โพลล์ รธน.ชี้คนไทยหนุนนิรโทษคดีการเมืองลดลง
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าแม้คนไทยเกินครึ่งจะยังคงหนุนนิรโทษกรรมคดีการเมืองเพื่อการปรองดอง โดยเว้นคดีทุจริตและแกนนำม็อบ แต่สัดส่วนผู้ที่เห็นด้วยลดลงจากร้อยละ 90 ในการสำรวจครั้งแรก เหลือเพียงร้อยละ 52
การสำรวจครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 สุ่มตัวอย่างประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 77,160 ราย เพื่อนำประเด็นสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญไปสอบถามความคิดเห็นของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังการสำรวจครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และได้นำความเห็นของประชาชนไปใช้ประกอบในกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกไปแล้ว
การสำรวจได้แยกตามประเด็นสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญ โดยผลสำรวจที่น่าสนใจ คือ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง มีคำถามปลายเปิด 3 ข้อ ได้แก่
1.หากมีการเลือกตั้งขึ้นแล้ว ยังคงเกิดความขัดแย้งและความวุ่นวายขึ้นดังเช่นสิบปีที่ผ่านมา คิดว่าควรทำอย่างไร ผลสำรวจพบว่า ประชาชน ร้อยละ 49.1 ไม่แสดงความคิดเห็น ขณะที่ร้อยละ 50.9 แสดงความคิดเห็น โดยในส่วนที่แสดงความคิดเห็น มีข้อเสนอ 5 อันดับ คือ อันดับหนึ่ง ร้อยละ 17.3 ตั้งรัฐบาลผสม อันดับสอง ร้อยละ 11 ให้ทหารปฏิวัติ รัฐประหารอีก อันดับสาม ร้อยละ 10.3 ให้ยุบสภาแล้วจัดเลือกตั้งใหม่ อันดับสี่ ร้อยละ 9.8 ให้ออกกฎหมายบังคับอย่างเด็ดขาด ประกาศกฎอัยการศึกใหม่ และอันดับห้า ร้อยละ 2 สร้างสำนึกให้รู้รักชาติ รักแผ่นดิน
2.มีแนวทางอย่างไรเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงดังเช่นในอดีต ผลสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 59.5 ไม่แสดงความคิดเห็น ขณะที่ร้อยละ 40.5 แสดงความคิดเห็น สรุปได้ว่าแนวทางการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงเหมือนในอดีต 3 อันดับแรก คือ อันดับหนึ่ง ร้อยละ 12.5 ปลูกจิตสำนึกให้รักชาติ สามัคคีปรองดอง รณรงค์ลดความรุนแรงทางการเมือง อันดับสอง ร้อยละ 10.2 ออกกฎหมายควบคุมล่วงหน้า ประกาศกฎอัยการศึก อันดับสาม ร้อยละ 3.5 หาคนกลางเข้ามาแก้ปัญหา หันหน้าพูดคุยกัน
3.ควรมีการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้เกี่ยวข้องกับการประท้วงทางการเมืองในช่วงปีพ.ศ.2548-2557 ที่ได้กระทำผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 โดยยกเว้นผู้กระทำผิดคดีทุจริต คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คดีวางเพลิง ฆ่า ทำร้ายร่างกาย และลักทรัพย์ รวมทั้งผู้ที่เป็นแกนนำการชุมนุมหรือไม่
ผลสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.9 เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม ขณะที่ ร้อยละ 43.9 ไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ประชาชนเกินครึ่งจะยังเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม แต่ก็ถือว่าลดลงจากผลสำรวจครั้งแรกเป็นอย่างมาก เพราะในการสำรวจครั้งแรก ประชาชนสนับสนุนการนิรโทษกรรมถึงร้อยละ 90.5
นอกจากนั้น ยังมีประเด็นเรื่อง ระบบผู้แทนและผู้นำการเมืองที่ดี แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รัฐสภา และคณะรัฐมนตรี ผลสำรวจเฉพาะที่สำคัญพบว่า ประชาชนร้อยละ 94.7 เห็นควรให้มีคณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการโดยระบบคุณธรรม, ร้อยละ 93.5 เมื่อ ส.ส.ไปเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. และร้อยละ 92.7 การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ให้ประชาชนเลือกพรรคที่ชอบได้ 1 พรรค
สำหรับประเด็นเรื่อง นิติธรรม ศาล และองค์กรการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ผลสำรวจเฉพาะที่สำคัญ ได้แก่ ร้อยละ 98.1 ควรกำหนดกรอบระยะเวลาในการพิจารณาคดีของศาลให้ชัดเจนและให้เปิดเผยต่อสาธารณะ, ร้อยละ 97.6 ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและกรรมการองค์กรตรวจสอบต่างๆ ยื่นบัญชีทรัพย์สิน และเปิดเผยต่อสาธารณะ, ร้อยละ 96.6 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิเข้าชื่อเสนอถอดถอนนักการเมืองและกรรมการองค์กรตรวจสอบได้
ส่วนประเด็นที่น่าสนใจอื่นๆ ก็เช่น ประเด็นเกี่ยวกับความเป็นพลเมือง สิทธิ และหน้าที่พลเมือง คำถามการสำรวจที่ประชาชนเห็นด้วยเพิ่มขึ้นมากที่สุดจากการสำรวจครั้งที่หนึ่ง คือ ต้องให้ประชาชนมีสิทธิและมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะ, ประชาชนควรมีสิทธิเข้าชื่อเสนอให้จัดการออกเสียงประชามติได้, ชุมชนต้องมีสิทธิให้ความเห็นในการอนุญาตการให้เอกชนเข้ารับสัมปทานเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน เป็นต้น