“สื่อรวมพล” เผยยุค“โซเชียล”อยู่ยาก เสี่ยงดุลอำนาจสื่อไทยตกในมือต่างชาติ
นักวิชาชีพสื่อรวมพลเสวนา ถกปัญหาความท้าทายยุคโซเชียลเน็ตเวิร์ก ชี้ต้องปรับตัวให้ถูกทาง เสี่ยงดุลอำนาจสื่อไทยไปอยู่ในมือต่างชาติ เสรีภาพถูกลิดรอน หลังรัฐเพิ่มกฎหมายควบคุม
วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2558 สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จัดงาน "กฎหมายใหม่พลิกโฉมสื่อไทย" เนื่องในโอกาสครบรอบ 18 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ภายในงานมีการสนทนากลุ่มเรื่อง "ความอยู่รอดและความท้าทายของสื่อไทย" ภายหลังเกิดการพัฒนาของเทคโนโลยี ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนจากการบริโภคสื่อดั้งเดิมเป็นออนไลน์ จนสร้างผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
นายศุภกรณ์ เวชชาชีวะ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท โพสต์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการปรับตัวของหนังสือพิมพ์ว่า สื่อหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยรวมถึงทั่วโลกกำลังเดินหน้าในทิศทางที่ผิดอย่างมหันต์ ถ้านำข่าวในหนังสือพิมพ์ที่ถูกตีพิมพ์มาใช้ในช่องทางอินเตอร์เน็ต แม้ผู้อ่านจะสามารถเข้าถึงข่าวออนไลน์มากขึ้น เพราะเป็นสื่อที่บริโภคได้ฟรี และในส่วนของนักลงทุนโฆษณาก็ไม่ได้ให้คุณค่าผู้อ่านทางอินเตอร์เน็ตเท่ากับผู้อ่านทางหนังสือพิมพ์ นั่นทำให้เกิดการเสียรายได้และผู้อ่านของหนังสือพิมพ์ถึง 40 %
แนวทางแก้ไขจึงต้องหันมาผลิตข่าวออนไลน์ให้ดีและแตกต่างจากสิ่งที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ เพราะผู้บริโภคในแต่ละช่องทางก็มีลักษณะที่แตกต่างกัน ตลาดออนไลน์นั้นถือได้ว่าเป็นตลาดใหม่ที่ต้องขายโฆษณาและทำการตลาดให้ได้มากขึ้น แต่ท้ายสุดสิ่งต่าง ๆ จะประสบความสำเร็จได้จะต้องอาศัยประสิทธิภาพของเนื้อหาข่าวด้วยเช่นกัน
ด้านสื่อออนไลน์อย่าง นายวริษฐ์ ลิ้มทองกุล ผู้อำนวยการเว็บไซต์ เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ กล่าวถึงยุคของสื่อในปัจจุบันว่า เป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ถึงความเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในอนาคตได้ เพราะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว อาทิ กรณีการมี 3G ที่ทำให้ เฟซบุ๊ค กับไลน์ มีคนใช้ถึง 30 ล้าน นับได้ว่ากลายมาเป็นอีกช่องทางหนึ่งของสื่อมวลชน (Mass Media) และเมื่ออนาคตที่จะมี 4G อาจทำให้ทีวีดิจิตอลพบอุปสรรคสำคัญ เนื่องจากผู้บริโภคจะบริโภคสื่อทางจอโทรทัศน์น้อยลง การประเมินเรตติ้งก็มีผลน้อยลงด้วย
ไม่เท่ากับการเข้าถึงช่องทางออนไลน์ที่สามารถระบุลักษณะและรายละเอียดของผู้รับชมได้อย่างลึกซึ้ง อำนาจในการเสพสื่อของผู้คนก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวสื่อหรือผู้ลงโฆษณาอีกต่อไป แต่อยู่กับผู้บริโภคแทนแล้วจึงคิดหาวิธีเพิ่มรายได้จากผู้บริโภคอีกทีซึ่งทำได้ยากมาก เพราะผู้เสพสื่อยากจะเต็มใจที่จ่ายข้อมูลที่ตัวเองบริโภค
“สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ดุลอำนาจของสื่อไทยในอนาคต จะตกไปอยู่ในมือของต่างชาติที่เป็นเจ้าของสื่อออนไลน์และมีอำนาจยินยอมให้สื่อไทยเผยแพร่ เปรียบเป็นการยืมจมูกคนอื่นหายใจ และอย่างสุดท้ายคือตำรานิเทศศาสตร์ที่ล้าหลังไปเสียแล้ว”
ขณะที่ นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันค้นพบกฎหมายหลายฉบับที่ทำให้สื่อทำงานได้ยากและถูกจำกัดมากขึ้น หลังจากมีการเกิดขึ้นของสื่อสังคมออนไลน์ เพราะมีพลังที่เชื่อมโยงโลกทั้งโลกไว้ด้วยกัน นั่นทำให้นิยามคำว่าสื่อถูกพัฒนาขึ้นมาก ไม่ใช่แต่เฉพาะผู้ประกอบอาชีพทางด้านนี้ แต่รวมถึงผู้ใดก็ได้ที่มีอิทธิพลทางสังคมอันเป็นสิ่งที่รัฐบาลกลัวและคำนึงถึงภาพจน์ จึงพยายามออกกฎหมายมาจำกัดสิทธิสื่อมวลชน และสื่อที่ประชาชนถือครองให้ได้มากที่สุด อาทิ การมี ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความมั่นคงไซเบอร์ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อันเป็นความลำบากต่อหน้าที่สื่อที่จะเจาะลึกนำความจริงมาเผยแพร่ต่อประชาชน
นายสมนึก กยาวัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการ หนังสือพิมพ์ตงฮั้ว ระบุว่า การตั้งองค์กรขึ้นมาองค์กรหนึ่งมาดูแลสื่อเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงและควรพิจารณาให้ดี หนังสือพิมพ์ตงฮั้วเคยถูกคำสั่งปิดมาแล้วสองครั้ง เคยถูกยัดเยียดข้อหาคอมมิวนิสต์ทั้งครอบครัว อันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนทำสื่อในยุคอำนาจเผด็จการ ต่างจากปัจจุบันที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้ช่วยกันกำกับดูแลสื่อมวลชนด้วยกันเอง แต่สิ่งที่สามารถจะดูแลสื่อได้ดีมากที่สุดคือผู้บริโภคสื่อ ถ้าเนื้อหาไร้ประสิทธิภาพก็จะไร้ซึ่งผู้อ่านตามมา และยังมีกฎหมายอาญาที่กำกับลงโทษควบคุมกันไป
“ทุกวันนี้คนทำอาชีพสื่ออย่างเรามีความรับผิดชอบสูง เราดูแลกันเองได้ แล้วด้วยประชาชนนี่แหละ เจ้าของอำนาจรัฐธรรมนูญ เจ้าของอำนาจประเทศ จะเป็นคนดูแลสื่ออีกขั้นหนึ่ง” นายสมนึก กล่าว .