“สุรพงษ์-สุกำพล”ยื่นหนังสือปฏิเสธข้อหา ป.ป.ช.ปมจ่ายเงินเยียวยา
“สุรพงษ์-พล.อ.อ.สุกำพล” ยื่นหนังสือปฏิเสธ ป.ป.ช. ปมแจ้งข้อหาจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบชุมนุมการเมืองปี’48-53 ยัน “ภักดี” ไม่ใช่กรรมการ ป.ป.ช. ตามกฎหมาย เหตุลาออกบริษัทยาไม่ทัน 15 วัน ตามประกาศ คปค. ลั่นคนละกรณีกับที่ ส.ว. เคยลงมติไม่ถอดถอน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผ่านนายสุขสันต์ ประสาระเอ เจ้าพนักงานปราบปรามการทุจริตชำนาญการพิเศษ ป.ป.ช. กรณีองค์คณะไต่สวน ที่มีกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 9 รายเป็นองค์คณะฯ มีมติแจ้งข้อกล่าวหาอดีตรัฐมนตรี 34 ราย การจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองปี 2548-2553 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยท้ายหนังสือดังกล่าว ลงลายมือชื่อนายสุรพงษ์ และ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีต รมช.กลาโหม
ภายหลังยื่นหนังสือ นายสุรพงษ์ กล่าวว่า กรณีองค์คณะไต่สวนฯ แจ้งข้อกล่าวหาอดีต 34 รัฐมนตรี และให้ตนกับ พล.อ.อ.สุกำพล เข้ารับข้อกล่าวหา โดยปรากฏว่าองค์คณะไต่สวนชุดดังกล่าว แต่งตั้งขึ้นโดยอาศัยคำสั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ 442/2556 ทั้งที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีบุคคลที่ไม่ใช่ กรรมการ ป.ป.ช.รวมอยู่ด้วย 1 คน คือนายภักดี โพธิศิริ เนื่องจากเมื่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ ป.ป.ช. ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) มีข้อกำหนดให้ลาออกจากกรรมการบริษัทที่มุ่งแสวงหากำไรภายใน 15 วัน แต่จากหลักฐานการจดทะเบียนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากลับปรากฏว่าวันที่นายภักดีลาออกจากบริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด เกินเวลาที่กำหนด และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในมาตรา 1153/1 ระบุว่า กรรมการคนใดจะลาออกจากตำแหน่ง ให้ยื่นใบลาออกต่อบริษัท การลาออกมีผลนับตั้งแต่วันที่ใบลาออกถึงบริษัท ดังนั้นจึงเท่ากับว่านายภักดีไม่ใช่กรรมการ ป.ป.ช. มาตั้งแต่ต้น
“ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาเรายินดีที่จะต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมกับ ป.ป.ช. แต่ต้องมีกรรมการ ป.ป.ช. ที่ชอบด้วยกฎหมายทุกคน แต่การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคนที่ไม่ใช่กรรมการรวมอยู่ด้วยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการที่องค์คณะไต่สวนส่งหนังสือให้ผมและรัฐมนตรีรายอื่นรวม 34 รายมารับทราบข้อกล่าวหาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและขอปฏิเสธการรับทราบข้อกล่าวหาจากมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ไม่ชอบนี้ ผมและ พล.อ.อ.สุกำพล ขอปฏิเสธที่จะไม่มารับทราบข้อกล่าวหา จนกว่าทางประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องได้ข้อสรุปก่อนว่าองค์คณะไต่สวน ชุดดังกล่าวนั้นดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายและพิสูจน์ให้คนทั่วไปได้รับรู้ด้วย” นายสุรพงษ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นกรณีเดียวกันกับวุฒิสภาเคยมีมติไม่ถอดถอนนายภักดีไปแล้วหรือไม่ นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เป็นคนละกรณีกัน เพราะเป็นคนละบริษัท โดนกรณีที่วุฒิสภามีมติไม่ถอดถอนคือกรณีของบริษัท ไทยวัฒนา ฟาร์มาซูติคัล เด็กซ์โทรส จำกัด แต่กรณีที่ตนยื่นเป็นอีกบริษัทหนึ่ง
ล่าสุด คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้สรุปยอดอดีตรัฐมนตรีที่ต้องมารับทราบข้อกล่าวหาในกรณีดังกล่าวแล้ว พบว่า มีผู้ที่ไม่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาจำนวน 8 ราย เช่น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกฯ เป็นต้น มีผู้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาจำนวน 10 ราย และมีผู้ขอเลื่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเป็นวันที่ 14 ก.ค. 2558 จำนวน 13 ราย
อ่านประกอบ :
8 อดีตรมต.ไม่มารับข้อหาจ่ายเงินเยียวยากับ ป.ป.ช.-“ปู-เฉลิม-โต้ง”ด้วย
ป.ป.ช.ยันไม่มีอำนาจสอบปม“ภักดี” ชี้ส.ว.มีมติไปแล้วไร้เหตุขุดมาถกอีก
“ปานเทพ”แย้ม ป.ป.ช. เตรียมสรุปคดีจ่ายเงินเยียวยาชง กก.ลงมติ ก.ค.