สปช.ดึงสกว.ร่วมแก้ปัญหากรุงเทพฯจม หนุนเก็บภาษีเมือง
นักวิจัย สกว. ชี้สถานการณ์ภัยแล้ง สร้างเขื่อนขนาดใหญ่ไม่ได้ก็ต้องสร้างแหล่งเก็บกักน้ำขนาดเล็ก ปรับปรุงระบบเก็บกักน้ำ จัดทำบัญชีคูคลอง บึงในแต่ละพื้นที่ ขุดลอกคูคลองเพื่อกลับมาใช้ประโยชน์ อย่าหวังใช้น้ำเขื่อนเพียงทางเดียว
รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ นักวิจัย สกว.จากหน่วยปฏิบัติการวิจัยระบบการจัดการแหล่งน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงปัญหากรุงเทพฯ จม ว่า มีการประเมินในสองประเด็น ได้แก่ การศึกษาการทรุดตัวของดินปีละ 2-4 ซม.ต่อปี รวมถึงการขึ้นสูงของระดับน้ำทะเล 0.8-1.2 เมตรใน 100 ปีข้างหน้า ซึ่งได้มีข้อเสนอจากผู้เชี่ยวชาญ ทั้งให้ย้ายเมืองหลวงหรือเตรียมการป้องกันคันป้องกันแนวชายฝั่ง ฯลฯ
"เกี่ยวกับประเด็นนี้ทาง สปช.ได้ตั้งคณะกรรมการฯ ศึกษาหาข้อเท็จจริงและทบทวนเรื่องการทรุดตัวของกรุงเทพฯ ซึ่งหลังจากมีมาตรการอนุรักษ์น้ำบาดาลทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเหลือการทรุดตัวปีละ 1-2 ซม. และมีแนวโน้มลดลงในพื้นที่ส่วนใหญ่"นักวิจัย สกว. กล่าว และว่า ส่วนการขึ้นของน้ำทะเล UNFCC มีการศึกษาและปรับปรุงความถูกต้องในการประมาณการณ์มาตลอด โดย ณ ปัจจุบัน ประมาณว่าน้ำทะเลในแถบเอเซียตะวันอกเฉียงใต้มีแนวโน้มเพิ่มในเงื่อนไขสูงสุดประมาณ 80 ซม. ใน 100 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตามการประมาณการนี้ยังมีการปรับปรุงความไม่แน่นอน จึงยังมีความเสี่ยงในเรื่องนี้อยู่ แต่ในอนาคตรัฐบาลควรเตรียมมาตรการรองรับความเสี่ยงดังกล่าวถ้าเกิดขึ้น สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การเติบโตของเมืองและไม่สามารถสร้างระบบประปารองรับได้ในอนาคต ซึ่งต้องกลับไปใช้น้ำบาล และอาจเกิดปัญหาแผ่นดินทรุดดังที่เคยเกิดในอดีต
รศ. ดร.สุจริต กล่าวถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯ อยู่ที่ประมาณ 2.4 เมตร แต่คันกั้นน้ำสูง 2.5 เมตร หลังจากนั้นได้ปรับปรุงให้สูงขึ้นเป็น 3 เมตร ดังนั้นถ้าน้ำทะเลขึ้นสูงเกิน 50 ซม. กรุงเทพฯ จะจมแน่นอน โดยการแก้ปัญหาในระดับโลกต้องรอการศึกษาวิจัยจาก UNFCC อีกส่วนคือหน่วยงานในประเทศไทย ซึ่งคณะกรรมการของ สปช.เสนอแนะให้รัฐบาลมอบหมายให้กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ทำการติดตามและศึกษาเพิ่มเติม โดยต้องกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบในเรื่องต่าง ๆ อาทิ ผังเมือง น้ำดิบ ประปา การทรุดตัว ชายฝั่ง ระดับน้ำทะเลฯลฯ ให้ชัดเจน และมีกลไกทำงานข้ามกระทรวงเพราะเกี่ยวข้องกันทั้งระบบ รวมถึงตั้งเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์กรุงเทพฯจม เพื่อติดตามและวางมาตรการรับความเสี่ยงดังกล่าว พร้อมกับพัฒนาเครื่องมือในการบริหารรองรับล่วงหน้า เช่น ภาษีเมือง เพื่อให้รองรับต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ ขณะเดียวกันองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นได้แสดงความคิดเห็นว่ายังขาดข้อมูลและความรู้ จึงต้องมีกลไกประมวลความรู้และถ่ายทอดให้ประชาชนเข้าใจ ให้สามารถติดตามและเตรียมมาตรการที่จำเป็นได้
สำหรับแนวโน้มการศึกษากำหนดมาตราการต่าง ๆ เหล่านี้ คณะกรรมการใน สปช.มีแนวคิดเสนอให้ตั้งสถาบันยุทธศาสตร์เพื่อบูรณการยุทธคาสตร์และมาตรากรต่าง ๆ ที่เป็นประเด็นความเสี่ยงในอนาคต เพราะรัฐบาลส่วนใหญ่จะใช้เวลาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จึงต้องมีแผนระยะยาว 20 ปีล่วงหน้า ช่วยให้รัฐบาลสามารถดึงไปใช้ได้
ส่วนการแก้ปัญหาแบบข้ามกระทรวงควรมีสำนักยุทธศาสตร์ที่สำนักนายกรัฐมนตรี บูรณาการแผนงานที่มาจากกรรมการแห่งชาติทั้งหลาย เพื่อรวบรวมวิเคราะห์เชิงนโยบายก่อนเข้าที่ประชุม ครม. หรือสภา และมีแนวโน้มว่าบางเรื่องที่เป็นเรื่องระยะยาวจะมอบให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปไปทำงานต่อเนื่องหลังรัฐบาลชุดนี้หมดวาระ ซึ่งในบางประเด็นอาจมอบหมายให้หน่วยงานให้ทุน เช่น สกว. ไปดำเนินการศึกษาวิจัยแบบต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลกำหนดยุทธศาสตร์ต่อไป
ขณะที่สถานการณ์น้ำแล้งปีนี้ เกิดประเด็นถกเถียงว่าปี 2554 ปล่อยน้ำมากเกินไปหรือไม่ หรือการบริหารจัดการน้ำผิดพลาด รศ. ดร.สุจริต กล่าวว่า นโยบายขณะนั้นพยายามกำหนดมาตรการไม่ให้เกิดน้ำท่วมใหญ่โดยปรับปรุงการบริหารเขื่อนให้มีน้ำอยู่ร้อยละ 45 ในเดือนพฤษภาคมโดยใช้เกณฑ์ประมาณน้ำปีเฉลี่ย และมีการปล่อยน้ำในฤดูฝนปี 2555 จำนวน 1.4 พันล้านลูกบาศก์เมตร จากความต้องการจริงมาประมาณ 1 พันล้านลูกบาศก์เมตร แต่จากข้อมูลปริมาณน้ำเดือนพฤษภาคมในปี 2557-2558 พบว่า มีระดับน้ำในเขื่อนหลักทั้งเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์มีเหลืออยู่ประมาณร้อยละ 30 ของปริมาณเขื่อน เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ตกจริงต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และมีการใช้น้ำในข้าวนาปรังมากเกินเกณฑ์ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ระดับน้ำในเขื่อนต่ำกว่าเกณฑ์ (ร้อยละ 45) ในเดือนพฤษภาคมมาทุกปี
"ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมากรมชลประทานคาดการณ์ว่าฝนจะตก จึงปล่อยน้ำให้ทำนาไปประมาณ 1 พันล้านลูกบาศก์เมตรตามเกณฑ์ปรกติ แต่มาถึงกลางเดือนฝนไม่ตก จนวันที่ 22 พฤษภาคม กรมอุตุนิยมประกาศฝนตก ชาวนาจึงเรียกร้องให้ปล่อยน้ำเพื่อทำนา ปรากฏว่า ปีนี้ฝนล่าจนถึงเดือนมิถุนายนฝนก็ยังไม่ตกอีก ขณะที่มีเสียงเรียกร้องจากชาวนาตลอดเพราะต้องการปลูกข้าว แต่เนื่องจากปริมาณน้ำเหลือใช้แค่ 1 เดือน กรมชลประทานจึงไม่สามารถปล่อยน้ำได้ เพราะจะทำให้ไม่มีน้ำประปาใช้ โดยคาดการณ์มีน้ำใช้ถึงต้นเดือนสิงหาคมเท่านั้น ทำให้ปริมาณน้ำต่ำมาตลอดเกิดเป็นความเสี่ยงสะสมจนกลายเป็นวิกฤตการณ์ภัยแล้งในปัจจุบัน และกรมชลประทานคาดว่าปีนี้ฝนจะตกอีกประมาณ 2 เดือน (สิงหาคม-กันยายน) ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 10 จำเป็นต้องมีมาตรการประหยัดน้ำและกำหนดพื้นที่ปลูกข้าวและชนิดข้าวที่ปลูกให้เหมาะสมกับน้ำที่มี เพื่อให้รักษาปริมาณน้ำในเขื่อนหลักให้มีเหลือใช้ถึงเดือนพฤษภาคมปีหน้า"
รศ.ดร.สุจริต กล่าวถึงสภาพน้ำในทุ่งเจ้าพระยามีปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะปริมาณน้ำใช้การของเขื่อนที่มีอยู่ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำ เหลือน้ำส่วนต่างไม่มาก จึงมีความยากและเสี่ยงในการบริหารจัดการ ทั้งด้านน้ำท่วมและน้ำแล้ง ดังนั้นถ้าสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ไม่ได้ก็ต้องสร้างแหล่งเก็บกักน้ำขนาดเล็ก รวมทั้งการปรับปรุงระบบเก็บกักน้ำ จัดทำบัญชีคูคลองและบึงในแต่ละพื้นที่ ขุดลอกคูคลองเพื่อกลับมาใช้ประโยชน์ ไม่หวังใช้น้ำเขื่อนเพียงทางเดียวโดยเฉพาะในหน้าแล้ง และต้องจัดลำดับความสำคัญในการใช้น้ำ สร้างระบบชดเชยและสร้างอาชีพทดแทน เพื่อให้ปัญหานี้ปรับตัวเป็นระบบบริหารแบบยืดหยุ่นในระยะยาวให้เหมาะสมทั้งด้านจัดหา ด้านใช้น้ำ และเกณฑ์การปล่อยน้ำตามภาวะน้ำ ซึ่งจะต้องมีการศึกษาวิจัยโดยเฉพาะด้านเครื่องมือบริหาร การประมาณการฝนและน้ำให้ได้ในระยะยาว ส่วนการแก้ปัญหาในระยะสั้นคือ การบริหารการปลูกข้าวนาปรังและการส่งเสริมอาชีพ
“ปัจจุบันคาดการณ์ว่านาข้าวอาจเสียหายกว่าแปดแสนไร่ ต้องดึงน้ำบ่อตื้นมาใช้เพื่อยังชีพ อีกทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหาได้คือ ส่งเสริมอาชีพและชดเชยรายได้ที่เสียไป ที่สำคัญเกษตรกรต้องเลือกปลูกพืชให้เหมาะสมกับการตลาด ต้องพึ่งพาตัวเอง ใช้ข้อมูลและความรู้จัดการตัวเองมากขึ้น” รศ. ดร.สุจริตกล่าวสรุป