ยาไอซ์-ยาบ้าระบาด! ‘พล.อ.ไพบูลย์’ ชี้ศูนย์ฟื้นฟูล้มเหลว ลั่นควรถูกยุบ
ไทยจุดพักขนถ่ายยาเสพติด ‘พล.อ.ไพบูลย์’ เน้นทำลายแหล่งผลิตนอกประเทศ เปลี่ยนรูปเเบบเเก้ปัญหา ยอมรับที่ผ่านมายังไม่สำเร็จ ด้าน 'นพ.รัชตะ' ชี้ขึ้นทะเบียน 'ยาบ้า' ยาเสพติดให้โทษ 1 เพิ่มมูลค่าสินค้า ส่งผลระบาดหนัก
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2558 พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นประธานเปิดการประชุม เรื่อง "(เมท)แอมเฟตามีน : มุมมองด้านสาธารณสุขกับทางออกที่ดีกว่า" ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวถึงเมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.การตลาดและธุรกิจเมทแอมเฟตามีนที่มีความต้องการบริโภคสูง และสร้างผลกำไรมหาศาล อันเป็นแรงจูงใจให้ต่างประเทศได้เข้ามาลงทุนค้าขายในประเทศไทย
2.สินค้าเมทแอมเฟตามีนที่มีผลทำให้ร่างกายทำงานได้ยาวนานผิดปกติ หากบริโภคโดยขาดสติและการควบคุม ผู้บริโภคก็จะสามารถเสพติดได้ และทำให้เกิดค่าความนิยม (Goodwill) ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งมีต้นทุนการผลิตต่ำ แต่ขายได้ในราคาสูงจึงสร้างกำไรมาก ทำให้เกิดแรงจูงใจในการขายและเสพ
"ในอดีตเมทแอมเฟตามีนไม่ได้มีมูลค่า ตามกฎหมายเป็นเพียงวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท แต่เมื่อ พ.ศ.2539 มีการเปลี่ยนให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ก็เสมือนเป็นการเพิ่มมูลค่าขึ้นทันที ซึ่งสถานการณ์เช่นนั้นอาจทำให้ถูกย้ายสถานะ แต่วันนี้สภาพการณ์เปลี่ยนแปลงไป ท่าทีของต่างประเทศและหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องยาเสพติดในต่างประเทศมีมุมมองต่อเมทแอมเฟตามีนเปลี่ยนไป ดังนั้นถึงเวลาแล้วจะต้องทบทวนเรื่องดังกล่าวใหม่" รมว.สธ. ระบุ
ด้านพล.อ. ไพบูลย์ กล่าวถึงปัญหาการปราบปรามยาเสพติด โดยยอมรับว่า ประเทศไทยเป็นจุดพักการขนถ่ายยาเสพติด จึงควรเน้นไปที่การทำลายแหล่งผลิตนอกประเทศ ยกตัวอย่าง บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ และถึงเวลาแล้วที่จะเปลี่ยนรูปแบบการแก้ปัญหา ด้วยการอาศัยความรู้ความสามารถจากหลายหน่วยงาน โดยมีปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับกฎหมาย
ทั้งนี้ จากสภาวการณ์ดังกล่าว ได้ผลักดันให้เป็นวาระของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) แล้ว และหน่วยข่าวกรองจากสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับการปราบปรามยาเสพติดได้ชื่นชมว่า ยาเสพติดที่เข้ามาในประเทศไทยเริ่มชะงัก อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมการทำงานลักษณะนี้ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ตราบใดที่ชาวบ้านยังเสี่ยงต่อการติดยาเสพติดอยู่ ส่วนการแก้กฎหมายก็ใช่ว่าจะทำได้โดยง่าย
“ถ้าศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดล้มเหลวควรถูกยุบ เพราะคนกลุ่มดังกล่าวท้ายสุดจะต้องเข้าสู่ระบบฟื้นฟู แม้แต่ในเรืองจำก็ไม่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม ในจำนวนทั้งหมด 20 % จะเป็นคดีรายใหญ่ และอีก 80% เป็นเพียงกลุ่มคนผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับโทษหนักเช่นกัน” รมว.ยุติธรรม กล่าว และว่ากระบวนการยุติธรรมไทยยังตัดสินลงโทษตามกฎหมาย การเอาพฤติกรรมมาประกอบคำตัดสินนั้นยังน้อยมาก เพราะระบบการสืบเสาะยังไม่สมบูรณ์ กรณีเช่นนี้สร้างความไม่ยุติธรรมให้กับผู้หลงผิด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมทแอมเฟตามีน คือชื่อทางเคมีของ "ยาไอซ์" ซึ่งเป็นสารเสพติดกระตุ้นประสาทอยู่ในรูปผลึกใสเหมือนน้ำแข็ง ไม่มีสีถึงมีสีขาว ไม่มีกลิ่น ซึ่งมีความบริสุทธิ์สูงเกือบ 100% เป็นสารเคมีชนิดเดียวกันกับ "ยาบ้า" แอมเฟตามีน แต่ยาบ้ามีส่วนประกอบของเมทแอมเฟตามีนน้อยกว่าและอยู่ในรูปแบบเม็ด
ก่อนหน้านี้เมทแอมเฟตามีนเคยเป็นวัตถุออกกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)วัตถุออกกฤทธิ์ต่อจิตประสาท พ.ศ.2518 แต่ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกระทรวงฯ ฉบับที่ 135 พ.ศ.2539 กำหนดให้เป็นยาเสพติดประเภท 1 โทษสูงสุดถึงจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 .