จุฬาฯ ชูโมเดลรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะ ลดต้นทุนได้ 1.9 ล้านบาท/ปี
นักวิชาการจุฬา ชี้ทดลองใช้ 9 ปี รถโดยสารสาธารณะลดต้นทุนการบริการ 1.9 ล้านบาทต่อปี ยันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ มั่นใจศักยภาพแข่งขันกับจีนได้ แนะนักวิชาการสร้างผลงานวิจัยและต้องผลิตชิ้นงานอย่างต่อเนื่อง
30 มิถุนายน 2558 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดแถลงข่าว "จุฬาโมเดลกับรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะ" ณ ห้อง 202 อาคารจามจุรี 4 ชั้น 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.บุญไชย สถิตมั่นในธรรม รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าเป็นเวลากว่า 10 ปี ที่จุฬาฯ ได้เริ่มนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียวและมีวิสัยทัศน์มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืนจนกระทั่งจุฬาฯ ได้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ1ของประเทศในเรื่องมหาวิทยาลัยสีเขียวและโครงการภายใต้นโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียวโครงการหนึ่งที่เป็นรูปธรรม คือการริเริ่มโครงการรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผลงานที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยและพัฒนาของคณะวิศวกรรมศาสตร์ร่วมกับภาคเอกชนด้วยการใช้องค์ความรู้ด้านวิศวกรรมต่างๆในการวิจัยและพัฒนารถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะที่ใช้งานได้จริง และมีระบบการบริหารจัดการที่ใช้ต้นทุนต่ำซึ่งทดลองใช้มาแล้วกว่า 9 ปี ซึ่งในอนาคตองค์กรขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)สามารถนำโมเดลนี้ไปพัฒนาต่อยอดได้
"รถโดยสารไฟฟ้าช่วยลดต้นทุนในการให้บริการได้ 1.9 ล้านบาทต่อปี และยังพบว่าสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในมหาวิทยาลัยได้ 480 ตันต่อปี"
ด้าน ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าที่ผ่านมามักได้ยินคำว่า วิจัยขึ้นหิ้ง หมายความว่า ทำวิจัยเสร็จแล้วเอาไปใช้ไม่ได้ ดังนั้นจึงตระหนักมาโดยตลอดว่าการสร้างงานวิจัยจะต้องเน้นไปในด้านการพัฒนาและสร้างผลิตภัณฑ์ จากการดำเนินงานและการศึกษาเทคโนโลยีจากผู้ประกอบการจริงมาร่วมพัฒนาโครงการนี้อย่างต่อเนื่องจนสามารถพัฒนาและออกแบบรถโดยสารไฟฟ้าที่ให้บริการปัจจุบันแทนรถโดยสารระบบเก่าที่ใช้เชื้อเพลิง
"เราถือว่างานวิจัยชิ้นนี้เป็นต้นแบบให้กับชุมชน ผลงานวิจัยเป็นที่ปรากฏและพัฒนามาใช้งานจริง โครงการนี้จึงเป็นความภาคภูมิใจ"
ดร.บัณฑิต กล่าวด้วยว่า รถโดยสารไฟฟ้าช่วยลดปริมาณการจราจรและการปล่อยมลพิษ ซึ่งรถโดยสารที่จุฬาเลือกใช้เป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า สำหรับเส้นทางสั้นๆภายในมหาวิทยาลัย และรถไฮบริด(เป็นรถที่ใช้ระบบไฟฟ้าและก๊าซแอลพีจี)สำหรับเส้นทางที่ไกลออกไปที่ต้องวนออกไปภายนอก ซึ่งรถทั้งสองประเภทล้วนมีอัตราการปล่อยมลพิษต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่ากังวลสำหรับในอนาคตคือการพึ่งพาเทคโนโลยีด้วยตัวเอง หากคนไทยยังเป็นคนที่ชอบคิดง่ายๆ สักแต่ว่าจะซื้อ ซื้อ อย่างเดียว รับรองว่าลำบาก
“เชื่อว่าคนไทยมีศักยภาพมากพอที่จะเป็นเจ้าของเทคโนโลยีได้เอง เพียงแต่เรายังขาดการสนับสนุน ถ้ามีโอกาสอย่างเพียงพอปัญหาเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น อย่างน้อยๆตอนนี้มั่นใจว่าเราสามารถผลิตรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้าขายต่างประเทศได้”
ขณะที่นายเขมทัต สุคนธสิงห์ ผู้ดำเนินการจัดการบริษัท พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด และบริษัท สิขร จำกัด กล่าวว่า การผลิตรถโดยสารไฟฟ้านั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สิ่งที่ทำให้จุฬาโมเดลสามารถที่จะเป็นรถต้นแบบของรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะ คือ องค์ความรู้ด้านการพัฒนาแบตเตอรี่และการบริหารจัดการด้วยต้นทุนต่ำ และมั่นใจว่าจากการพัฒนาและวิจัยอย่างต่อเนื่องรถไฟฟ้าโดยสารที่จุฬาทำนั้นมีสมรรถนะที่สามารถแข่งขันกับรถโดยสารไฟฟ้าที่ผลิตจากจีนได้แน่นอน
(รถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะ)
(รถระบบไฮบริดที่ใช้ระบบไฟฟ้าร่วมกับระบบก๊าซแอลพีจี)