กมธ.สธ.เชิญทีดีอาร์ไอแจงปมวิจัยบัตรทอง หนุนผู้ป่วยร่วมจ่ายเหมือน ขรก.
'นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์' โพสต์เฟซบุ๊คเผยข้อสรุปเชิญทีดีอาร์ไอเเจงปมวิจัยบัตรทอง พบมีฐานข้อมูลมาก สรุปผู้ป่วยบัตรทองเสียชีวิตมากกว่าสวัสดิการ ขรก. การจัดซื้อยา-วัสดุการเเพทย์ ต้องคุมคุณภาพประมูล ควรร่วมจ่ายจากผู้ป่วยได้เหมือน ขรก.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)สาธารณสุข สมาชิกสภานิติบัญญัติเเห่งชาติ (สนช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว 'นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์' ถึงกรณี กมธ.สธ.เชิญ ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูล นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ สาขาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มาชี้แจงการวิเคราะห์งานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เมื่อสัปดาห์ก่อน
พร้อมกันนี้ ได้เชิญ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์, ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์, ดร.ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร เจ้าของงานวิจัยที่แพร่หลายใน Social media จาก ทีดีอาร์ไอ พร้อม ผอ.สำนักบริหารการสาธารณสุข รองผอ.สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาลและผช.ผอ.สนย.ของสธ.มาร่วมชี้แจงในวันที่ 30 มิถุนายน เพื่อศึกษางานวิจัยที่มีความสำคัญชิ้นนี้ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่นักวิจัยจากทีดีอาร์ไอสนใจ จึงไปขอสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพเเห่งชาติ (สปสช.) และ สธ.มาดำเนินการ
สรุป คือ จากฐานข้อมูลผู้ป่วยทั้งหมด 1,067,954 คน เป็นบัตรทอง 731,945 คน สิทธิสวัสดิการข้าราชการ 336,009 คน ทุกคนเป็นผู้ป่วยในที่มีอายุมากกว่า 60 ปี อัตราเฉลี่ยบัตรทอง 78 ปี สวัสดิการข้าราชการ 74 ปี ในช่วงปี 2550-2554 โดยป่วยเป็นอย่างน้อย 1ใน 5 โรค คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมอง และมะเร็ง
พบว่า อัตราการใช้บริการของข้าราชการสูงกว่าบัตรทองอย่างชัดเจน พบอัตราการเสียชีวิตที่ รพ.ของบัตรทองสูงกว่าสวัสดิการข้าราชการ 44% ต่อ 38% (อัตราตายใน 1 ปี ของบัตรทอง 22.69% ของสวัสดิการข้าราชการ 16.28%) ค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยของระบบข้าราชการสูงกว่าบัตรทอง
อัตราผู้ป่วยที่ยังมีชีวิตอยู่หลังจำหน่ายจาก รพ. 10 วัน, 40 วัน และ 100 วัน พบว่าสวัสดิการข้าราชการสูงกว่าบัตรทองทั้งหมด หลังออกจาก รพ. 100 วัน ข้าราชการยังมีชีวิตอยู่ 34% ในขณะที่บัตรทองเหลือเพียง 0.01%
ทีดีอาร์ไอ สรุปว่า ผู้ป่วยในระบบบัตรทองมีสัดส่วนการตายที่โรงพยาบาลมากกว่า ใช้ค่ารักษาพยาบาลในช่วงปีสุดท้ายก่อนตายสูงกว่า โดยเฉพาะใน 90 วันก่อนตาย แต่เห็นว่า ผู้ป่วยบัตรทองมีข้อจำกัดในด้านข้อมูลทางเศรษฐกิจ สังคม และพฤติกรรมมากกว่า
บัตรทองมารักษาต่อเมื่อป่วยหนักและมักไม่ทราบถึงความรุนแรงของโรคที่เป็น โดยเฉพาะองค์ความรู้ในโรคที่เป็น เห็นว่าประเด็นหลักคือการเหลื่อมล้ำระหว่างสิทธิทั้งสอง
แต่ที่ประชุมเห็นว่า ถ้าจะให้สิทธิเท่ากันก็ควรทำให้สิทธิที่แย่กว่าให้เพิ่มขึ้นทัดเทียมกับสิทธิที่ดีกว่า ไม่ใช่การรวมกองทุนแล้วทำให้สวัสดิการข้าราชการถดถอยลงมาย่ำแย่เท่าบัตรทอง
ส่วนนักวิจัยทั้ง 2 ท่านนั้น วิเคราะห์จากความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญว่า ผู้ป่วยมะเร็งตายมาก เนื่องจากระบบบัตรทองที่ใช้สูตรสำเร็จในการรักษา เพราะต้องการลดต้นทุน กรรมาธิการหลายท่านเห็นว่า ถ้าหากมีการร่วมจ่าย อาจช่วยให้ดีขึ้น
ในโรคหัวใจขาดเลือดและโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดที่มีอัตราตายสูง เชื่อว่าเกี่ยวกับคุณภาพของยาและวัสดุที่ใช้รักษา เช่น stent ในการใช้ขยายหลอดเลือดหัวใจตีบ เชื่อว่ามีข้อจำกัดจากการประมูล ทำให้ได้ของที่มีคุณภาพต่ำ แม้จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการ แต่โดยระบบต้องให้ผู้ป่วยไปรักษาตามสิทธิ ทำให้เกิดความล่าช้า เห็นว่าการร่วมจ่ายในการซื้อวัสดุอาจช่วยได้
ทั้งสองท่านเชื่อว่า วิธีการประหยัดเงินเป็นตัวตั้งกฎเกณฑ์ก่อให้เกิดผลเสียในการรักษา ทำให้ขาดการควบคุมคุณภาพจากการแข่งขันของผู้ขายยาและเวชภัณฑ์ แพทย์ไม่มีสิทธิเลือกชนิดและบริษัท
ผลคือผู้ป่วยเสียชีวิตมากอย่างที่ไม่ควร มีความเห็นตรงกับทีดีอาร์ไอว่า ผู้ป่วยบัตรทองขาดการส่งเสริมป้องกันโรค ป่วยหนักกว่า เพราะมารักษาในระยะท้าย ๆ แต่วิเคราะห์ว่ามีการรักษาที่ไม่ตรงตามหลักการแพทย์และ/หรือเภสัชกรรมจากระบบบัตรทอง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากบัตรทองเกินถึง 71.543 คน
กมธ.สธ.เห็นว่ารายงานนี้มีฐานข้อมูลที่มาก สรุปได้ว่าผู้ป่วยบัตรทองเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยสวัสดิการข้าราชการ
การจัดซื้อยาและวัสดุการแพทย์ต้องมีการควบคุมคุณภาพในการประมูล ไม่ใช่คำนึงถึงราคาถูกแต่เพียงอย่างเดียว
ควรมีการร่วมจ่ายจากผู้ป่วยได้เหมือนการร่วมจ่ายของข้าราชการในการเลือกใช้วัสดุการแพทย์
ต้องมีงานวิจัยต่อเนื่อง เพราะการที่งบประมาณมีจำกัด คงยากที่จะรักษาคุณภาพการบริการเอาไว้ จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน จึงต้องมีการติดตามประเมินผลและเก็บข้อมูลต่อเนื่องเพื่อให้นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเดินต่อไปอย่างมีคุณภาพ .