โอกาสสองต่อในการพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยสำหรับคนจน
มองมุมบวกแนวคิด “คอนโค-อพาร์ทเม้นท์คนจน”ราคาถูกใกล้ระบบขนส่งมวลชน แม้ไม่ใช่รูปแบบสำเร็จรูปสำหรับคนจนทุกกลุ่ม แต่เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับวิถีชีวิตของคนจนจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ การสร้างโอกาสสองต่อในการพัฒนาเมืองควบคู่การแก้ไขปัญหาการไร้ที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองสามารถทำได้ โดยภาครัฐสามารถทำให้กระบวนการเร็วขึ้นได้โดยเข้าไปมีบทบาทในการสนับสนุนกระบวนการประชาสังคมทางด้านการให้องค์ความรู้ และช่วยเป็นตัวกลางในการประสานความช่วยเหลือจากภาคเอกชน
ที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในสี่ปัจจัยพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ ดังนั้นการสร้างกลไกส่งเสริมและสนับสนุนให้คนจนได้มีโอกาสที่จะเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยอย่างถาวรในรูปแบบที่เหมาะสม จึงเป็นสิ่งที่ภาครัฐพึงกระทำ
แนวคิดของนายกรัฐมนตรีในเรื่องของการจัดหาที่อยู่อาศัยราคาถูกใกล้แนวรถไฟฟ้าหรือระบบขนส่งมวลชน จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีความเป็นไปได้ ที่จะตอบโจทย์การช่วยเหลือคนจนในมิติดังกล่าว
แนวคิดดังกล่าว มีความเหมาะสมและสอดคล้องต่อการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ยากจนได้มากน้อยเพียงใดนั้น ดร.นณริฎ พิศลยบุตร นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า หากจะจำแนกคนจนในกรุงเทพฯที่ขาดปัจจัยพื้นฐานเรื่องบ้านหรือที่อยู่อาศัยออกเป็น 2 กลุ่มแบบหยาบๆ คือ กลุ่มคนจนที่อยู่ในชุมชนแออัด กับ กลุ่มคนจนที่ไม่ได้อยู่ในในชุมชนแออัด จะพบว่ากลุ่มคนจนสองกลุ่มนี้จะมีพื้นฐานอาชีพและวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน จึงต้องการรูปแบบของที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกันด้วย
ซึ่งจากไอเดียของนายกรัฐมนตรีที่เสนอมานั้น การจัดหาที่อยู่อาศัยราคาถูกใกล้รถไฟฟ้าหรือระบบขนส่งมวลชนก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสำหรับคนจนจำนวนหนึ่งที่ยังขาดปัจจัยเรื่องบ้านเป็นของตนเอง ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีอาชีพมั่นคงมีรายได้พอสมควรแต่ไม่มากพอจะซื้อบ้านหรือมีที่อยู่อาศัยของตนเองได้ จึงต้องไปหาที่อยู่ราคาถูกซึ่งไกลจากที่ทำงานทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง การมีที่อยู่อาศัยใกล้ระบบขนส่งมวลชนก็จะตอบโจทย์ของคนกลุ่มนี้ได้
อย่างไรก็ตามก็ยังมีเงื่อนไขที่ต้องพิจารณาอีกมาก เช่น จำนวนกลุ่มเป้าหมาย คุณสมบัติ/รายได้ รูปแบบการบริหารจัดการ(คอนโด/อพาร์ทเม้นท์) และการบริหารจัดการในภาพรวม เป็นต้น อย่างน้อยควรให้มีการศึกษาให้ชัดเจนพอสมควรจึงจะทำให้การดำเนินโครงการเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด
ขณะที่ที่อยู่อาศัยในรูปแบบนี้ อาจไม่เหมาะกับกลุ่มคนจนที่อยู่ในชุมชนแออัด ซึ่งมีพื้นฐานมาจากต่างจังหวัดหรือคนกรุงเทพฯบางส่วนที่ไปบุกรุกอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เป็นของภาครัฐบ้าง ของเอกชนบ้าง ทำอาชีพรับจ้าง ค้าขาย หรืออาชีพอิสระต่าง ๆ และคุ้นชินกับการอยู่ในที่อาศัยในแนวราบซึ่งสอดคล้องกับอาชีพและการดำเนินชีวิตมากกว่า เช่น ต้องมีพื้นที่สำหรับเก็บสัมภาระหรือสิ่งของเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ
ทางแก้สำหรับคนจนในกลุ่มนี้นั้น จะอาศัยการสร้างที่อยู่อาศัยแนวดิ่ง เช่น คอนโด หรือแฟลตมาปรับใช้โดยตรงไม่ได้ เนื่องจากที่อยู่อาศัยแนวดิ่งจะไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้ และปัญหาที่คนกลุ่มนี้ประสบอาจจะมีความซับซ้อนที่ต้องอาศัยการแก้ไขปัญหาโดยเริ่มจากชุมชนเป็นหลัก เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมในการแก้ไข
แนวทางในการแก้ไขในลักษณะนี้ได้ถูกดำเนินการอยู่โดย พอช. ผ่านโครงการบ้านมั่นคง ซึ่งเน้นการทำกระบวนการสังคมที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการแก้ไขปัญหาหรือตอบสนองความต้องการของชุมชนว่าจะพัฒนาไปอย่างไร แต่กระบวนการดังกล่าวมักใช้เวลานานยาวนานร่วม 3 ปี
ดังนั้น ในกรณีที่ภาครัฐต้องการจะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับคนจนในชุมชนแออัด จึงควรที่จะต้องอาศัยกลไกการมีส่วนร่วมเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ยั่งยืนกว่าการสร้างที่อยู่อาศัยแนวดิ่งที่ไม่ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้โดยตรง
ทั้งนี้ ในกรณีที่ภาครัฐต้องการที่จะเร่งกระบวนการในการแก้ไขปัญหาให้รวดเร็วขึ้น เช่นในกรณีที่พื้นที่ที่ชุมชนแออัดอาศัย อยู่ทับเขตการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งทำให้การเข้ากระบวนการชุมชนข้างต้นอาจจะไม่สามารถตอบโจทย์ในเงื่อนเวลา ในกรณีนี้ ภาครัฐควรหาวิธีการในการลดขั้นตอน กระบวนการ ที่ภาครัฐสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ ตัวอย่างเช่น ภาครัฐสามารถเข้ามาเป็นตัวกลางในการจัดกระบวนการชุมชนเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันกับพอช. และท้องถิ่น ภาครัฐสามารถช่วยเรื่องการออกแบบชุมชน ที่อยู่อาศัย ที่เหมาะสมทั้งในเรื่องความสอดคล้องต่อการใช้ชีวิตร่วมกันในชุมชน ความคงทนของวัสดุก่อสร้าง ความยั่งยืนคือสามารถใช้ได้นาน และรองรับการใช้ชีวิตในบั่นปลาย ภาครัฐยังสามารถช่วยในการเป็นตัวกลางเพื่อประสานงานระหว่างชุมชนที่ประสบปัญหา กับบรรษัทภิบาลของภาคเอกชน ในการจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ก่อสร้าง และเงินบริจาค ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนทำให้กระบวนการมีโอกาสประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น
กล่าวโดยสรุป แนวความคิดในเรื่องของการสร้างคอนโดราคาย่อมเยาใกล้รถไฟฟ้า สามารถที่จะตอบโจทย์คนจนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยได้ดีเฉพาะ กลุ่มคนจนที่พอมีฐานะ มีอาชีพทีค่อนข้างมั่นคง แต่มีรายได้ที่ต่ำไม่เพียงพอที่จะซื้อบ้าน หรือคอนโดในปัจจุบัน แต่แนวคิดดังกล่าว ไม่เหมาะสมกับวิถีชีวิตคนจนในชุมชนแออัดที่คุ้นชินกับการอาศัยในที่อยู่อาศัยแนวราบมากกว่า
ทั้งนี้ การผลักดันไปสู่ภาคปฏิบัติสำหรับการพัฒนาคอนโดแนวดิ่งสำหรับคนจนกลุ่มแรกยังคงต้องอาศัยการศึกษาวิจัยในหลายประเด็นเพื่อที่จะให้โครงการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด สำหรับการผลักดันการแก้ไขปัญหาสำหรับชุมชนในพื้นที่แออัดนั้น กลไกในการแก้ไขปัญหาที่ดีมีอยู่แล้ว คือ กระบวนการทางสังคมที่ให้คนในชุมชนเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา บทบาทที่จำเป็นสำหรับภาครัฐในส่วนนี้ จะอยู่ในรูปของการช่วยเหลือให้ความรู้ในส่วนที่ชุมชนขาด และช่วยเป็นตัวกลางในเรื่องของการประสานความช่วยเหลือจากภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยร่นระยะเวลาของกระบวนการให้รวดเร็วยิ่งขึ้น และสามารถตอบโจทย์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้ในกรณีที่ปัญหามีความคาบเกี่ยวกัน.