นักวิจัยสังเคราะห์ EIA/EHIA มีปัญหา ชงเข้มกำกับมาตรฐานนิติบุคคลผู้จัดทำรายงาน
สกว.จัดเวทีถกระบบวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตั้งข้อสังเกต กอสส.ทำงานซ้ำซ้อนกับ คชก. ชงปรับปรุงกระบวนการพิจารณารายงาน สร้างกรอบมาตรฐาน กระชับ 'สมพร เพ็งค่ำ' เเนะปฏิรูปก้าวข้าม EIA/EHIA เบื้องต้นให้มอง IA ก่อน
วันที่ 7 กรกฎาคม 2558 ชุดความรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการปฏิรูปประเทศ และฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้ทรงคุณวุฒิต่อการจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ประเด็นระบบการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม) ครั้งที่ 1 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 15 สกว.
นางปาริชาต ศิวะรักษ์ นักวิจัยอิสระ เปิดเผยถึงสถานการณ์การปฏิรูประบบการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment:EIA) และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Health Impact Assessment:EHIA)ในปัจจุบันว่า ที่ผ่านมามีกลุ่มองค์กรหลายแห่งเสนอประเด็นดังกล่าวต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในประเด็นการปฏิรูปภายใต้การดำเนินงานของคณะอนุกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการ (กมธ.)ปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปช.
อย่างไรก็ตาม ในรายงานของ กมธ.ปฏิรูปฯ วาระปฏิรูปที่ 25 กลับไม่ปรากฏเรื่อง EIA และ EHIA แต่มีข้อเสนอให้ใช้กระบวนการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment:SEA) ในการตัดสินใจทุกระดับ ตั้งแต่ขั้นตอนกำหนดนโยบาย แผน และการพัฒนาระดับพื้นที่อย่างสอดคล้องกับศักยภาพในการรองรับพื้นที่ ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่า ประเด็นระบบการวิเคราะห์ทางสิ่งแวดล้อมไม่สำคัญถึงขั้นต้องบรรจุไว้ในวาระปฏิรูปครั้งนี้
นักวิจัย ยังกล่าวถึงข้อเสนอแนะและทางเลือกการปฏิรูประบบ EIA และEHIA มาจากหลายภาคส่วน ได้แก่ เครือข่ายนักวิชาการปฏิรูป คณะอนุกรรมการปฏิรูประบบการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สปช. มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ร่วมกับ 15 องค์กร เป็นต้น ซึ่งเมื่อวิเคราะห์แล้วพบว่า ภาพรวมจำแนกได้ 2 แนวทาง คือ
1.แนวทางปรับปรุง เน้นการยกระดับคุณภาพมาตรฐาน ปรับปรุงขั้นตอน กระบวนการต่าง ๆ ของระบบเดิม แนวทางนี้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมกำกับมาตรฐานนิติบุคคลผู้จัดทำรายงาน EIA และ EHIA การเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรหลักของระบบดังกล่าว
2.แนวทางปรับเปลี่ยน เน้นการปรับโครงสร้างอำนาจ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ มีการออกแบบการทำงานของระบบใหม่ที่ชัดเจน โดยเครือข่ายนักวิชาการปฏิรูป EIA และ EHIA
“ทั้งสองแนวทางให้ความสำคัญและมีแนวคิดไม่แตกต่างกันมากนัก เรื่องการพัฒนาระบบการติดตามตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติตามมาตรการลดและตรวจสอบผลกระทบที่กำหนดไว้ในรายงาน EIA และ EHIA โดยเพิ่มบทบาท อำนาจหน้าที่ และประสิทธิภาพ หน่วยงานรับผิดชอบ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และชุมชนในพื้นที่” นางปาริชาต กล่าว
สำหรับข้อเสนอแนะการปฏิรูปนั้น นักวิจัยยกตัวอย่างกรณีความอิสระทางวิชาการของนิติบุคคลผู้จัดทำรายงาน EIA และEHIA ควรปรับปรุงระบบการอนุญาตและควบคุมผู้มีสิทธิจัดทำรายงานให้เข้มงวดมากขึ้น และมีข้อเสนอให้สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทในการควบคุมมาตรฐานผู้จัดทำรายงาน โดยเฉพาะด้านใบประกอบอาชีพ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที
อย่างไรก็ตาม ไม่ควรให้หน่วยงานใดมีอำนาจหน้าที่แบบรวมศูนย์ในการกำกับควบคุม แต่ควรให้สภาวิชาชีพฯ ควบคุมมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพ ขณะที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) หรือสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ยังควบคุมใบอนุญาตนิติบุคคลฯ
นอกจากนี้กระบวนการพิจารณารายงาน EIA และEHIA ควรปรับปรุงขั้นตอนและสร้างกรอบการพิจารณารายงานให้ได้มาตรฐานและกระชับมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้าของกระบวนการ และกำหนดเวลาในการแก้ไขรายงานที่ คชก.ไม่เห็นชอบด้วย ทั้งนี้ ขั้นตอนและกรอบการพิจารณารายงานที่ปรับปรุงหรือสร้างขึ้นต้องไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อคุณภาพมาตรฐานการพิจารณา พร้อมปรับเปลี่ยนให้ คชก. ลงพื้นที่ก่อนการประชุมพิจารณารายงาน และให้ชุมชนชี้แจงข้อมูลโดยตรง เพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันดำเนินการในบางโครงการเท่านั้น และไม่สามารถลงพื้นที่ได้ทั้งคณะ ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา
นางปาริชาต ยังตั้งข้อสังเกตเรื่องสำนักงานคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) ว่า การเสนอให้ คชก.มีผู้แทนครอบคลุม รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ แต่ทั้งสองแนวทางไม่มีข้อเสนอเกี่ยวกับบทบาทอำนาจหน้าที่และการดำเนินงานของ กอสส. และกำหนดให้ความเห็นประกอบหลัง คชก. พิจารณารายงานมีผลลบต่อประสิทธิผลและประสิทธิภาพของระบบ ขัดกับแนวทางบูรณาการของระบบ EIA และEHIA ฉะนั้น คชก.ควรมีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพในการพิจารณารายงานด้วย
“กอสส.พิจารณาและให้ความเห็นจากความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของผู้ทรงคุณวุฒิ ทำให้องค์กรนี้ทำงานซ้ำซ้อนกับ คชก. ดังนั้นจะเกิดประโยชน์มากกว่าถ้าองค์กรนี้จะทำหน้าที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของชุมชน และให้ความเห็นต่อรายงาน EIA และEHIA จากมุมมอง” นักวิจัย กล่าว และว่า ให้มีภารกิจสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนในทุกขั้นตอน ซึ่งอาจรวมถึงการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการลดและแก้ไขผลกระทบด้วย ซึ่งหากใช้แนวทางนี้ กอสส.จะไม่ใช่องค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 บัญญัติไว้
ด้านน.ส.สมพร เพ็งค่ำ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ตามหลักการวิชาการยืนยันการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมือที่ดี แต่มีการออกแบบระบบไม่โปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วม ตรวจสอบยาก จนนำมาสู่ความขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม ต้องก้าวข้ามเรื่อง EIA และEHIA ก่อน และมองเฉพาะการประเมินผลกระทบ (Impact Assessment:IA) โดยเป็นกระบวนการแสวงหาข้อมูลหลักฐานประกอบการตัดสินใจระดับนโยบาย โครงการ หรือกิจกรรม
ทั้งนี้ ข้อเสนอให้การปฏิรูปต้องระบุถึงระบบ IA และพัฒนาบุคลากรให้มีขีดความสามารถ และสนับสนุนให้เกิดกองทุน เพื่อลดข้อห่วงใยการจ้างตรง แต่ต้องจัดการอย่างไรให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้นด้วย .