'สุขุมพันธุ์' ตั้งเป้าพัฒนาร.ร.สังกัดกทม.ผ่านมาตรฐานสมศ. 100%
ผู้ว่าฯกทม.ตั้งเป้าพัฒนาทุกโรงเรียนให้ได้มาตรฐาน 100% ย้ำดำเนินนโยบายด้านการศึกษาอย่างเต็มที่ เร่งพัฒนาองค์ความรู้ทั้งภายในและภายนอกเพื่อรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ด้านผอ.สมศ.แนะต้องไม่หยุดพัฒนาและต้องแก้ปัญหาโรงเรียนที่ตกประเมินด้วย
3 กรกฎาคม 2558 สำนักรับรองมาตรฐานและประเมิณคุณภาพการศึกษา(องค์กรมหาชน)หรือ สมศ. ร่วมกับกรุงเทพมหานคร จัดเสวนายกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพฯสู่ "กรุงเทพมหานครแห่งโอกาสทางการศึกษา"ผ่านโครงการ "การจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการส่งเสริมการศึกษาสังกัดกรุงเทพมหานคร" ณ ห้องคอนเวนชั่น ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเปิดงานว่า ทางคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครมีความมุ่งมั่นที่จะจัดทำการศึกษาในสังกัดกทม.ให้มีความทันสมัย มีความเจริญก้าวหน้าในทุกทาง โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กและเยาวชน ให้มีความทัดเทียมกับมหานครอื่นทั่วโลก โดยได้กำหนดนโยบายทางด้านการศึกษาไว้คือ นโยบายนครแห่งการเรียนรู้ และมหานครแห่งโอกาสของทุกคนมุ่งเน้นให้นักเรียนในกทม. มีความ "อิ่มท้อง สมองดี มีวินัย ปลอดภัย โตไปไม่โกง" และได้สนับสนุนนโยบายเรียนฟรี เรียนดี เรียนอย่างมีคุณภาพ ควบคู่กับการดูแลความปลอดภัยให้แก่นักเรียน
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้ทั้งในและนอกห้องเรียนเพื่อสร้างพื้นฐานการเรียนรู้ที่ดี และพื้นฐานต่อสภาวะการณ์ที่เปลี่ยนไปของโลกเพื่อมุ่งมั่นพัฒนาทักษะทางด้านภาษาอังกฤษ ต่อบุคคลากรและนักเรียนในสังกัดให้ได้มาตรฐาน เพื่อสามารถใช้สื่อสารได้รองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
สำหรับโครงการนี้ดำเนินการภายใต้โครงการประเมิณคุณภาพ ตรวจสอบพื้นที่เพื่อศึกษาสภาพการศึกษาของสถานศึกษาในสังกัดกทม. จากผลการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ.เพื่อนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์และนำไปพัฒนาการศึกษาให้แก่เด็กในโรงเรียนในสังกัด กทม. และสะสมข้อมูลดังกล่าวให้กับหน่วยงานในสังกัดอื่น เพื่อใช้เป็นสารสนเทศที่สำคัญเพื่อตัดสินใจ วางแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาของกทม. รวมทั้งเป็นต้นแบบบริหารระบบคุณภาพที่ดีเพื่อก้าวสู่ความเป็นเลิศต่อไป
ผู้ว่าราชการ กทม. กล่าวอีกว่า จากผลการประเมินคุณภาพในครั้งที่ 3 ที่ผ่านมาถึงจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดีพัฒนามากกว่าครั้งก่อนๆ แต่ก็ยังไม่สบายใจจนกว่าจะได้ 100 %เพราะเป็นการเดิมพันด้วยอนาคตของเด็กและเยาวชนทุกคน และจากการประเมินในส่วนของสถานศึกษาที่ไม่เป็นที่น่าพอใจนั้น คิดว่าเป็นเพราะสภาพแวดล้อมต่างๆ ดังนั้นมองว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวนโยบายเพราะมีการส่งเสริมเรื่องนี้อยู่ และจะดำเนินต่อไปเพื่อให้ทุกโรงเรียนได้มาตรฐาน
ด้านดร.ผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า มีความปรารถนาให้ 438 โรงเรียนใน กทม.เดินหน้าไปได้อย่างมีคุณภาพเพราะในท้ายที่สุดการศึกษามีประโยชน์ ถ้าไม่มีเงินแต่มีความรู้ยังสามารถใช้ชีวิตได้ วันนี้กทม.กำลังเคลื่อนเข้าไปสู่ความสามารถในเรื่องของทักษะและการพัฒนาชีวิตของตัวเอง อีกทั้งเรื่องของเทคโนโลยีจะพยายามดำเนินไปให้ได้ทั้ง 438 โรงเรียนเพราะเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีจะช่วยให้เด็กและเยวชนมีการเรียนรู้ที่ดีได้ ทุกๆอย่างที่ทาง กทม.ทำเพื่อให้เด็กได้รับประโยชน์สูงสุด อยากให้เด็กมีทักษะชีวิตในการที่จะดูแลตัวเอง ก้าวให้ทันรู้ให้เท่าเพื่อที่จะสามารถประคับประคองชีวิต ฝ่าวิกฤตที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยตัวของตัวเอง
ขณะที่ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการ สมศ. กล่าวถึงผลวิเคราะห์การประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 3 สถานศึกษาในสังกัดกรุงเทพมหานครที่ผ่านมา พบว่าโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากจำนวนทั้งหมด 438 แห่ง โดยมีการประเมิณคุณภาพภายนอกในระดับดี-ดีมาก คิดเป็นร้อยละ 89.27 และจากภาพรวมย้อนหลังไปทั้งหมด โรงเรียนที่มีคุณภาพระดับคงที่มีทั้งหมด 13 แห่งจึงอยากให้เป็นตัวอย่างให้กับโรงเรียนอื่นๆ กลุ่มที่ได้ผลการประเมิณดีคงที่ทั้ง 3 รอบคือ 317 แห่ง กลุ่มที่ไม่ได้รับรองการประเมิณคงที่มีอยู่ 1 แห่งและประเภทที่ดีขึ้นจากรอบแรกพอใช้-ดีมี 5 แห่ง ไม่รับรอง-รับรองมีอยู่ 17 แห่ง ดี-พอใช้มีอยู่ 4 แห่งและจากดีมาก-ดี 117 แห่ง
ผู้อำนวยการสมศ. กล่าวด้วยว่า โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพฯ มีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาต่อไปด้วยการกำหนดนโยบายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่องและควรมีกลไกรักษาความมีคุณภาพตามมาตรฐานการประเมิณคุณภาพไว้ และจะมีการดำเนินการแก้ไขโรงเรียนที่ไม่ผ่านการประเมิณคุณภาพว่ามาจากสาเหตุอะไร เพื่อให้ผ่านการประเมิณไปให้ได้และหวังว่าการประเมิณในรอบต่อไปโรงเรียนจะให้ความสำคัญในการประเมิณคุณภาพด้วย
ส่วนนายอรรถพร สุวัธนเดชา รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาผ่านกระบวนการประเมิณคุณภาพภายนอกของ สมศ. ว่า ทาง สมศ.เป็นเหมือนกระจกเงาที่คอยสะท้อนคุณภาพของสถานศึกษาทุกๆ ระยะเวลาทั้ง 3-4 ปี และมีความห่วงใยต่อโรงเรียนที่ต้องปรับปรุงแก้ไข และเชื่อว่าจะอยู่ในสายตาของผู้ว่ากรุงเทพฯ ในเรื่องของการคัดเลือกของผู้บริหารการศึกษามองว่า เป็นบุคลากรที่สำคัญที่สุดที่ทำให้โรงเรียนมีคุณภาพและเป็นผู้บริหารที่จะดูแลโรงเรียนทั้งหมด มีการคัดเลือกผู้บริหารด้วยความเข้มงวด ต้องการผู้บริหารที่พร้อมไปด้วยความเมตตา มีความรู้ และพร้อมที่จะบริหารสถานศึกษาไปสู่สถานศึกษาที่ดีและถูกต้อง
นอกจากนี้นางสาวฐานิตา แพร่วานิชย์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เมื่อนโยบายการศึกษาออกมาแล้วสิ่งที่เราต้องมีคือการคุยร่วมกันในเรื่องเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน อีกทั้งเกณฑ์ในการประเมิณของ สมศ.เป็นตัวชี้วัดในเรื่องการพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียนที่อาจจะมีบางจุดที่มองข้ามไป ทางสำนักการศึกษาถือว่าเด็กและเยาวชนจะขับเคลื่อนไปทางไหนขึ้นอยู่กับ ผอ.และคุณครูทุกคน และทางสำนักการศึกษาเองพร้อมจะขับเคลื่อนด้านของวิชาการให้เติมเต็มในสิ่งที่สถาบันนั้นขาดไป