ยิ่งลักษณ์ ยืนยัน “เดินหน้าประชานิยม” กู้วิกฤติเศรษฐกิจ-ไม่กระทบช่วยน้ำท่วม
นายกฯ เรียก รมต.ทุกกระทรวงถกฟื้นฟูหลังน้ำลด ระบุ 1 แสนล้านไม่พอ ยืนยันประชานิยมกู้วิกฤติเศรษฐกิจ-อัดเงินลงชุมชน ก.แรงงานเตรียมของบ 200 ล้านเติมกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ก.ศึกษาฯเปิดโรงเรียนเล็กในศูนย์พักพิง ก.แรงงาน เปิดโครงการลดเครียดผู้ประสบภัย
วันที่ 17 ต.ค.54 ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย(ศปภ.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกรัฐมนตรีมาหารือรายกระทรวง เพื่อวางแผนฟื้นฟูเยียวยาหลังน้ำลดแก่ภาคประชาชน ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด โดยกล่าวว่าต้องให้แน่ใจว่ากลไกของทุกส่วนตั้งแต่ ศปภ.ทำงานได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการเตรียมทำแผนฟื้นฟูหลังน้ำลด ซึ่งแต่ละกระทรวงจะต้องบูรณาการการทำงานร่วมกับคณะกรรมการเยียวยาที่คณะรัฐมนตรีตั้งไว้
เมื่อถามถึงงบประมาณในการฟื้นฟู น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่าจากที่เตรียมการไว้อาจจะไม่พอ คงจะตั้งงบเพิ่มเพื่อเร่งฟื้นฟูภาพรวมโดยเร็ว เพราะมีความเสียหายทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม ดังนั้นต้องเร่งฟื้นฟู ที่สำคัญต้องกอบกู้เศรษฐกิจประเทศกลับคืนมาเร็วที่สุด เมื่อถามว่าจะต้องใช้งบประมาณถึง 2 แสนล้านบาทหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่าเบื้องต้นงบประมาณที่ต้องใช้ถึงแสนล้านบาทแน่นอน ยังไม่รวมที่ต้องบูรณาการภาพรวมในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ เพราะพยายามทำงานทั้งหมดเพื่อฟื้นฟูให้ทุกอย่างกลับคืนมาสู่สภาพเดิมและฟื้นฟูสภาวะประชาชนให้กลับมาตั้งตัวได้เหมือนเดิม รวมถึงกลุ่มภาคอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มเอสเอ็มอี และยังไม่รวมการพัฒนารวมในโครงการนโยบาย 25 ลุ่มน้ำ และบูรณาการโครงการพระราชดำริทั้งหมดเข้ามาเป็นแผนการแก้ไขปัญหาน้ำอย่างเป็นระบบ
เมื่อถามว่ามีเสียงสะท้อนอยากให้รัฐบาลทบทวนนโยบายประชานิยมเพื่อนำงบประมาณช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยก่อน นายกฯกล่าวว่าได้ให้มีการทบทวนนโยบายต่างๆ ซึ่งจะเน้นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะโครงการเอสเอ็มแอลซึ่งจะเร่งรัดเพื่อให้เงินลงสู่ระบบให้ประชาชนระดับชุมชนนำเงินเข้าไปแก้ไขปัญหาส่วนรวม รวมถึงนโยบายกองทุนต่างๆและการพักหนี้เกษตรกร เมื่อถามว่าเป็นเงินที่จะมาจากแหล่งเงินกู้หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า อาจจะมาจากแหล่งเงินกู้บ้างที่ต้องนำมาใช้ เมื่อถามย้ำว่าแหล่งเงินกู้จะมาจากสถาบันการเงินจากต่างประเทศหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่าขอให้กระทรวงการคลังโดยธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้พิจารณา
ด้าน น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม(รมว.อุตสาหกรรม) เปิดเผยว่านายกรัฐมนตรีได้สั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงแรงงาน หาแนวทางช่วยเยียวยาฟื้นฟูทั้งผู้ประกอบการและแรงงาน สำหรับภาคอุตสาหกรรมยังสรุปตัวเลขความเสียหายไม่ได้ เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่นิ่ง อย่างไรก็ตามงบประมาณที่รัฐบาลกันไว้ 8 หมื่นล้านเพื่อนำมาเยียวยาหลังน้ำลดนั้นคงไม่เพียงพอ ต้องมีมาตรการอื่นเพิ่มเติม
ด้านนายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ใน 17 จังหวัดที่ถูกน้ำท่วมมีสถานประกอบการได้รับผลกระทบ 10,827 แห่ง ลูกจ้างเดือดร้อน 446,777 คน ซึ่งในจำนวนนี้เฉพาะจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีสถานประกอบการได้รับผลกระทบ 5,296 แห่ง ลูกจ้างเดือดร้อน 373,590 คน คิดเป็น 100%
“กระทรวงกำลังเตรียมวางมาตรการช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับความเดือดร้อน โดยจะจัดหางบประมาณ เป็นค่าครองชีพเพื่อให้มีเงินพอกินพออยู่ได้ชั่วคราวไปก่อน เพราะขณะนี้ลำพังนายจ้างคงแบกรับภาระเรื่องนี้ไม่ไหว รวมทั้งเตรียมช่วยเหลือกรณีถูกเลิกจ้าง เช่น ของบเพิ่ม 200 ล้านบาทเติมกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ที่ปัจจุบันมีเงินอยู่แล้ว 230 ล้านบาท” อธิบดี กสร.กล่าว
ขณะที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัศ รมว.คมนาคม กล่าวว่านายกรัฐมนตรีได้ให้ข้อแนะนำว่าก่อนที่น้ำจะลด กระทรวงต้องมีแผนเรื่องของถนนและเส้นทางรถไฟว่าจะเร่งกู้อย่างไรเพื่อสามารถใช้ได้ก่อน สำหรับตัวเลขความเสียหายด้านของคมนาคมยัง ต้องรอให้น้ำลดแล้วจึงเข้าไปประเมินความเสียหาย รวมทั้งเส้นทางที่จะกู้ให้กลับมาใช้ได้ เวลานี้หากใครจะเดินทางไปตอนเหนือยังสามารถเดินทางได้อยู่ แต่ต้องใช้เส้นทางอ้อม ส่วนถนนสายเอเชียคงต้องรอเวลา เพราะขณะนี้น้ำยังแรงอยู่
ด้าน นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รมช.สาธารณสุข เปิดเผยว่าล่าสุดจากประเมินปัญหาสุขภาพจิตของผู้ประภบภัยน้ำท่วม 32 จังหวัด 92,310 ราย พบมีความเครียดสูง 3,706 ราย มีภาวะซึมเศร้า 5,313 ราย มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย 727 ราย และต้องติดตามดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากมีความเสี่ยงฆ่าตัวตายหรือแพทย์ต้องติดตามดูอาการต่อเนื่องทั้งหมด 1,091 ราย ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ประสบภัยทั้งหมดเข้าไปดูแล
รมช.สธ.ยังกล่าวว่า วันที่ 18 ต.ค.54 นี้กรมสุขภาพจิต จะเปิดตัวโครงการ “อึด ฮึด สู้ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป” รณรงค์ให้ผู้ประสบภัยรวมพลังต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เบื้องต้นได้ทำโครงการเยียว 4 กลุ่มเสี่ยงดังกล่าว ซึ่งโครงการนี้จะเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประสบภัยรู้และเข้าใจปัญหา แล้วคิดเชิงบวกกับสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้ประสบภัยคนเดียว ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีได้ให้ดำเนินการโครงการนำศิลปินตลกลงไปเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยควบคู่ไปด้วย คาดว่าจะช่วยลดปัญหาความเครียดของผู้ประสบภัยลงได้ สำหรับผลการดูแลด้านสุขภาพจิตผู้ประสบภัย
ส่วนนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่าในการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554 ในพื้นที่ที่ประสบภัยให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้อำนวยการโรงเรียนว่าหากมีความพร้อมก็เปิดได้ตามกำหนด แต่หากจำเป็นต้องเลื่อนออกไป เมื่อเปิดแล้วก็ให้เร่งสอนเสริมให้กับเด็ก ซึ่ง นายกรัฐมนตรีมอบให้ ศธ.สำรวจว่าในศูนย์พักพิงใดที่มีเด็กๆไปรวมตัวอยู่จำนวนมากให้เปิดสอนเสริมการเรียนให้กับเด็ก ทั้งนี้ในการฟื้นฟูหลังน้ำลดจะให้นักศึกษาอาชีวศึกษาและนักศึกษามหาวิทยาลัยออกค่ายเข้าไปฟื้นฟูซ่อมแซมทั้งอาคารบ้านเรือนหรือโรงงานที่ได้รับความเสียหาย การฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรรมก็จะให้นักศึกษาที่เรียนด้านเกษตรก็จะเข้าไปช่วยเกษตรกรฟื้นฟูปรับสภาพดินและจะมีกลุ่มสอนอาชีพด้วย
น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่ากำลังเร่งสำรวจสถานศึกษาในสังกัดว่ากี่แห่งที่ถูกน้ำท่วมเสียหายจนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ ต้องหาวิธีการว่าจะย้ายเด็กไปเรียนในโรงเรียนอื่นเป็นการชั่วคราว ส่วนเรื่องจัดการเรียนการสอนในศูนย์ที่พักพิงนั้น เบื้องต้นอาจต้องดำเนินการในลักษณะโรงเรียนริมทาง ที่ส่งครูเข้าไปสอน ทั้งนี้นายกฯเร่งรัดให้ซ่อมแซมโรงเรียนที่ได้รับความเสียหายไม่มากนัก เพื่อจะได้เปิดเรียนตามปกติ 1 พ.ย.54 พร้อมให้เร่งจัดทำรายละเอียดเรื่องให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบกู้ยืมเงินซ่อมแซมบ้าน โดยให้สรุปและเสนอกระทรวงการคลังโดยเร็ว .
ที่มาภาพ : http://thairecent.com/First/2011/927668/