นักวิชาการชี้ภัยเเล้งทำถนนทรุด เหตุระดับน้ำลดเร็ว-แรงสั่นสะเทือนรถบรรทุก
ภัยเเล้งทำถนนทรุดหลายจุด นักวิจัย สกว.ชี้เกิดจากการวิบัติของลาดดิน 'รศ.มนตรี ชูวงษ์' ยันสูบน้ำบาดาลไม่ใช้สาเหตุ ไม่เกี่ยวถนนไร้มาตรฐาน เบื้องต้นเเนะเเต่ละฝ่ายเฝ้าระวัง
กรณีเกิดปรากฏการณ์ถนนทรุดตัวลงบนถนน เส้นทางสาย หนองแค-หนองเสือ มุ่งสู่ รังสิต ปทุมธานี ช่วง หลัก กม.ที่ 16-17 อ.หนองแค จ.สระบุรี ความลึกประมาณ 4-5 เมตร เป็นทางยาวกว่า 300 เมตร หลังจากระดับน้ำในคลองระพีพัฒน์ลดลงอย่างต่อเนื่อง เเละเกิดกรณีเดียวกันบริเวณมัสยิดนูรุลฮิดายะห์ ถนนเส้นทางลาดบัวหลวง-ไม้ตรา เลียบคลองพระยาบันลือ อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ความลึกประมาณ 2 เมตร เป็นทางยาวกว่า 60 เมตร
ศ. ดร.อมร พิมานมาศ นักวิจัยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในฐานะรองเลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวถึงสาเหตุที่ถนนทรุดตัวมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดจากการวิบัติของลาดดิน สังเกตได้ว่า จากการวิบัติเกิดขึ้นในดินใต้ถนน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับถนนที่ก่อสร้างขนานตามคลองหรือลำน้ำ หากมีการลดระดับของน้ำอย่างรวดเร็วหรือที่เรียกว่า Rapid DrawDown จะมีผลต่อการเปลี่ยนสภาพแรงดันน้ำในดินสูงขึ้น ดินมีกำลังที่ลดลง ทำให้น้ำใต้ดินพยายามดันตัวลงตาม แล้วทำให้เกิดการวิบัติของลาดดินอย่างฉับพลัน โดยดินจะไถลเลื่อนตัวลงเข้าสู่ทิศทางของคลองหรือลำน้ำ ทำให้เกิดการวิบัติของพื้นถนน
ด้าน รศ.ดร.มนตรี ชูวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการทรุดตัวบริเวณพื้นที่ริมน้ำโดยธรรมชาติเกิดขึ้นเป็นประจำและปกติอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้รับการนำเสนอผ่านสื่อเท่านั้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมาก็มีท่าทีว่าจะทวีความรุนแรงขึ้น อันเกี่ยวเนื่องกับภาพกว้างของปรากฏการณ์เอลนีโญที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย
"ถนนคงเป็นไปตามมาตรฐานการก่อสร้าง เพียงแต่อาจได้รับผลกระทบจากสาเหตุน้ำแล้งอย่างรวดเร็ว สังเกตได้ว่า การทรุดตัวนั้นเกิดขึ้นเฉพาะจุด ถ้าถนนไม่ดีอาจเกิดการทรุดตัวตลอดทั้งเส้นก็ได้" นักวิชาการ จุฬาฯ กล่าว พร้อมยืนยันว่า การสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ไม่ใช่สาเหตุ เนื่องจากน้ำบาดาลอยู่ในระดับที่ลึกและต่ำกว่าระดับน้ำในแม่น้ำ
รศ.ดร.มนตรี กล่าวอีกว่า ปัจจัยสำคัญในการทรุดตัวของถนน คือ น้ำกับดิน เมื่อน้ำแล้งและดินโดนแรงสั่นสะเทือนมากก็จะเกิดจากกรุดตัว อาทิ กรณี จ.อยุธยา หรือจ.อ่างทอง มักมีการสัญจรของรถบรรทุกเป็นจำนวนมาก ซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือน จนส่งผลต่อพื้นที่เสี่ยงได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีรถบรรทุกสัญจรบริเวณดังกล่าวเลย
ทั้งนี้ จุดที่น่ากังวล คือ แม่น้ำและลำคลองทุกสายที่มีระดับน้ำลดลงผิดปกติ และมีชุมชนหรือสิ่งก่อสร้างตั้งอยู่ใกล้ริมตลิ่ง ฉะนั้นการแก้ปัญหาระยะสั้น แต่ละพื้นที่ควรเร่งออกสำรวจและเฝ้าระวังการทรุดตัวบริเวณแนวถนนริมน้ำ ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวต้องปรับโครงสร้างใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับระบบน้ำทั้งหมด ดังเช่น การสร้างเขื่อนกั้นตลิ่ง การสร้างกำแพงให้มั่นคง เป็นต้น
“สภาพทางธรณีวิทยาแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน หากเราไปเลียนแบบวิธีการของต่างประเทศทั้งหมดอาจก่อประสิทธิภาพไม่ดีเท่าที่ควร เพราะฉะนั้นเราต้องรู้จักพื้นที่ของเราให้ดีเสียก่อน” นักวิชาการจุฬาฯ ระบุ
ภาพประกอบ:www.tnamcot.com