ชาวประมงหยุดเดินเรือ ‘แรงงานข้ามชาติ’ อ่วมสุด-รัฐขยายขึ้นทะเบียนถึง 31 ก.ค.
ชาวประมงไร้ทางเลือกหยุดเดินเรือหวั่นถูกจับ หลังรัฐบาลปัดขยายเวลาหาทางออกร่วมกัน เร่งบังคับใช้ กม.แก้ปัญหา IUU นายก ส.ผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เผยธุรกิจอาหารสัตว์ไม่รับผลกระทบ ด้าน ก.เกษตรฯ ขยายเวลาขึ้นทะเบียนเรือถึง 31 ก.ค.58
วันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประมง พ.ศ.2558 แก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ภายหลังรัฐบาลไม่รับข้อเสนอผ่อนผันไปอีก 2 เดือน เพื่อให้ประเทศเป็นไปตามมาตรการในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU Fishing) ทำให้เรือประมงขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอส ที่ยังไม่มีอาชญาบัตรหยุดเดินเรือทั่วประเทศ
นายจักรชัย โฉมทองดี รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ไทย-สหภาพยุโรป เปิดเผยถึงการมาตรการจัดการภาครัฐว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังทำการประมงเกินศักยภาพที่ทะเลจะรองรับได้ อาจนำไปสู่การสูญสิ้นทรัพยากรทางทะเลด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยทราบอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการ จนสหภาพยุโรปออกมาดำเนินการกดดัน รัฐบาลเพียงใช้อำนาจในมือตอบสนองมาตรการของสหภาพยุโรปเท่านั้น แต่ในระยะยาวไม่แน่ใจว่า อาจมีการเพิ่มจำนวนเรือที่มีอาชญาบัตร ซึ่งก็ยังไม่ใช่คำตอบสำหรับนิเวศทางทะเลของไทยอยู่ดี
เมื่อรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาแบบฉุกละหุก นายจักรชัย กล่าวว่า แน่นอนต้องมีคนเดือดร้อน นั่นคือ ผู้ประกอบการเรืออวนลาก ที่70% จะจับปลาเป็ดสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และอีก 30% เป็นปลาเศรษฐกิจ ถ้าจะนับผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเจ้าของกิจการอาจจะยังไม่ชัดเจน แต่สำหรับแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ทำงานบนเรือประมงที่ไม่มีอาชญาบัตรนั้น เป็นผู้ที่เดือดร้อนมากกว่าเจ้าของเรือเสียอีก ส่วนชาวประมงพื้นบ้านที่มีเรือลำเล็กสำหรับสินค้าประมงสำหรับการอุปโภคนั้นไม่ได้รับผลกระทบ
“ปัญหานี้เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน แต่รัฐบาลกลับแก้ปัญหาไม่ตรงจุด พยายามไปเน้นเรื่องนิรโทษกรรมเรือที่ไม่ได้รับอาชญาบัตร จนสุดท้ายถูกกดดันจากสหภาพยุโรป รัฐบาลก็ต้องออกมารับผิดด้วย” นายจักรชัย กล่าว
ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และที่ปรึกษาอาวุโส กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ระบุถึงผลกระทบในธุรกิจการส่งออกเบื้องต้นคาดว่า ภายในสองอาทิตย์ยังไม่ได้รับผลกระทบ และยืนยันไม่มีการขยับขึ้นราคาต้นทุนผลิตอาหารสัตว์ เนื่องจากยังมีสต๊อกสินค้าอยู่ เช่นเดียวกับอาหารทะเลที่ราคายังไม่ปรับตัวสูงมาก อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคต้องปรับตัว โดยรวมแล้วภาคใหญ่ยังไม่กระทบใด ๆ อาจจะมีภาคบริโภคที่เพิ่มขึ้นบ้าง ทั้งนี้ ในอนาคตคาดการณ์ว่า การหยุดการเดินเรือจะไม่ยืดเยื้อ
ขณะที่นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมประมงจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า คนส่วนมากยังไม่เข้าใจชาวประมง ชาวประมงโดนบังคับใช้กฎหมายกะทันหัน ถ้าเราออกไปตอนนี้ก็จะโดนจับกุมดำเนินคดี จึงไม่สามารถออกไปประกอบอาชีพได้ ทั้งนี้ ได้เสนอมาตลอดว่า อย่าเพิ่งด่วนสรุป ขอผ่อนผันระยะเวลาไปอีก 1-2 เดือน ให้สำรวจเรือและช่วยกันหาทางออกระหว่างชาวประมงกับกรมประมงว่าการแก้ปัญหายังติดขัดอยู่ตรงจุดใด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวนเรือที่เยอะเกินไป ควรจะหาทางออกโดยลดการออกเรือดีหรือไม่จะได้สมดุลกันทั้งทรัพยากรและความสมดุลของชาวประมง
“หากรัฐบาลอยากให้หยุดการประมงจริง ๆ ควรตั้งกองทุนมาซื้อเรือประมงดีหรือไม่ เพราะถ้าให้ชาวประมงเลิกเดินเรือไปแล้วจะเอาทุนจากที่ใดมาประกอบอาชีพอื่น” นายกสมาคมประมงจังหวัดสมุทรสาคร กล่าว และว่า การให้นำเรือประมงที่หยุดเปลี่ยนเป็นเครื่องมืออื่นก็เหมือนกับการไปเสริมให้เครื่องมือมากขึ้น อาจเกิดการแย่งจับสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นได้
นายกำจร กล่าวด้วยว่า ชาวประมงไม่มีทางเลือกเลย เพราะมันเป็นกฎหมาย ร้องเรียนไปแล้วก็ไม่เคยจะได้รับดำเนินการจากรัฐบาล ตอนนี้เรือประมงหยุดการเดินเรือให้แล้ว ปรากฎว่าเกิดความเสียหาย เมื่อเป็นเช่นนี้ ถามว่าจะมีหน่วยงานใดจะออกมารับผิดชอบบ้าง
ขณะที่นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายว่า ขั้นตอนต่อไปคือเจรจาร่วมกับทางสหภาพยุโรปยังมีส่วนใดที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมหรือมีเงื่อนไขใดที่ทำได้หรือไม่ได้ แต่มาตรการเร่งด่วนที่ไทยต้องเร่งรัดดำเนินการให้เคร่งครัดและเข้มงวด คือ การควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งคาดว่าในช่วงเดือนสิงหาคม สหภาพยุโรปจะเริ่มส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาเก็บข้อมูล ก่อนจะประเมินผลประมาณเดือนตุลาคมนี้
“ขอความร่วมมือชาวประมง ผู้ประกอบการประมงให้มาแจ้งขึ้นทะเบียนเรือ ขออนุญาตการทำประมงโดยใช้เครื่องมือทำประมงที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงมีคนเรือที่มีใบอนุญาตแรงงานอย่างถูกต้อง ซึ่งหากมีครบทั้งสามส่วนนี้แล้วก็สามารถออกไปทำการประมงได้ตามปกติ ส่วนผู้ที่ยังไม่มาขึ้นทะเบียนก็สามารถไปยังให้บริการแบบ one stop service ได้ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 หลังจากนี้ก็ยังสามารถติดต่อกับกรมเจ้าท่าและกรมประมงได้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2558” รมว.กษ. กล่าว
อ่านประกอบเพิ่มเติมที่ นายกฯ ส.ประมงสมุทรสาครหวั่นเสียค่า Air Time รายเดือน หลังติดระบบ VMS
ภาพประกอบ:เว็บไซต์กระปุกดอทคอม