นักวิชาการยัน3ปี กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น หวังจับมือมหาวิทยาลัยในพื้นที่แก้ปัญหาการศึกษา
นักวิชาการชี้ไทยหลุดจากประเทศมีรายได้น้อยมานานกว่า10ปี เด็กต้องมีคุณภาพ ระบุปัญหากลับสวนทางพบเด็กกว่า 30% ต้องการความช่วยเหลือ เผยเด็กไทยติดอยู่ในโลกโซเชียลเกินวันละ 4 ชั่วโมง แนะดึงมหาวิทยาลัยและท้องถิ่นร่วมแก้ไขปัญหา
เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันรามจิตติ โดยโครงการ Child Watch ร่วมกับศูนย์วิจัย Child Watch ระดับภาค จัดงานเวทีนโยบาย “รวมพลังขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้ยั่งยืน”พร้อมเปิดวงเสวนา “สรุปบทเรียนการพัฒนาเด็กเยาวชนบนฐานข้อมูลความรู้ สู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย” และแถลง “ทิศทางการพัฒนาเด็กเยาวชนไทยบนฐานความรู้”ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์
ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการเฝ้าระวังโรคระบาดของกระทรวงสาธารณะสุข (สธ.)ขณะนี้ หลายประเทศให้ความเชื่อถือว่าประเทศไทยมีระบบการเฝ้าระวังที่ดี ดังนั้น จะทำอย่างไรให้การเฝ้าระวังเด็กและเยาวชนมีระบบที่ดีเช่นเดียวกับการเฝ้าระวังโรคระบาดเนื่องจากเด็กและเยาวชนเป็นกำลังสำคัญของประเทศ อีกทั้งหากมองปัญหาด้านสังคมการเฝ้าระวังดูแลเด็กและเยาวชนจึงเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวอยู่ในวงกว้าง การระบาดของความเสี่ยงจึงรุนแรงมากกว่า ฉะนั้น หากพิจารณาเชิงโครงสร้างในระดับจังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ปฏิบัติการเป็นผู้เฝ้าระวังดูแลจัดการที่ดีและสำคัญที่สุดส่วนระดับประเทศเป็นเพียงโหนดหลักในการส่งต่อเชิงนโยบายเท่านั้น
ดร.เจือจันทร์ กล่าวยด้วยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องเด็กและเยาวชนมาก ในอนาคตอันใกล้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว เมื่อการเกิดของเด็กลดลงแต่ความคาดหวังที่จะให้เด็กและเยาวชนเป็นพลังสำคัญขับเคลื่อนประเทศจึงเป็นเรื่องที่น่าคิด โดยรัฐได้มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดูแลคนตลอดช่วงวัย ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ แต่ก็ไม่สามารถทำงานเพียงลำพังได้ ต้องทำงานเชิงบูรณาการกับกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้น ในช่วงวัยต่างๆ จึงต้องรีบเร่งบูรณาการทำงานร่วมกัน
"ในระดับชาติรัฐเป็นผู้ให้นโยบาย การสนับสนุน และมาตรการต่างๆ แต่การแก้ปัญหาอยู่ที่ระดับพื้นที่ จังหวัดและท้องถิ่น เนื่องจากอยู่ใกล้ตัวเด็กเยาวชนและชุมชนมากที่สุด ดังนั้น การมีระบบฐานข้อมูลจากส่วนล่างสำคัญและเป็นประโยชน์มาก อีกทั้งการมีเครือข่ายของจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นต้องร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่จัดทำมาตรการเสนอแนวทางการประสานความร่วมมือจากระดับจังหวัดขึ้นมาสู่ระดับประเทศ เพื่อให้ข้อมูลเป็นปัจจุบันที่สุดในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายได้"
ด้านนพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศโครงการ Child Watchกล่าวว่า ประเด็นสำคัญในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้ยั่งยืนประเด็นแรกต้องทำให้วิธีการของข้อมูลเป็นมิตรกับผู้ใช้ และเป็นระบบข้อมูลภาคสังคมที่อธิบายเหตุการณ์ได้ ประเด็นที่สองข้อมูลที่โฟกัส ลึก ตรงจุดของปัญหา เช่น ประเทศไทยถูกปลดออกจากประเทศที่มีรายได้น้อยมากว่า10 ปีแล้ว โดยสามัญสำนึกเมื่อประเทศรวยขึ้น เด็กก็ต้องคุณภาพดีขึ้น แต่ปัญหากลับสวนทาง ยังแก้ปัญหาได้ไม่ดีพอ จำนวนเด็กและเยาวชน กว่า 30% ยังต้องการความช่วยเหลือสูงมากดังนั้น ข้อเสนอแนะสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1.ข้อมูลเชิงลึก 2.Child Watch ต้องเปิดข้อมูลปัญหาใหม่ๆ ที่เป็นช่องโหว่และยังไม่มีองค์กร หน่วยงานใดทำเช่น เรื่องวัยเรียน การใช้เวลาของเด็ก จากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ซึ่งสามารถนำมาแก้ไขปัญหาได้ทุกฝ่าย ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่มีคุณค่ามาก เป็นต้น
ขณะที่ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาโครงการ Child Watch และเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น8,000แห่งลุกขึ้นมาทำเรื่องเด็กและเยาวชนบนโจทย์สำคัญ คือ ครอบครัว โรงเรียน และชุมชน พร้อมกันอย่างเป็นระบบเชื่อว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงในทันที โดยสิ่งเหล่านี้จะเกิดได้ต้องอาศัยการจัดการ ท้องถิ่นต้องพร้อม เข้าใจเรื่องข้อมูลการตีความหมาย และการนำไปใช้ ฉะนั้น ท้องถิ่นเป็นหัวใจที่สำคัญมาก ทั้งนี้ จาการศึกษาวิจัยพบข้อค้นพบใหม่นอกจากครอบครัว โรงเรียน และชุมชน เป็นสมรภูมิที่ 4คือ โลกไซเบอร์ เด็กกว่า 30% อยู่ในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ตเวิร์ค เกิน 4 ชั่วโมงต่อวัน เล่นเฟส ไลน์ ทำร้ายกันด้วยวาจาระบายอารมณ์ผ่านโลกไซเบอร์ ไม่ต้องแสดงตัวตน อยู่ในวังวนความรุนแรง ซึ่งควรเจาะลึกถึงปัญหา เพราะเด็กมีความเครียดมากต้องแก้ไขอย่างเป็นระบบ
ดร.อมรวิชช์ กล่าวด้วยว่า ถึงเวลาดึงมหาวิทยาลัยกลับมาเพื่อท้องถิ่น โดยการพัฒนาศูนย์ข้อมูลเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เป็นการพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการกระจายอำนาจ จึงต้องมีระบบการจัดการข้อมูลที่ชัดเจนรองรับก่อนการกระจายอำนาจ โดยทิศทางการดำเนินการจากนี้ไป รัฐบาลได้กันงบประมาณไว้ 10,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ ราชมงคล เนื่องจากรัฐบาลต้องการสร้างการมีส่วนร่วมให้ลงไปยังท้องถิ่น อาศัยการจัดการในพื้นที่ โดยมหาวิทยาลัยจะต้องเปลี่ยน ปรับ และเพิ่มบทบาทสำคัญใน 2 เรื่อง คือ 1)การเป็นศูนย์ข้อมูลเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น 2)การพัฒนาศักยภาพครูในท้องถิ่น ให้มหาวิทยาลัยราชภัฏกลับมาทำหน้าเป็นเหมือนวิทยาลัยครูในอดีต ส่งเสริมการเรียนรู้ใช้ระบบโค้ชชิ่ง โดยออกแบบทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยท้องถิ่นทั้ง 9 กลุ่ม และมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งนี้ ทิศทางการกระจายอำนาจเกิดแน่นอน ภายใน 3 ปี ดังนั้น จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายและเป็นของจริงที่พื้นที่ต้องตั้งรับ โดยมหาวิทยาลัยต้องมาเป็นที่พึ่งหลักให้กับการพัฒนาพื้นที่ เนื่องจากเป็นหน้าที่โดยตรงของมหาวิทยาลัย
ส่วนรศ.ดร.สมบัติ คชสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ในฐานะประธานอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มภาคกลาง ได้มีการประชุมร่วมกันและเห็นตรงกันว่า ด้วยบทบาทมหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อท้องถิ่นอยู่แล้ว ดังนั้น การกระจายตัวของ มรภ. ซึ่งมีพื้นที่ในการให้บริการกับท้องถิ่น ชุมชน ทั่วประเทศจึงเป็นหน้าที่ของเราในการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาท้องถิ่น การพัฒนาครู ด้วยนโยบายของภาครัฐที่ต้องการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น จึงต้องอาศัยข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อเป้าหมายที่ชัดเจน ดังนั้น การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น จึงตรงกับบทบาทภารกิจของมหาวิทยาลัยที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ ท้องถิ่น โดยพร้อมที่สานพลังในการร่วมกันทำงานเพื่อประเทศชาติต่อไป
และนางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าข้อมูลของ Child Watch เป็นข้อมูลเชิงนวัตกรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชน ที่ช่วยทำให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหา และพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ซึ่งสามารถดำเนินการได้หลายระดับ ตั้งแต่การนำเสนอข้อมูลเพื่อแสดงสถานการณ์ของเด็ก และเยาวชน การนำผลไปพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่น ระดับจังหวัด และระดับประเทศผ่านการทำงานร่วมกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเครือข่ายวิชาการ ซึ่งเป็นนักวิจัยในมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น และมหาวิทยาลัยราชภัฏใน 7 ภูมิภาค และ สสส.คาดหวังว่าด้วยเครือข่ายนักวิจัยที่ Child Watch ได้สร้างขึ้นนี้จะเป็นพลังสำคัญที่ช่วยให้เกิดกลไกทางวิชาการที่จะเป็นพลังในด้านข้อมูลเพื่อการพัฒนาเด็กเยาวชน ครอบครัว ชุมชนและสังคม ในระดับพื้นที่และระดับประเทศต่อไป