เบรกนักการเมืองไม่รู้จริง ‘ดร.นิพนธ์’ ชี้จัดการน้ำเขื่อน ใช้มืออาชีพ
‘ดร.นิพนธ์’ ชี้ภัยแล้งเกิดจากรัฐบริหารน้ำเขื่อนผิดพลาด รวมศูนย์อำนาจส่วนกลาง แนะคิดแบบบูรณาการแก้ปัญหาควบคู่น้ำท่วม-น้ำแล้ง เชื่อมโยงการทำงานกลุ่มผู้ใช้น้ำเเต่ละจังหวัด หวั่นฝนตกช้ากระทบเเหล่งปลูกข้าว มากน้อยยังประเมินไม่ได้
วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับInternational Development Research Centre (IDRC) จัดสัมมนา ‘การบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย:ข้อเสนอเชิงนโยบาย’ ณ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงวิกฤตน้ำแล้งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ซึ่งไม่ได้เกิดจากภัยธรรมชาติอย่างเดียว แต่เกิดจากการบริหารจัดการผิดพลาดด้วย โดยเฉพาะปี 2554 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ ส่งผลให้ปล่อยน้ำออกจากเขื่อนจำนวนมาก และมีการแทรกแซงบริหารจัดการดังกล่าว ทั้งนี้ รวมถึงนโยบายรับจำนำข้าวที่ส่งเสริมเกษตรกรปลูกข้าว ทำให้ต้องใช้น้ำจำนวนมาก ทุกอย่างจึงรวนเร
เมื่อเป็นเช่นนี้แนวทางในการแก้ไขปัญหา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ต้องคิดแบบบูรณาการแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง จะคิดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ดังเช่น การออกแบบสิ่งก่อสร้างเพื่อป้องกันน้ำท่วม จะต้องออกแบบรองรับเพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้งด้วย และก่อนลงทุนควรมีการศึกษาความเป็นไปได้ รวมถึงผลกระทบเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ แต่ห้ามศึกษาแยกแต่ละโครงการ ตลอดจนสร้างกระบวนการรับฟังความเห็นภาคประชาชน
“ที่ผ่านมาผู้ได้รับผลกระทบต้องเสียสละให้คนเมืองได้รับผลประโยชน์ จึงต้องเปลี่ยนแปลงแนวคิดนี้ให้ได้ ซึ่งในอดีตมีบางโครงการ ยกตัวอย่าง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จ่ายค่าชดเชยสูงถึงร้อยละ 60-70 ของต้นทุนโครงการ และยังปรากฏว่าโครงการเกิดประโยชน์ จึงเป็นตัวอย่างการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในการบริหารจัดการโครงการขนาดใหญ่” ดร.นิพนธ์ กล่าว และว่า ไทยจำเป็นต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ แต่กระบวนการตัดสินใจปัจจุบันค่อนข้างเกิดปัญหา เพราะขาดความต่อเนื่องในนโยบาย ไม่ดำเนินการอย่างเป็นระบบ ดังนั้น ต้องตัดสินใจให้ได้ว่า ข้อเสนอทางเลือกใดจะดีที่สุดในการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง
นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวเพิ่มเติมถึงการบริหารจัดการน้ำแล้งของไทยว่า ความผิดพลาดเกิดจากรวมศูนย์อำนาจไว้ที่กรมชลประทาน ภายหลังเมื่อระบบใหญ่ขึ้นจึงเกิดปัญหากับเกษตรกร จึงจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำขึ้น เพื่อบริหารจัดการเอง และประสบความสำเร็จพอสมควร ซึ่งกรณีลักษณะนี้เหมือนกับประเทศตะวันตกที่มีแนวทางให้กลุ่มผู้ใช้น้ำต่าง ๆ บริหารจัดการเอง
ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า กลุ่มผู้ใช้น้ำที่มีการบริหารจัดการเองแทนกรมชลประทานเกิดความเป็นธรรม ความขัดแย้งลดลง ได้รับน้ำสม่ำเสมอ เพราะเมื่อมีน้ำน้อยก็ใช้น้อย โดยไม่ต้องรอให้รัฐบาลสั่งงดปลูกพืช แต่สามารถตกลงกันเองได้ ดังเช่น กลุ่มผู้ใช้น้ำกระเสียว อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัด คือ การขาดข้อต่อเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำขนาดเล็ก 48,994 กลุ่ม กับคณะกรรมการลุ่มน้ำ ดังนั้น ต้องเชื่อมข้อต่อตรงกลางให้กลุ่มผู้ใช้น้ำแต่ละจังหวัดทำงานร่วมกันให้ได้ เพื่อลดปัญหาการแย่งน้ำในอนาคต
“วันนี้ไทยมีกฎหมายแต่งตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำเหมือนประเทศตะวันตก ซึ่งมีอำนาจมากมาย แต่กลับเขียนกฎหมายจากบนลงล่าง จึงทำให้กรรมการส่วนใหญ่ขาดความรู้เรื่องบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะข้าราชการ ดันั้น จะทำอย่างไรให้กลุ่มผู้ใช้น้ำมาอยู่ในคณะกรรมการลุ่มน้ำให้ได้ โดยภาครัฐมีบทบาทเฉพาะการอบรบ ให้ความรู้ทางวิชาการเท่านั้น โดยไม่ต้องมาเผชิญปัญหากับชาวบ้าน”
เมื่อถามว่าการบริหารจัดการน้ำในฤดูกาลที่ผ่านมามีจุดบกพร่องอย่างไร ดร.นิพนธ์ ระบุว่า น้ำในเขื่อนไม่ได้กักเก็บไว้เพื่อการเกษตรกรรมหรือการอุปโภคบริโภคอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการคมนาคมขนส่งทางน้ำ สร้างความสมดุลแก่ระบบนิเวศ อย่างไรก็ตาม ปัญหาขณะนี้เกิดต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ตั้งแต่อดีต และไม่ทราบว่าฝนจะตกลงมาเมื่อไหร่ ดังนั้น การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนจึงต้องอาศัยผู้มีความรู้และเป็นมืออาชีพ ไม่ใช่นักการเมืองที่ไม่มีความรู้เข้ามาบริหารจัดการรายวัน
“ภัยแล้งที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเเหล่งเพาะปลูกข้าวในอนาคตแน่นอน หากฝนตกลงมาเร็วหน่อย ผลกระทบดังกล่าวจะลดน้อยลง แต่ปัจจุบันผลกระทบมีมากหรือน้อยไม่สามารถประเมินได้ ทั้งนี้ จุดอ่อนสำคัญ คือ ไทยไม่มีความรู้เรื่องการประเมินสภาพภูมิอากาศทั้งฤดู ผิดกับในต่างประเทศที่มีความรู้ด้านดังกล่าวมาก” นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวในที่สุด .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ไทยพับลิก้า