ลิขิต ธีรเวคิน : 10 คำถามที่ต้องตอบก่อนเจรจาดับไฟใต้
พูดกันมาเสมอ พูดกันมาตลอดว่ารากเหง้าของปัญหาชายแดนใต้เป็นเรื่อง "การเมือง" ฉะนั้นแนวทางแก้ไขจึงต้องใช้ "การเมืองนำการทหาร"
แต่คนพูดก็มักไม่บอกให้ชัดว่าเป็น "การเมืองอย่างไร" นำ "การทหารแบบไหน"
ขณะที่คณะพูดคุยซึ่งรัฐบาลตั้งขึ้น เพิ่งตั้งโต๊ะแถลงไปเมื่อวันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน 2558 ว่าการพูดคุยระดับชาติกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐอย่างน้อย 6 กลุ่มกำลังเดินหน้า และคาดว่าจะทำสัตยาบันข้อตกลงร่วมดับไฟใต้ได้ในช่วงต้นปี 2559
การพูดคุยเจรจาก็เป็นอีกหนึ่งแนวทาง "การเมือง" ที่รัฐบาลไทยกำลังดำเนินการกับปัญหาชายแดนใต้
แต่จะถูกวิธีและมีปัญหาอุปสรรคแค่ไหน เป็นเรื่องน่าสนใจ...
ลองมาฟังปรมาจารย์ด้านรัฐศาสตร์การเมืองอย่าง ศ.ดร.ลิขต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต และประธานกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งไปบรรยายพิเศษเรื่อง "ทัศนะในการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างสันติสุข" ในงานประชุมระดมความคิดเพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เมื่อเร็วๆ นี้ ก็จะพบข้อน่าห่วงใยของการพูดคุยเจรจา ซึ่งมีคำถามถึง 10 ข้อที่ต้องตอบให้ได้ก่อนเดินหน้า
ศ.ดร.ลิขิต เริ่มต้นด้วยการกล่าวเชิงเปรียบเทียบว่า สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเป็นปัญหาซ้อนปัญหา เหมือนกับเป็นฝีที่เท้า ทำให้กระทบกับองคาพยพของร่างกายทั้งหมด ฝีนี้ต้องได้รับการแก้ไข มิฉะนั้นร่างกายมนุษย์ผู้นั้นจะไม่มีทางมีความสุข และจะแก้ลำบากมากขึ้นถ้าข้างบนเป็นโรคหัวใจซ้ำ กล่าวคือ ถ้าระบบการเมืองระดับชาติมีปัญหา ปัญหาทางใต้ก็อย่าหวังว่าจะแก้ได้
"เป็นปัญหาซ้อนปัญหา ข้างบนมีปัญหา ข้างล่างก็มีปัญหา อย่าปฏิเสธความจริงถ้าเราต้องการหาคำตอบที่ถูกต้อง"
ศ.ดร.ลิขิต กล่าวต่อว่า ในทางวิชาการมีวิธีแก้ปัญหาชนกลุ่มน้อย 4 วิธี คือ
1.ระบบผสมกลมกลืน คือ ทำให้คนกลุ่มน้อยรับวัฒนธรรมคนกลุ่มใหญ่ และจูงใจด้วยประโยชน์ในระบบ เช่น ได้รับราชการไปถึงสูงสุด มีการศึกษา มีความร่ำรวย ซึ่งไทยประสบความสำเร็จในกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีน
2.การบูรณาการ คือ ทำให้คนกลุ่มน้อยยอมรับบางส่วนของคนกลุ่มใหญ่ ซึ่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรใช้นโยบายนี้ แต่ในความเป็นจริงค่านิยมบางอย่างในพื้นที่หากกระทบสิ่งหนึ่งก็จะกระทบทั้งระบบ
3.สหพันธรัฐ คือ ต่างคนต่างอยู่ มีการปกครองตนเอง มีเขตปกครองพิเศษแต่อยู่ภายใต้ประเทศเดียวกัน อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ยาก เพราะประเทศไทยเป็นแบบรวมศูนย์ และรับไม่ได้กับการให้มีเขตปกครองตนเอง ทั้งๆ ที่การปกครองตนเองไม่ได้แยกตัวไปจากประเทศนั้นๆ เพียงแต่ทำไม่ได้ 4 เรื่อง คือ ห้ามมีกองทัพ ห้ามมีธนบัตร ห้ามมีกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ และห้ามดำเนินนโยบายต่างประเทศ
และ 4.การใช้กำลังควบคุมบังคับปราบปรามเพื่อรักษาไว้ แต่ในขณะเดียวกันถ้าใช้วิธีนี้ ฝีก็ไม่มีทางหาย
"ไทยกำลังใช้นโยบายข้อ 4 หรือไม่ หรือใช้นโยบายข้อ 2 ผสมข้อ 4 แต่ถ้าสุดท้ายตกลงกันไม่ได้ มีการแทรกแซงจากต่างชาติ ก็จะเกิดการแยกตัว มีให้เห็นแล้วที่ซูดาน ซึ่งไม่อยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้น"
สำหรับ "ทางออก" ของปัญหา อาจารย์ลิขิต บอกว่า ถ้าในกรณีต้องมีการเจรจา ก็มีคำถามสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องตอบ เนื่องจากยังมีปัญหาและอุปสรรคที่ต้องเผชิญด้วยกัน 10 ข้อ คือ
1.รัฐเห็นพ้องต้องกันหรือไม่ในแนวทางแก้ปัญหายุติความขัดแย้งด้วยการเจรจา ถ้าไม่เป็นฉันทานุมัติ การเจรจาก็ลำบาก
2.รัฐพร้อมรับข้อเสนอหรือเงื่อนไขสูงสุดของคู่เจรจาได้แค่ไหน และข้อเรียกร้องเป็นที่พอใจของกลุ่มผู้ที่ต้องการเจรจามากน้อยเพียงใด
3.มีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่กับการยุติความขัดแย้ง เป็นกลุ่มที่อยากให้มีความขัดแย้งและความรุนแรงต่อไป เช่น กลุ่มค้ายาเสพติด มีอิทธิพลมากพอหรือไม่
4.กลุ่มผลประโยชน์จากธุรกิจผิดกฎหมาย แต่อาศัยสถานการณ์หาประโยชน์ เป็นตัวขวางการเจรจามากน้อยเพียงใด
5.กลุ่มที่ต้องการเจรจามีความเห็นพ้องในพวกเดียวกันหรือไม่ และมีการช่วงชิงการเป็นแกนนำในทางการเมืองหรือไม่ อย่างไร
6.กลุ่มที่ทำหน้าที่เจรจามีอำนาจที่แท้จริงหรือไม่ ถ้ามีข้อตกลงเกิดขึ้นจะดำเนินการได้หรือไม่ โดยไม่ถูกขัดขวางจากกลุ่มตรงข้ามที่อาจมีมากกว่าหนึ่งกลุ่มที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้
7.ทั้งสองฝ่ายเงื่อนไขสูงสุดคืออะไร ลดทอนได้เพียงใด แต่ที่ชัดเจนที่สุดคือการแยกตัวไปเป็นรัฐต่างหาก รับไม่ได้เด็ดขาด
8.มีการแทรกแซงจากต่างชาติทั้งใกล้และไกลหรือไม่ ถ้ามีตัวแปรดังกล่าวก็ยิ่งซับซ้อน และยากต่อการจัดการ
9.ขณะที่มีปัญหาเกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาพการเมืองของไทยไม่มีเสถียรภาพ ดังนั้นการคาดหวังจะมีการเจรจาแก้ปัญหาย่อมยากจะเกิดขึ้น ในเมื่อส่วนบนร่างกายยังไม่หาย จะหวังให้ฝีหายขาดคงยาก
10.ทั้งสองฝ่ายที่ขัดแย้งกันแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ หลากความคิด หลากจุดยืน ตลอดจนตัวแปรภายนอก ทำให้ยากที่จะเกิดความมุ่งมั่นทางการเมืองที่จะแก้ปัญหา ผลคือจากปัญหาชนกลุ่มน้อยกลายเป็นปัญหาทางการเมืองระดับชาติ และระหว่างประเทศ อีกทั้งเกี่ยวพันกับผลประโยชน์การประกอบอาชีพทั้งภายในและต่างประเทศ ทำให้ความขัดแย้งขยายวางกว้างหลายมิติ ส่งผลต่อความยากลำบากยิ่งของการแก้ปัญหาด้วยการเจรจา
ศ.ดร.ลิขิต กล่าวด้วยว่า ไทยไม่สามารถปล่อยให้มีปัญหาภาคใต้ต่อไปได้ เพราะสิ้นปีนี้จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เมื่อรวมกับกลุ่มประเทศกําลังพัฒนาที่มีการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว หรือ บริค (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน) กับเออีซี มีประชากรเป็นสองในสามของโลก ทุกอย่างจะวิ่งมาที่เอเซีย ถ้าเรามีปัญหาก็จะไม่มีอำนาจต่อรอง ก็จะเติบโตยากมาก
"เราไม่มีทางเลือก เราต้องแก้ปัญหาข้างในของเรา จัดบ้านให้เรียบร้อยเพื่อยืนหยัดอย่างสง่าในเออีซี และจัดการกับบริค รวมทั้งโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่จะต้องต่อสู้กับมหาอำนาจได้ อย่าปล่อยให้ฝีทำให่ร่างกายอ่อนแอจนกระทบร่างกายส่วนบน" ศ.ดร.ลิขิต กล่าวทิ้งท้าย
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพ ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน จากเว็บไซต์สภาวิจัยแห่งชาติ
หมายเหตุ ** วิศิษฎ์ ชวนพิพัฒน์พงศ์ เป็นหัวหน้าข่าวสายสังคม-อาชญากรรม หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ