ผอ.สถาบันสิ่งแวดล้อมฯ ฉะรัฐละเลยบทบาทสตรี เชื่อมั่นเป็นผู้นำรักษ์ สวล.ได้
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยจับมือ บ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง เปิดแคปเปญ ‘ภุมรี พลังสตรี...พลังรักษ์สิ่งแวดล้อม’ หวังให้ผู้หญิงเป็นพลังหลักรักษาทรัพยากร ‘ดร.สุเมธ’ ฝากทุกฝ่ายร่วมอนุรักษ์-ใช้เกิดประโยชน์สูงสุด ก่อนสายเกินไป
วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2558 บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จัดเสวนาเปิดตัวโครงการ "ภุมรี พลังสตรี...พลังรักษ์สิ่งแวดล้อม" ณ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวเปิดงานและปาฐกภาพิเศษความตอนหนึ่งถึงพลังสตรี เพศหญิงนั้นมีความเป็นผู้นำเสมอทั้งในธรรมชาติและโครงสร้างสังคม ไม่ว่าจะเป็นใคร เราก็ได้รับอิทธิพลมาจากเพศแม่ทั้งสิ้น และการที่ได้เปิดโอกาสให้ผู้หญิงขึ้นมานำกิจกรรมต่าง ๆ นั้นเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม และฝากให้ทุกคนช่วยกันดูแลรักษาและใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดก่อนจะสายเกินไป
จากนั้นมีการเสวนาในหัวข้อ " พลังสตรี...พลังรักษ์สิ่งแวดล้อม" ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผอ.สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า วัฒนธรรมไทยเป็นส่วนหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อบทบาทสตรี เฉกเช่นเดียวกับการมีความรู้ที่นำไปถึงการสร้างความเป็นผู้นำ ในสังคมไทยบทบาทของผู้ชายจะเน้นไปที่การประกอบอาชีพ โดยเฉพาะในชนบทผู้ชายจะย้ายถิ่นฐานเข้าไปทำงานอยู่ในเมือง คนที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนส่วนใหญ่จึงเป็นผู้หญิง ซึ่งเป็นพลังหลักในการรักษาทรัพยากรในพื้นที่
ทั้งนี้ ยังเป็นอีกแรงสนับสนุนและขับเคลื่อนการทำงาน ดังนั้นจึงต้องมอบความรู้ให้แก่พวกเขารวมตัวกันไปพัฒนาชุมชนจนเกิดเป็นชุมชนต้นแบบด้วยโครงการหลากหลาย อาทิ โครงการจัดการป่าชุมชน การสร้างอาชีพในชุมชน เป็นต้น แต่ในปัจจุบันการสนับสนุนบทบาทสตรีจากภาครัฐนั้นยังคงน้อยกว่าภาคเอกชน
“เรื่องของผู้หญิง เป็นเรื่องที่องค์กรอื่นๆ มักไม่ใส่ใจ ส่วนใหญ่งานของสตรีจะเกี่ยวข้องกับภาครัฐ แต่ภาครัฐให้รางวัลบทบาทสตรีเสร็จหนึ่งครั้งแล้วก็หายไปทั้งปี ไม่เหมือนกับภาคเอกชนที่สนับสนุนการทำงานในหลาย ๆ ด้าน” ดร.ขวัญฤดี กล่าว
ด้านนางรตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุถึงการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมว่าเป็นงานของทั้งเพศชายและเพศหญิงที่ทำร่วมกัน ซึ่งจะสำเร็จได้ต้องได้รับแรงสนับสนุนจากสถาบันครอบครัวที่ต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพราะงานด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นงานที่กินระยะเวลานาน
ขณะที่ ดร.ดาริน คล่องอักขระ บรรณาธิการข่าวอากาศและภัยพิบัติ สถานีโทรทัศน์ Thai PBS กล่าวเสริมว่า ขณะที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง อาทิ ปัญหาสภาวะภัยแล้งในประเทศไทยขณะนี้ ผู้คนต่างเดือดร้อน แต่ลืมนึกถึงการรักษาต้นตอของปัญหา นั่นก็คือป่า เพราะถ้าไม่มีป่าปัญหาน้ำก็จะตามมา และการปลูกป่าที่ดีที่สุดก็คือการที่เราไม่ต้องปลูกเลย แต่ทำด้วยรักษา ซึ่งเป็นวิธีที่ยากกว่า คือทำอย่างไรจะช่วยรักษาและขยายป่า
ขณะที่ความต้องการในการใช้พื้นที่ของเราเพิ่มขึ้นได้ อยากให้สื่อมวลชนทุกศึกษาหาข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น บูรณาการเรื่องสิ่งแวดล้อมให้เข้าถึงตัวทุกคนได้ง่าย เพราะมันเป็นสิ่งที่ใกล้ตัว แต่เราไม่เคยรู้ตัว ประชาชนจะได้เข้าใจและหันมาช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น
“ขณะนี้คนกรุงเทพยังไม่ตระหนักเท่าไหร่ เพราะเรายังไม่เดือดร้อน แต่ถ้าเมื่อไหร่เราเหมือนกับชาวนาที่น้ำในคลองแห้งสนิท เราอาจจะเริ่มรู้สึกตัวขึ้นมาได้” ดร.ดาริน กล่าวในที่สุด .