คนนอกคุมอัยการ
ตามที่มีการลงข่าวเกี่ยวกับการร่วมลงชื่อข้าราชการฝ่ายอัยการเพื่อคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำหนดให้ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เป็นบุคคลภายนอกทั้งไม่เคยเป็นอัยการมาก่อน และกำหนดให้มีคณะกรรมการ คนนอกไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม โดยข้าราชการฝ่ายอัยการเห็นว่าโครงสร้าง ก.อ. ดังกล่าวเป็นการแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระของอัยการอันจะทำให้กระบวนการยุติธรรมฝ่ายอัยการไม่อาจเป็นไปโดยอิสระและคุ้มครองเสรีภาพแก่ประชาชนได้
ทั้งนี้ นายเจษฎ์ โทณะวณิก กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ให้เหตุผลว่า การกำหนดให้ประธาน ก.อ. มาจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกเป็นกรรมการ ก.อ. ในสัดส่วน 1 ใน 3 เนื่องจากต้องการเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของอัยการ และเท่าที่ผ่านมาประชาชนไม่ได้รับรู้ถึงการทำงานของกระบวนการยุติธรรมเท่าใดนัก ทำให้จำเป็นต้องสร้างกระบวนการในการมส่วนร่วมและสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ดังจะเห็นได้จากการมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกเข้ามาเป็นคณะกรรมการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ซึ่งการให้บุคคลภายนอกเข้ามาเป็น ก.อ. ก็อยู่บนพื้นฐานของเหตุผลนี้ ในเชิงการทำงานแน่นอนว่าการตัดสินใจในเรื่องหนึ่งเรื่องใดของคณะกรรมการ ก.อ. ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกไม่สามารถกุมทิศทางใดๆ ได้ เท่าไรนัก แต่ที่ต้องการมีคนนอกให้มาเป็นกรรมการ ก.อ. ก็เพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลเท่านั้น
ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า สาเหตุที่คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธาน ก.อ. มาจากข้าราชการอัยการทั้งในอดีตและปัจจุบัน เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับข้อคิดจากหลายฝ่ายว่าการให้อัยการสูงสุดโดยตำแหน่งเข้ามาเป็นประธาน ก.อ. จะมีผลให้อัยการสูงสุดมีอำนาจมากเกินไป โดยอัยการสูงสุดมีหน้าที่ในการวินิจฉัยคดีที่ต้องฟ้องต่อศาลด้วย ดังนั้น หากให้อัยการสูงสุดเป็นประธาน ก.อ. เท่ากับว่าอัยการสูงสุดจะคุมอำนาจทั้งการวินิจฉัยคดีและการบริหารงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการทำงานของอัยการ จึงจำเป็นต้องปรับปรุงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ
ส่วนการให้คนนอกมาดำรงตำแหน่งกรรมการ ก.อ. ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ก.อ. ทั้งหมด เพราะคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ต้องการให้คนนอกเข้ามามีส่วนร่วมและตรวจสอบการทำงานของอัยการ
การที่ไม่ให้อัยการสูงสุดเป็นประธาน ก.อ. นั้น เป็นเหตุผลที่ทางอัยการรับได้และเคยมีมาก่อนแล้ว โดยให้อัยการเลือกอดีตอัยการสูงสุดหรืออดีตรองอัยการสูงสุดหรืออดีตอธิบดี เป็นประธาน ก.อ. ซึ่งในทางปฏิบัติอัยการจะเลือกอดีตอัยการสูงสุดหรืออดีตรองอัยการสูงสุด เป็นประธาน ก.อ. เพราะคนที่จะมาบริหารองค์กรอัยการจะต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญงานของอัยการมิใช่ใครก็ได้ที่จะมาเป็นประธาน ก.อ. เช่นเดียวกับวิชาชีพอื่น ๆ เช่น แพทย์ บัญชี อาจารย์ วิศวะ เป็นต้น ถ้าเอาบุคคลอื่นมาควบคุมวิชาชีพเฉพาะย่อมไม่เกิดผลดีต่อวิชาชีพนั้นๆ
องค์กรอัยการเป็นองค์กรหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมต้องมีความเป็นอิสระต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการให้ความเป็นธรรมตามหลักนิติธรรมและหลักนิติรัฐ มิใช่การบริหารทางการปกครองจึงจะให้ใครมาบริหารรับผิดชอบต่อองค์กรอัยการได้
การสั่งคดีในชั้นอัยการสิ้นสุดเฉพาะอัยการเท่านั้น แต่มิได้สิ้นสุดเช่นเดียวกับคำพิพากษา ซึ่งผู้เสียหายที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของอัยการย่อมมีสิทธิไปฟ้องต่อศาลเองได้ คำสั่งของอัยการจึงไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะเพราะมีผลกระทบต่อคู่กรณี กฎหมายจึงกำหนดให้อัยการแจ้งผลคำสั่งให้เฉพาะคู่กรณีเท่านั้น เว้นแต่คดีที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะอัยการจึงจะแถลงคำสั่งให้ประชาชนทราบ ซึ่งแตกต่างจากการพิจารณาคดีของศาลต้องเป็นไปโดยเปิดเผยใครๆ จึงมีสิทธิเข้าฟังการพิจารณาคดีได้ เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งให้พิจารณาลับ กระบวนการยุติธรรมของอัยการกับศาลจึงแตกต่างกัน
ดังนั้น หากจะพัฒนาองค์กรอัยการให้เป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง และป้องกันการสืบทอดอำนาจ กฎหมายต้องให้อัยการเลือกอดีตอัยการสูงสุดหรือรองอัยการสูงสุดที่พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี เป็นประธาน ก.อ.
นอกจากนี้ การให้บุคคลภายนอกมาเป็นประธาน ก.อ. เท่ากับเป็นการเพิ่มอำนาจให้อัยการสูงสุดมากขึ้นและทำให้อัยการสูงสุดปลอดจากการรับผิดชอบ เพราะบุคคลภายนอกไม่รู้งานอัยการ ดังนั้น การตัดสินใจในการประชุมประธาน ก.อ. ย่อมรับฟังความเห็นจากอัยการสูงสุดและย่อมตัดสินใจตามที่อัยการสูงสุดต้องการ จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งที่จะให้บุคคลภายนอกมาเป็นประธาน ก.อ. ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากบุคคลภายนอกก็ควรมีแต่ต้องมีเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบัน ก็มี ก.อ. จากบุคคลภายนอก คือ
1. มาจากการเลือกของวุฒิสภา จำนวน 2 คน เหตุผล คือความเชื่อมโยงมาจากประชาชน
2. มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรี จำนวน 1 คน เหตุผล คือ ความเชื่อมโยงระหว่างรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร
3. มาจากผู้คุณทรงวุฒิด้านการงบประมาณ ด้านการพัฒนาองค์กร หรือด้านการบริหารจัดการตามที่กรรมการอัยการเลือกมา 1 คน เหตุผล คือ เพื่อองค์กรอัยการมีความสามารถพัฒนาองค์ในด้านงบประมาณและบุคลากรได้อย่างเหมาะสม
กรรมการ ก.อ. ผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกเท่ามีอยู่จึงเหมาะสมตามความจำเป็นแล้ว การที่กรรมาธิการอ้างว่าให้มีกรรมการ ก.อ. ผู้ทรงคุณวุฒิไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เพื่อจะมาควบคุมการทำงานของอัยการการนั้นไมมีเหตุผลในทางวิชาการที่อ้างได้ว่าในปัจจุบันตำแหน่ง ก.อ. คนนอกที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่เหมาะสมอย่างไร
นอกจากการบริหารองค์กรแล้ว ก.อ. ยังมีหน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การแต่งตั้ง โยกย้าย และการลงโทษทางวินัย ซึ่งจำเป็นต้องรู้งานของอัยการจึงจะพิจารณาได้อย่างเที่ยงธรรมและเป็นไปตาลำดับอาวุโสทั้งระบบคุณธรรม หากมี ก.อ. ผู้ทรงวุฒิที่ไม่มีความรู้ในงานของอัยการจะทำให้มีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการได้ และส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ของอัยการไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะผู้ไม่รู้ระบบงานอัยการ ก็ย่อมจะฟังความเห็นของอัยการสูงสุด การเพิ่ม ก.อ. ผู้ทรงวุฒิให้มากขึ้นเป็นการแฝงตัวในการเพิ่มอำนาจให้อัยการสูงสุดอย่างที่อัยการสูงสุดไม่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมและองค์กรแต่ ประการใด
การเพิ่ม ก.อ. ผู้ทรงคุณวุฒิโดยไม่มีเหตุผลทางวิชาการ จึงเป็นอันตรายต่อกระบวนการยุติธรรมก่อนนำคดีขึ้นสู่ศาลอย่างยิ่ง
จึงใคร่ขอให้ผู้มีหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ หากท่านยังต้องการความเป็นธรรมและ ความยุติธรรมอย่างแท้จริง ก็ขอให้โปรดทบทวนการและแก้ไข อย่าให้คนนอกมาเป็นประธาน ก.อ. และอย่าเพิ่ม ก.อ. ผู้ทรงคุณวุฒิมากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบันก็เหมาะสมแล้ว เพราะมีมากกว่า ก.ต. (คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม) อยู่แล้ว
ขอบคุณภาพประกอบจาก : http://sobrajakan.com/article/topic-44122.html