องคมนตรีทำบันทึกฉบับ 2 ถึงนายกฯ "ก.ต." ต้องปลอดคนนอก
เงียบหายไปพักใหญ่สำหรับความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป ล่าสุดองคมนตรี ธานินทร์ กรัยวิเชียร ทำบันทึกถึงนายกรัฐมนตรีเป็นฉบับที่ 2 เรียกร้องให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมต้องปลอดจากคนนอก 100%
นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี ได้ทำบันทึกส่งถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรียกร้องให้กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป ไม่ให้มีสัดส่วนบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็นผู้พิพากษาเข้าดำรงตำแหน่งคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ ก.ต. แม้แต่คนเดียว
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา นายธานินทร์ได้ทำบันทึกถึงนายกรัฐมนตรีฉบับหนึ่งแล้ว เพื่อคัดค้านเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปที่มีการเพิ่มสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่เคยเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ และไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เข้าไปดำรงตำแหน่งคณะกรรมการ ก.ต.ซึ่งเป็นองค์กรบริหารงานบุคคลสูงสุดของศาลยุติธรรม เพราะเท่ากับเปิดทางให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงศาลยุติธรรม
บันทึกของนายธานินทร์ ระบุว่า หลังจากที่ส่งบันทึกฉบับแรกถึงนายกรัฐมนตรีแล้ว ปรากฏว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้รับฟังข้อท้วงติงดังกล่าว โดยจะกลับไปใช้หลักการเดิมในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 คือ ให้มีสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกเข้าไปเป็นคณะกรรมการ ก.ต. 2 คน จาก 15 คน โดยผ่านการคัดเลือกจากวุฒิสภา แต่นายธานินทร์เห็นว่า บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นความบกพร่องผิดพลาด เพราะจริงๆ แล้วไม่ควรให้มีบุคคลภายนอกเข้าไปดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการ ก.ต.เลยแม้แต่คนเดียว มิฉะนั้นจะเหมือนการนำบุคคลที่ไม่ใช่แพทย์มาร่วมตรวจรักษาผู้ป่วย
นายธานินทร์ ยังยกตัวอย่างระบบการตรวจสอบศาลของประเทศอังกฤษ ซึ่งมี คณะผู้ตรวจสอบจริยธรรมและการแต่งตั้งผู้พิพากษา เรียกว่า JACO หรือ JUDICIAL APPOINTMENT AND CONDUCT OMBUDSMAN โดยเป็นองค์กรอิสระที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบกระบวนการคัดเลือกและแต่งตั้งผู้พิพากษา และตรวจสอบวินัยและจริยธรรมของผู้พิพากษา แต่ระบบนี้ก็มีหลักประกันความเป็นอิสระของศาล เพราะ JACO มีเพียงอำนาจในการตรวจสอบและทำความเห็น แต่อำนาจในการตัดสินใจและดำเนินการเป็นของศาลยุติธรรมเท่านั้น และ JACO ก็ไม่มีอำนาจตรวจสอบในเรื่องการแต่งตั้งผู้พิพากษาหรือการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาลด้วย
นอกจากนั้น ตลอดระยะเวลา 315 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ผู้พิพากษาศาลสูงของอังกฤษซึ่งมีประมาณ 100 กว่าตำแหน่ง ไม่เคยมีผู้ใดถูกกล่าวหาหรือถูกลงโทษฐานรับสินบนเลย เพราะผู้พิพากษาเป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง 100%
ขณะที่ในวงการศาลยุติธรรมไทยพบปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่เป็นระยะ ปรากฏจากสถิติคดีที่คณะกรรมการ ก.ต.ลงโทษทางวินัยแก่ผู้พิพากษาที่มีความผิดในปี 2557 จำนวน 25 คน แม้จะเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้พิพากษาศาลยุติธรรมทั้งหมดทั่วประเทศจำนวน 4,418 คน แต่ก็เป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ ด้วยการทำให้คณะกรรมการ ก.ต.ปราศจากการถูกแทรกแซงจากภายนอก โดยเฉพาะจากฝ่ายการเมืองอย่างแท้จริง และสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการรักษาไว้ซึ่งเกียรติภูมิแห่งวิชาชีพตุลาการ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 นายธานินทร์ กรัยวิเชียร และบันทึกที่ทำถึงนายกรัฐมนตรี
2 ตารางแสดงจำนวนผู้พิพากษาที่โดนลงโทษทางวินัยจากการพิจารณาของ ก.ต. (ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม)
ขอบคุณ : ภาพที่ 2 โดยสถานีโทรทัศน์ PPTV