เป็นของรัฐ และจัดสรรให้ใครใช้หรือไม่ให้ใครใช้ อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า รัฐไม่สามารถจัดการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนได้ ทำให้ทรัพยากรร่อยหรอ ป่าหมด แห้งแล้ง
ประเทศจะสมดุลต้องมีป่าอย่างน้อยร้อยละ 50 แต่ไทยเหลือป่าเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ผิดกับประเทศอุตสาหกรรมอย่างญี่ปุ่นมีป่าถึงร้อยละ 60 บัดนี้การพัฒนาไม่เป็นธรรมไม่สามารถรักษาสมดุลธรรมชาติได้ ฝนตกมากก็น้ำท่วม ฝนไม่ตกก็แห้งแล้ง ประชาชนยากจนขาดทุนอยู่แล้ว เมื่อภัยแล้วเกิดขึ้นอีก รัฐบาลไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะไม่สามารถจัดการทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนได้
“การปฏิรูปประเทศให้ประสบความสำเร็จ ต้องคืนอำนาจให้ประชาชนปกครองตนเองมากที่สุด ไม่มีใครจะปกครองได้ดีเท่าการปกครองตนเอง ในรูปแบบชุมชนจัดการตนเอง” ราษฎรอาวุโส กล่าว และว่าครูสน รูปสูง ผู้นำชุมชน จ.ขอนแก่น กล่าวไว้ว่า ต้องจัดการตนเอง 3 ระดับ คือ ระดับจิตสำนึก องค์กร และนโยบาย เห็นชัดเจนไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแน่นอน ด้วยพลังของผู้นำชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ
ผู้สื่อข่าวถามเพิ่มเติมถึงการแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำแล้งโดยชุมชนให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างไร ศ.นพ.ประเวศ ระบุว่า รัฐบาลต้องจัดสรรที่ดินทำกินให้ประชาชนยากจนมากที่สุด ครอบครัวละ 2-3 ไร่ พร้อมส่งเสริมให้ขุดสระน้ำประจำครอบครัว ค่าจ้างขุดประมาณ 1.5-3 หมื่นบาท/สระ โดยสามารถกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ได้ทั้งปี และจะมีปริมาณมหาศาลมากให้ประชาชนได้ใช้น้ำโดยตรง แต่การสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำไม่การันตีว่า ประชาชนจะได้ใช้น้ำอย่างทั่วถึง
“การมีสระน้ำประจำครอบครัวสามารถเลี้ยงปลา ซึ่งยืนยันช่วยหายจนภายในปีนั้น หากปลูกต้นไม้ก็สามารถฝากธนาคารต้นไม้ได้ แต่ละวันต้นไม้จะมีมูลค่าเพิ่ม 3 บาท ปลูกไว้ 1 พันต้น จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 3 พันบาท/วัน อีกทั้งยังนำไปทำประโยชน์อื่นได้อีก เช่น สร้างบ้าน ผลิตเฟอร์นิเจอร์ ทำงานศิลปะ เป็นต้น ” ราษฎรอาวุโส กล่าว
ศ.นพ.ประเวศ ยังคาดการณ์ว่า ปลายเดือนกรกฎาคมฝนจะตกเพิ่มขึ้น ดังนั้นตั้งแต่เดือนนี้จนถึงปลายปียังเก็บน้ำในสระทัน หากทุกครอบครัวมีสระน้ำ จะช่วยแก้ปัญหาความยากจนไปในตัว เกิดพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น ช่วยลดโลกร้อน ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยและต่างชาติแตกต่างกัน ของต่างชาติมีทรัพยากรน้อยจึงต้องอาศัยการแย่งชิง แต่ของไทยคือเศรษฐกิจจากฐานทรัพยากร เรียกว่า เศรษฐกิจติดแผ่นดิน ฉะนั้นที่ผ่านมาการแก้ปัญหาภัยแล้งไม่สำเร็จ เพราะระบบการศึกษาไทยสอนให้คนท่องหนังสือในตำรา ส่งผลให้ไม่เกิดความรู้จริงในแผ่นดินไทย เพราะความรู้จริงนี้เองจึงทำให้เเก้ปัญหาไม่ถูกต้อง .