“ปฎิรูปรัฐวิสาหกิจ” แนวทางและความท้าทาย
“..รัฐวิสาหกิจมีความสำคัญมากกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและเป็นพื้นฐานสำคัญของโครงสร้างเศรษฐกิจอื่นๆ แต่หากรัฐวิสาหกิจไม่มีประสิทธิภาพ โอกาสที่ระบบเศรษฐกิจจะมีประสิทธิภาพก็ค่อนข้างยาก ดังนั้นการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจึงเป็นเรื่องสำคัญ”
1 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาเรื่อง “ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ” แนวทางและความท้าทาย” หนึ่งในงานปฏิรูปที่รัฐบาลคสช.พยายามจะทำให้เกิดขึ้นให้ได้ในยุคนี้
“บรรยง พงษ์พานิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน-ภัทรและกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ(คนร.) หรือ ซูเปอร์บอร์ด ระบุว่า สาเหตุที่ต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากรัฐวิสาหกิจมีขนาดใหญ่และมีส่วนแบ่งการใช้ทรัพยากรของระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก แต่กลับมีคำถามเรื่องการใช้ทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพ จนส่งผลต่อการพัฒนาระดับเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ 10 กว่าปีที่แล้ว รัฐวิสาหกิจทั้งประเทศมีขนาดทรัพย์สินรวมกัน 4.4 ล้านล้านบาท แต่ปัจจุบันมีขนาดทรัพย์สินรวมกัน 11.8 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้น 3 เท่าตัว ทำให้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจไหลไปอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐผ่านรัฐวิสาหกิจจำนวนมาก ขณะที่รัฐวิสาหกิจที่มีกำไร มีลักษณะของการผูกขาดแทบทุกแห่ง
“รัฐวิสาหกิจมีความสำคัญมากกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและเป็นพื้นฐานสำคัญของโครงสร้างเศรษฐกิจอื่นๆ แต่หากรัฐวิสาหกิจไม่มีประสิทธิภาพ โอกาสที่ระบบเศรษฐกิจจะมีประสิทธิภาพก็ค่อนข้างยาก ดังนั้นการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจึงเป็นเรื่องสำคัญ”
“ดร.วิรไท สันติประภพ” ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวเสริมว่า การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจนอกจากจะมีผลต่อระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังมีมิติสำคัญด้านการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยด้านบริการโครงสร้างพื้นฐาน หากแข่งขันไม่ได้ทั้งในเรื่องราคาและคุณภาพ จะทำให้ธุรกิจต่อเนื่องทั้งหมดแข่งขันยากตามไปด้วย
ประการต่อมาคือ รัฐวิสาหกิจเป็นผู้เล่นรายสำคัญในหลายอุตสาหกรรมและมีอำนาจเหนือตลาด แต่หากขาดประสิทธิภาพก็จะดึงให้ผู้ประกอบการเอกชนโตไม่ได้ แข่งขันไม่ได้ จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของภาคเอกชนไทยไม่สามารถก้าวได้อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม รัฐวิสาหกิจเป็นช่องทางของการทำนโยบายประชานิยมที่ดีและที่เป็นปัญหา โดยเฉพาะนโยบายที่หวังผลการเมืองระยะสั้นจนเป็นปัญหา หาเงินจากงบประมาณไม่ได้ แต่ใส่เงินลงไปในงบดุลรัฐวิสาหกิจ ซ่อนไว้ใต้พรหมจนกลายเป็นระเบิดเวลา หากปล่อยไว้แบบนี้ วันหนึ่งอาจจะมีสถานะแบบกรีซเกิดขึ้นในประเทศไทยก็เป็นได้
“แนวทางสำคัญในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจขณะนี้คือ การวางรากฐานที่สำคัญด้วยการ ออกกฎหมายที่ดีเพื่อวางโครงสร้างใหม่ในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจในประเทศไทย มีผลต่อเนื่องในระยะยาว มีความโปร่งใส เป็นอิสระจากการเมือง ไม่มีผลประโยชน์ขัดแย้ง” ดร.วิรไท กล่าว
“ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา” คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สนับสนุนการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะแนวคิดการตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย
สำหรับข้อดีมีหลายประการ เช่น เปิดโอกาสให้เผยแพร่ข้อมูลความโปร่งใสใน การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ป้องกันการแทรกแซงจากการเมือง รวมทั้งสร้างโอกาสการเพิ่มรายได้ของรัฐ ฯลฯ แต่ขณะเดียวกันอาจทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยง อาทิ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบผลจากการขาดทุนที่เกิดขึ้นจากการลงทุน
“ในภาพรวมผมสนับสนุนแนวคิดการมีบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ เพราะหากไม่ทำอะไรเลย ก็อาจจะมีเรื่องเลวร้ายมากขึ้น ทั้งความสามารถในการหารายได้ ประสิทธิภาพ ไปจนถึงการนำไปสู่การปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศใหม่ เพราะภายใต้ลักษณะโครงสร้างเศรษฐกิจ ปัจจุบัน เราคงไม่สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้มากกว่าที่เป็นอยู่”
ขณะที่พนักงานรัฐวิสาหกิจรายหนึ่ง แสดงความเห็นว่า เห็นด้วยกับการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ แต่สิ่งที่ยังกังวลคือ ผู้ที่จะมากำกับรัฐวิสาหกิจจะได้ประโยชน์ด้วยหรือไม่ หรือเป็นเพียงผู้ที่รัฐมนตรีส่งตัวมา รู้จักกับกลุ่มทุน แต่กลับไม่มีความเชียวชาญในการทำงาน