"อัคร ทิพโรจน์" ไขปม "ภัยแทรกซ้อน" ผสมโรงจุดไฟใต้
ระยะหลังมีการพูดกันมากโดยเฉพาะจากฝ่ายทหารถึงเรื่อง “ภัยแทรกซ้อน” ที่เกิดขึ้นท่ามกลางปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทั่งกำหนดเป็นหนึ่งใน 6 นโยบายที่เป็นยุทธศาสตร์ดับไฟใต้เลยทีเดียว
ข้อมูลจากแม่ทัพภาคที่ 4 พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ระบุถึงขั้นว่าความรุนแรงที่เกิดจากภัยแทรกซ้อน ซึ่งนิยามง่ายๆ ว่าหมายถึงกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด ขบวนการขนสินค้าเถื่อน น้ำมันเถื่อน และธุรกิจผิดกฎหมาย มากมายถึงร้อยละ 80 จากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น แต่สังคมกลับมองว่าเป็นเรื่องของการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งแท้ที่จริงแล้วมีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น
ข้อมูลนี้นับว่าน่าสนใจ และมีความอ่อนไหวไม่น้อยต่อความชอบธรรมในการขับเคลื่อนงานต่อไปของกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ระเบิดครั้งรุนแรงที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งฝ่ายทหารพยายามสรุปว่ามีความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนระหว่างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกับกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดในการสร้างสถานการณ์
“ทีมข่าวอิศรา” แกะรอยปัญหา “ภัยแทรกซ้อน” ที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางอยู่ในขณะนี้กับ พล.ต.อัคร ทิพโรจน์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (รองผอ.รมน.ภาค 4 สน.) ซึ่งได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบปัญหานี้โดยตรง
O อยากให้อธิบายชัดๆ ถึงสิ่งที่ กอ.รมน.เรียกว่า “ภัยแทรกซ้อน” ในพื้นที่ชายแดนใต้ว่าคืออะไร และมีหลักฐานอะไรยืนยันว่าภัยแทรกซ้อนที่ว่านั้นเกี่ยวโยงกับปัญหาความไม่สงบและขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน?
กลุ่มคนที่กำลังก่อความรุนแรงขึ้นในพื้นที่มีเอเย่นต์ของเขาอยู่ คือจะมีสายบังคับบัญชา จะมีระดับหัวหน้า มีระดับเจ้าหน้าที่ และลงมาสู่มดงาน ซึ่งมดงานทั้งหมดจะแบ่งพื้นที่การทำงานอย่างหลวมๆ แต่ละกลุ่มอาจจะไม่เกี่ยวข้องกัน แต่สิ่งที่เรายืนยันได้ก็คือคนที่มีส่วนพัวพันกับยาเสพติดทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน
หลักฐานที่เรายืนยันได้อย่างแน่นอนว่ากลุ่มคนพวกนี้ (มดงาน) ปฏิบัติงานตามผู้ที่แฝงผลประโยชน์ผิดกฎหมายสั่งการก็คืออาวุธที่เขาใช้ ปืนหนึ่งกระบอกที่เขาใช้นั้น เขาใช้ทั้งคดีเหตุรุนแรง ใช้ทั้งเรื่องยาเสพติด ใช้ทั้งเรื่องขัดผลประโยชน์ทางการเมือง ใช้เพื่อควบคุมประชาชน และใช้ในคดีชู้สาว ซึ่งปืนหนึ่งกระบอกสามารถใช้ในเรื่องอย่างนี้ได้มากพอสมควร
เราก็เลยสามารถสรุปได้ว่า จากคดียาเสพติด จากคดีขนน้ำมันหนีภาษี มันมีหลักฐานโยงใยเรื่องบัญชีเงินฝากหรือเส้นทางเงิน มันกลับเข้าไปสู่คนที่เป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง เราก็เลยค่อนข้างเชื่อว่าระดับเจ้าหน้าที่ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนเป็นปลาสองน้ำ เป็นนายหน้าค้าไฟใต้
O แล้วการทำงานของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร?
จริงๆ แล้วประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รับทราบดีว่ากลุ่มก่อความไม่สงบกำลังทำอะไรกัน แต่เป้าหมายสุดท้ายของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบก็คือต้องทำหน้าที่แย่งชิงมวลชนกับรัฐ แต่งานมวลชนของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจะทำในลักษณะปลุกระดม บิดเบือนข้อเท็จจริง หรือใส่ความคิดที่ผิดๆ และควบคุมชาวบ้านด้วยความรุนแรง ควบคุมก็คือทำลายผู้ที่ให้ความร่วมมือกับรัฐ เพื่อบีบให้คนส่วนใหญ่อยู่นิ่ง และทำลายขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งสร้างความแตกแยกภายใน ทั้งระหว่างชาวบ้านด้วยกันเองและชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ
เพราะฉะนั้นการก่อเหตุของเขาแต่ละครั้งจะมีวัตถุประสงค์อยู่ 3 อย่าง คือ 1.เพื่อเป็นข่าว 2.เพื่อควบคุมประชาชน และ 3.สร้างความแตกแยกให้เกิดความหวาดระแวง นี่คือสิ่งที่ก่อผู้ก่อความไม่สงบกำลังทำ
ในอดีตที่ผ่านมา ตอนที่เรายังไม่ได้จัดตั้ง กอ.รมน. กลุ่มเหล่านี้ทำงานได้อย่างเต็มที่โดยที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรง แต่พอเริ่มมีคนมาขัดขวาง ก็เริ่มมีประชาชนที่เข้ากับฝ่ายรัฐ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนพุทธหรือกลุ่มคนมุสลิมที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของกลุ่มขบวนการ จึงต้องก่อเหตุรุนแรงเพื่อควบคุมคนเหล่านี้ไว้ และก็จะมีพี่น้องบางกลุ่มที่ตกกระไดพลอยโจร ตกที่นั่งลำบาก เช่น คนที่อยู่หมู่บ้านเดียวกัน คนที่เป็นญาติพี่น้องกัน คนที่เป็นเขยเป็นสะใภ้กัน ซึ่งคนเหล่านี้ยากที่จะออกมาเปิดเผยตัวกับเจ้าหน้าที่รัฐ และจำต้องให้ความช่วยเหลือคนของขบวนการ ขณะเดียวกันก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งคือคนไทยในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศที่จะต้องรับรู้ข่าวสารว่าเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่แห่งนี้
วิธีการของกลุ่มก่อความไม่สงบก็คือ ใช้ความรุนแรงควบคุมคนในพื้นที่ และใช้สื่อสารมวลชนสื่อข้อมูลทางตรงกับคนในพื้นที่อื่นของประเทศและต่างประเทศโดยใช้ความรุนแรงว่าพื้นที่นี้ยังมีความรุนแรงอยู่ สร้างเรื่องราวว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีความชอบธรรม ประชาชนถูกกดขี่ข่มเหง ไม่ได้รับความเป็นธรรม มีเงื่อนไขละเมิดสิทธิมนุษยชน เขาก็ส่งสารแบบนี้เข้าไปด้วยงานสื่อสารมวลชน
จริงๆ ทั้งรัฐและกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบก็พยายามใช้สื่อ โดยฝ่ายเจ้าหน้าที่พยายามส่งสารไปในทางบวก แต่กลุ่มผู้ก่อเหตุพยายามส่งสารไปใทางลบ โดยพุ่งเป้าไปที่โอไอซี (องค์การการประชุมชาติอิสลาม) และยูเอ็น (องค์การสหประชาชาติ) ด้วยหวังให้เกิดการแทรกแซแงจากนอกประเทศเหมือนในต่างประเทศ แต่ที่ไม่เหมือนต่างประเทศคือคนพวกนี้ไม่ประกาศตัวว่าเขาเป็นใคร เขาจะอยู่ใต้ดินตลอด การอยู่ใต้ดินของเขาก็คือการไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น
O เกือบ 8 ปีที่ต่อสู้กับวิธีการเช่นนี้ คิดว่าเอาอยู่หรือไม่?
เรามั่นใจว่าเราควบคุมได้ เพราะว่าตะกอนความคิดจากการเรียนถูกเรียนผิด เราถือว่าผิดเป็นครูตั้งแต่เราเริ่มทำงานมาเมื่อปี 2547 จนถึงปัจจุบัน มันตกตะกอนที่เราสามารถเก็บรายละเอียดได้เกือบครบถ้วน โดยปีนี้เรารุกเรื่องเงื่อนไขคาใจ เช่น เงื่อนไขอิหม่ามยะผา (นายยะผา กาเซ็ง อิหม่ามประจำมัสยิดบ้านกอตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ที่ถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัว) เงื่อนไขกรือเซะ (เหตุการณ์กลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์มุสลิมกระจายกำลังเข้าโจมตีป้อมจุดตรวจของเจ้าหน้าที่รัฐ และถูกใช้อาวุธตอบโต้จนมีผู้เสียชีวิต 108 ราย เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547) เงื่อนไขตากใบ (การสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากการสลายและการขนย้ายผู้ถูกจับกุม 85 ราย)
อะไรที่กลุ่มเอ็นจีโอ กลุ่มสิทธิมนุษยชนพยายามเรียกร้อง เราก็จะเข้าไปทำใน 2 ลักษณะ คือ 1.เยียวยาให้เกิดความรู้สึกดีขึ้น 2.ดำเนินคดีตามกฎหมาย นอกจากนั้นในกรณีใหม่ๆ การปิดล้อม ตรวจค้น เราก็จะเข้าไปแบบมีหมายจับ จะไม่เข้าไปแบบเลื่อนลอย เราสามารถแยกแยะคนไม่ดี คนดี และคนต้องสงสัยออกจากกันได้ เรามีบัญชี และเอาบัญชีเหล่านี้ให้ทหารในพื้นที่เข้าไปได้เลย
เรามีการจัดสรรกำลังเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 ฝ่าย แบ่งพื้นที่รับผิดชอบอย่างชัดเจนว่า ถ้าเป็นพื้นที่ในเขตชุมชน เราจะใช้ตำรวจกับ อส. (อาสารักษาดินแดน) ถ้าเป็นพื้นที่ในเขตชนบทติดชายเขา เราจะใช้เจ้าหน้าที่ทหารที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ค่อนข้างครบ แต่ถ้าเป็นพื้นที่เทือกเขาต่างๆ เราจะใช้ทหารพราน และสิ่งที่ประสบความสำเร็จก็คือเราสามารถสกัดกั้นทำลายความพยายามของคนที่จะก่อเหตุได้ในระดับที่น่าพอใจ
O นโยบายพาคนกลับบ้าน หรือนำคนที่คิดต่าง หรือแม้แต่กระทำความผิดกลับมาสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม เรื่องนี้คืบหน้าถึงไหนแล้ว?
เป็นแนวทางตามมาตรา 21 พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (กฎหมายความมั่นคง) จากการทำงานที่ผ่านมาเรารู้ว่าคนที่อยู่กับขบวนการแบ่งแยกดินแดนนั้น จะมีระดับหัวหน้าเป็นถังความคิด ต้องการให้เกิดการแบ่งแยกดินแดน ตั้งเป็นรัฐอิสระแยกจากรัฐไทย โดยใช้ประชาชนที่มีอายุ 17-35 ปีเป็นกลุ่มมดงานเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ขณะเดียวกันก็มีฝ่ายการเมือง ผู้นำธรรมชาติ หรือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่คอยควบคุมกลุ่มมดงานอีกที
หลายคนอาจจะถามว่าในเมื่อเรารู้โครงสร้างแบบนี้แล้วทำไมถึงไม่จัดการ คำตอบคือเขามีมวลชน โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นฝ่ายการเมือง ผู้นำธรรมชาติ หรือผู้มีอิทธิพล และส่วนใหญ่เขาอาจไม่ได้ทำผิดอาญาโดยตรง ถ้าเราจับคนพวกนี้มาดำเนินคดีอย่างเดียวจบเลย มันจะเป็นเงื่อนไขขึ้นมาทันที เพราะฉะนั้นเราก็เลยมีอีกช่องทางหนึ่ง คือเชิญมาพบปะพูดคุย และอาจไม่ดำเนินคดี ซึ่งคนพวกนี้เขาคิดว่าถ้าเราไม่รู้เขาก็จะทำต่อไป แต่ถ้าเขารู้ว่าเรารู้แล้ว เขาก็จะหยุด
O ระยะหลังมีกระแสจากบางฝ่ายเรียกร้องให้จัดตั้งเขตปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ามองอย่างไร?
ทุกอย่างมันอยู่ที่คนในพื้นที่ ถ้าคนในพื้นที่ว่าอย่างไร รัฐบาลก็ต้องว่าตามนั้น เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถตอบคำถามสมมติได้ ส่วนตัวผมไม่แน่ใจว่าประชาชนเอาอย่างไร แต่แม่ทัพ (พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์) พูดให้ฟังว่า ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มันไม่ใช่ปัญหารูปแบบการปกครอง แต่เป็นปัญหาการปกครอง เพราะฉะนั้นถ้าเราไปแก้ที่รูปแบบ มันก็ไม่ได้แก้ปัญหา
เท่าที่เราสำรวจความคิดเห็นพี่น้องประชาชน ชัดเจนว่าปัญหาคือการปกครองที่มันไม่เป็นธรรม ที่มันบิดเบี้ยว ที่มันไม่ได้รับบริการของรัฐอย่างทั่วถึงและถูกต้องชอบธรรม เราต้องแก้ตรงนี้ถึงจะโดนใจพี่น้องประชาชน
ที่ผ่านมาเราก็พยายามฟังเสียงของพี่น้องประชาชนอย่างสม่ำเสมอ เช่นร่วมประชุมกับ อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) เปิดสภาสันติสุข สภาประชาชน ให้เขาได้แสดงความคิดเห็นออกมา ผมว่ามันไปไม่ถึงหรอกที่ว่าถ้ามันแยกไปแล้วจะไปทำอย่างไร แม่ทัพยืนยันว่าการปกครองตนเองหรือการแยกเป็นการปกครองรูปแบบพิเศษไม่ใช่ความต้องการของคนในพื้นที่ และการที่ให้หน่วยเฉพาะกิจเข้าไปพบปะพูดคุยกับชาวบ้าน เขาบอกเป็นเสียงเดียวกันเลยว่า เขาต้องการการปกครองที่มีประสิทธิภาพ ถูกต้องเป็นธรรม เขาไม่ได้ขอรูปแบบการปกครอง และประชาชนส่วนใหญ่เขาสนใจเรื่องการทำมาหากินมากกว่า ขอให้พื้นที่มีความสงบ ปลอดภัย ถ้าทำตรงนี้ได้ เศรษฐกิจจะขยายตัว และทุกคนก็มีความสุข