นักกม.ชี้ ม. 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 คุ้มครองหมอสุดลิ่มทิ่มประตู
สช.ปลุกสังคมไทยเข้าใจ “สิทธิการตายตามธรรมชาติ” หลังศาลปกครอง พิพากษายกฟ้อง คดีพิพาทความชอบด้วยกฎกระทรวง ตามมาตรา 12 แห่งพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ชี้ชัดสิทธิการตายโดยธรรมชาติดำเนินการได้ 100% ไม่ขัดกับศีลธรรมอันดีของประชาชน
วันที่ 1 กรกฎาคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีสช.เจาะประเด็นครั้งที่ 3/2558 เรื่อง “ผ่าทางตัน…สิทธิการตายตามธรรมชาติ” ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ จังหวัดนนทบุรี โดยนายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นายสมผล ตระกูลรุ่ง นักวิชาการกฎหมายอิสระ ผศ.นพ.พรเลิศ ฉัตรแก้ว อาจารย์ประจำภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนางอรสม สุทธิสาคร นักเขียนสารคดีอิสระ และครูพิเศษในเรือนจำ
นพ.อำพล กล่าวถึงคำพิพากษาของศาลปกครอง เมื่อวันที่18 มิถุนายน 2558 ที่พิพากษายกฟ้อง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หลังมีผู้ฟ้องคดีฟ้องศาลปกครองสูงสุดเพื่อขอให้ยกเลิกกฎกระทรวงตามมาตรา 12 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ว่า ศาลฯ พิพากษา สรุปได้ว่า การออกกฎกระทรวงนี้ชอบด้วยกฎหมาย และการปฏิบัติตามกฎกระทรวงก็มิได้เป็นการทอดทิ้งผู้ป่วยที่พึ่งตนเองไม่ได้ จึงไม่มีความผิดฐานทอดทิ้งผู้ป่วยตามประมวลกฎหมายอาญา
สำหรับสิทธิการตายโดยธรรมชาติ นพ.อำพล กล่าวว่า ศาลปกครองใช้คำนี้ออกมา เดิมในกฎหมายมีทั้ง ยื้อการตาย วาระสุดท้าย ปฏิเสธบริการสาธารณสุข แต่ศาลใช้คำว่า สิทธิในการขอตายโดยธรรมชาติ คำนี้ ศาลฯ ได้เขียนไว้ในคำพิพากษา ซึ่งง่ายมาก และเข้าใจได้ดี ซึ่งมาตรา 12 ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ปี 2550 ได้บัญญัติให้บุคคลในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต เป็นการแสดงสิทธิในชีวิตและร่างกายโดยการยื่นความประสงค์ไว้ล่วงหน้า และมีความหมายมากกว่าใบแสดงยินยอมรับการผ่าตัด หรือยินยอมการรักษาพยาบาล เพราะจะเป็นเครื่องมือและช่องทางที่ป่วยจะได้ทำความเข้าใจกับญาติ และแพทย์ผู้ดูแลไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะทำให้ทุกฝ่ายสามารถปฏิบัติได้ถูกต้อง
“มาตรา 12 ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ปี 2550 จึงไม่ใช่ให้สิทธิใหม่ แต่เป็นการรับรองสิทธิที่มีอยู่แล้วในวาระสุดท้ายของชีวิต ส่วนแนวทางที่กำหนดในกฎกระทรวง เหมือนเป็นวิธีการปฏิบัติให้สถานพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพ บุคลากร ทั้งนี้ไม่ได้ปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตโดยไม่ให้การรักษา หรือใช้ยา และเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อยุติชีวิต แต่ยังคงให้การดูแลแบบประคับประคองจนผู้ป่วยเสียชีวิตตามธรรมชาติ”
ส่วนกรณียังมีความเข้าใจผิด เกี่ยวกับการทำหนังสือแสดงเจตนารมณ์สิทธิการตายตามธรรมชาตินั้น เลขาธิการ สช.กล่าวว่า ไม่ได้หมายความว่า จะให้ทุกคนในประเทศไทยต้องทำหนังสือแสดงเจตนาฯ แต่สามารถทำได้หลายวิธี เช่น อัดวีดีโอ การบอกญาติ บอกหมอไว้ โดยวัตถุประสงค์จริงๆ ของมาตรานี้ เพื่อให้คนในสังคมไทยเข้าใจ สิทธิในการปฏิเสธการรักษาที่แทรกแซงการตายโดยธรรมชาติ
นายสมผล กล่าวว่า ประชาชนไทยมีสิทธิขั้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ได้รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานเอาไว้ว่า บุคคลมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตร่างกาย ดังนั้นแม้ไม่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 12 ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ปี 2550 สิทธินี้ก็มีอยู่แล้ว
“การนำมาบัญญัติไว้ในมาตรา 12 ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 เพื่อกระตุ้นการรับรองสิทธิ เนื้อหาจึงคุ้มครองบุคลากรทางสาธารณสุขแบบสุดลิ่มทิ่มประตู ว่า หากกระทำตามหนังสือแสดงเจตนาที่จะปฏิเสธการรักษาของผู้ป่วยระยะสุดท้ายแล้ว หากเสียชีวิตขึ้นมาจะไม่สามารถฟ้องร้องแพทย์ได้เลย” นักวิชการกฎหมายอิสระ กล่าว และว่า หากไม่มีมาตรา 12 ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 แพทย์มีโอกาสถูกฟ้อง แม้จะมีหนังสือแสดงเจตนาฯ แล้วก็ตาม
ด้านผศ.นพ.พรเลิศ กล่าวถึงผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังและรักษาไม่หาย บทบาทหน้าที่แพทย์จะทำอย่างไรให้คนเหล่านั้นอยู่กับโรคได้อย่างมีความสุข เป็นเรื่องของคุณภาพชีวิต ส่วนโรคที่รักษาไม่หาย เมื่อดำเนินไปถึงขั้นจะเสียชีวิต ทำอย่างไรให้ผู้ป่วยไม่เจ็บป่วยทรมาน ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างดีที่สุด
“ครอบครัวไทยประกอบด้วยคนหลายคน แต่ละคนยอมรับการตายของคนใกล้ชิดไม่เท่ากัน นี่คือข้อขัดแย้ง หนังสือแสดงเจตนา ตามมาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 จะทำให้ข้อขัดแย้งนี้ลดลง”ผศ.นพ.พรเลิศ กล่าว และว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีครอบครัวเดี่ยวเพิ่มมากขึ้น ครอบครัวแยกอยู่ห่างไกลกันมากขึ้น หากไม่มีหนังสือแสดงเจตนาฯ อาจเกิดปัญหาตามมาได้ ดังนั้นกระบวนการตัดสินใจสิทธิการตายธรรมชาติในระยะสุดท้าย ควรเป็นการตัดสินใจร่วมกัน 3 ฝ่าย ผู้ให้บริการทางการแพทย์ ผู้ป่วย และญาติ
ผศ.นพ.พรเลิศ กล่าวด้วยว่า ในทางการแพทย์ที่จะดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้น ประเทศไทยมีมาตรฐานแล้ว ซึ่งแตกต่างจากมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยระยะฉุกเฉิน ฉะนั้น ต้องเลือกให้ถูกคนไข้แต่ละระยะใช้มาตรฐานการดูแลแบบไหน
สุดท้ายนางอรสม กล่าวถึงประเด็นที่ต้องพูดคุยในสังคมไทย อาจไม่ใช่เพียงการทำหนังสือแสดงเจตนา แต่ต้องรวมถึงการเสริมสร้างความรู้ ทัศนคติที่ดีต่อเรื่องการตาย การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย รวมถึงการพัฒนาและจัดระบบการบริการแบบประคับประคอง