นักวิชาการชี้10ปีมีเดียมอนิเตอร์กระตุ้นสื่อทำงานอย่างระมัดระวัง
ยุคภูมิทัศน์สื่อใหม่ ยุคสื่อหลอมรวม ผอ.สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. หนุนมีเดียมอนิเตอร์เป็นองค์กรที่มีอิสระ มีการบริหารงาน งบประมาณชัดเจน หวังเป็นกลไกหลักเกาะติดการทำงานของสื่อ ชี้ที่ผ่านมามีบทบาทเด่นทำคนรู้เท่าทันสื่อ
29 มิถุนายน 2558 มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา (Foundation for Media Studies) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดสัมมนาวิชาการ “หนึ่งทศวรรษ มีเดียมอนิเตอร์ บทเรียน ประสบการณ์ ชุดความรู้” ณ ห้องประชุมชั้น10 และ ชั้น 11 อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. เป็นปาฐกนำในหัวข้อ “Media Monitor กับการสร้างสุขภาวะสังคม”
รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวตอนหนึ่งถึงบทบาทการสื่อสารในงานสร้างเสริมสุขภาพนั้น มีบทบาทในการทำให้ทุกๆ คนเป็นเจ้าของสุขภาพตัวเอง หัวใจสำคัญคือ การทำให้ปัจจัยแวดล้อมรอบตัวแต่ละคนเอื้อให้คนๆ นั้นสามารถที่จะอยู่ได้ เลือก และตัดสินใจวิถีชีวิตที่ดีหรือมีสุขภาพที่ดีได้ด้วยตัวเอง
"งานในรูปแบบ สสส.หรืองานเครือข่ายเพื่อสังคมพยายามสร้างปัจจัยแวดล้อมรอบตัวให้เหมือนส่งเสริมให้คนมีสุขภาพที่ดี จะเห็นได้ว่างานสื่อสารมีบทบาทที่เข้าไปส่งเสริมให้กับคนมีสุขภาพดีอยู่ 3 ประการ คือ ประการแรก ทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพลงไปสู่ตัวปัจเจกบุคคลในแต่ละคน เช่น งานด้านการรณรงค์ สื่อวิชาการต่างๆ"
ดร.วิลาสินี กล่าวว่า ประการที่สองคือการสื่อสาร ซึ่งถือว่างานด้านมีเดียมอนิเตอร์ (media monitor) มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย ในเรื่องการเข้าไปทำให้คนรู้เท่าทันสื่อได้ด้วยตัวเอง หรือการที่ทำให้เฝ้าระวังสื่อได้ ส่งผลให้การเป็นนักสื่อสารสามารถทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีขึ้น และประการที่สาม คือการจับมือกับสื่อทุกรูปแบบทั้งในแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทำให้เกิดระบบสื่อที่เป็นรูปแบบที่มีสุขภาวะ หรือคนที่มีความคิดความอ่านที่ดีขึ้น
ผอ.สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวอีกว่า ในปี 2550 ทางมีเดียมอนิเตอร์มีการเสนอผลการศึกษาสื่อกับการสร้างความเป็นพลเมือง นับว่าเป็นการเปิดการศึกษาครั้งแรกในประเทศไทย จนเกิดเป็นทีวีสาธารณะ ในปี 2551 เกิดกระบวนการนำเสนอระบบสื่อที่พึงปรารถนา ถัดมาในปี 2553 เกิดเวทีขับเคลื่อน เกิดการผลักดันองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคสื่อที่เป็นอิสระ และในปัจจุบัน 2558 คิดว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ ได้กฎหมายกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งกำลังรอแผนแม่บทปฏิรูประบบสื่อ โดยในการขับเคลื่อนแผนแม่บทนี้ต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายอีกมาก โดยเฉพาะมีเดียมอนิเตอร์ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการร่วมผลักดัน
“ผลงานของมีเดียมอนิเตอร์จะก่อให้นักวิชาชีพเกิดความตระหนัก และระมัดระวังในการทำงานมากขึ้น เพราะรู้ว่ามีองค์กรด้านการตรวจสอบ ติดตามสื่ออย่างใกล้ชิด องค์กรวิชาชีพสื่อก็มีความร่วมมือกับมีเดียมอนิเตอร์ในหลายประเด็นสำคัญที่ต้องการขับเคลื่อนทางสังคมและการผลักดันให้กระบวนการปฏิรูปสื่อก้าวหน้า”
รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวถึงข้อเสนอใหญ่ที่ทางวิจัยต้องการ คือการทำให้มีเดียมอนิเตอร์เป็นองค์กรที่มีอิสระ มีการบริหาร และมีงบประมานที่ชัดเจน และในความท้าทายของมีเดียมอนิเตอร์ คือการทำอย่างไรที่จะทำให้เครื่องมือในการทำงานศึกษาติดตามการทำงานของสื่อ กลไกในการมอนิเตอร์ ระเบียบวิธีวิจัยต่างๆ ที่ได้ริเริ่มและใช้งานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทุกอย่างจะหมุนไปได้ต้องมีกลไกของงบประมาณที่แน่นอน จึงเป็นที่มาของการตั้งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวถึงทิศทางยุทธศาสตร์ของงานส่งเสริมระบบสื่อมีการวางแผนการดำเนินการ 3 อย่างคือ 1.เรื่องของภูมิทัศน์สื่อใหม่ ยุคหลอมรวมสื่อ ยุคผู้ใช้ผลิตประสบการณ์ 2. ส่งเสริมด้านการมีทักษะการสื่อสาร ควบคู่กับความรับผิดชอบ และ3. สร้างพลเมืองตื่นรู้บนรากฐานปัญญา และจริยธรรม เพื่อทันกระแสการเรียนรู้ ที่ผ่านมาทางมีเดียมอนิเตอร์มีสถานะเป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนเป็นรายปี แต่จะเป็นข้อจำกัดในการเติบโตและความมั่นคงขององค์กรระยะยาว ดังนั้น จึงมองหาความเหมาะสมที่จะทำให้มีเดียมอนิเตอร์ได้เข้าไปอยู่ในระบบหลักของสังคม และเป็นสถาบันที่สามารถทำงานต่อเนื่องได้ในระยะยาว