สมัชชาสุขภาพอุบล ชงตั้งองค์กรอิสระจัดการภัยพิบัติ-สร้างเครือข่ายประชาชนระวังภัย
ภาคประชาชนอุบลฯ โหมโรงก่อนเวทีสมัชชาสุขภาพชาติปลายปี ติวเข้ม “รับมือภัยพิบัติ จัดการภัยสุขภาวะ” ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมจัดการน้ำระดับท้องถิ่นถึงชาติ แนะ กสทช.ลงโทษหนักโฆษณาลวงอาหารและยาทางวิทยุ-เคเบิ้ลท้องถิ่น-ทีวีดาวเทียม
เร็วๆนี้ ที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ร่วมกับ เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานี จัดเวทีรับฟังความเห็นต่อร่างข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 วันที่ 19-21 ธ.ค.54 ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ภายใต้ประเด็นหลัก “รับมือภัยพิบัติ จัดการภัยสุขภาวะ”
ในเวทีมีการระดมสมองในประเด็นสุขภาพที่สำคัญ อาทิ ประเด็นการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง ที่ประชุมเสนอว่าจากเดิมที่กรมป้องกันและบรรเทาสารณภัยเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดการภัยพิบัติ ควรให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โดยมีการจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อจัดการภัยพิบัติโดยตรง และมีภาคีเครือข่ายต่างๆร่วมแจ้งเตือนภัย เช่น เครือข่ายวิทยุภาคประชาชน รวมทั้งมีงบประมาณสนับสนุนให้ภาคประชาชนทำงานได้คล่องตัวเป็นรูปธรรม ไม่ใช่การดำเนินการในลักษณะอาสาสมัครอย่างที่เป็นอยู่
ประเด็นการจัดการลุ่มน้ำขนาดเล็กอย่างยั่งยืน ที่ประชุมเสนอให้เครือข่ายผู้ใช้น้ำมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบาย และเสนอให้เครือข่ายผู้ใช้น้ำมีส่วนร่วมจัดการลุ่มน้ำขนาดใหญ่ด้วย เพราะพื้นที่ลุ่มน้ำทั้งเล็กและใหญ่เชื่อมโยงและทับซ้อนกันอยู่ และต้องมีการจัดสรรงบประมาณและเครื่องมือให้การทำงานในพื้นที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีโครงสร้างการดำเนินงานจากล่างขึ้นบน คือจากพื้นที่ไปสู่นโยบายกลาง และใช้ภูมิปัญญาของชุมชนในการจัดการน้ำด้วย
ประเด็นการจัดการปัญหาโฆษณายาและอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณยาที่ผิดกฎหมาย ทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิ้ลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม ที่ประชุมเสนอให้เกิดกลไกให้ความรู้และสร้างความเข้มแข็งแก่ภาคประชาชน เพื่อเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังปัญหาอย่างจริงจัง รวมทั้งให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดมาตรการและบทลงโทษที่ชัดเจนสำหรับสื่อมวลชนที่สร้างปัญหาดังกล่าว
ประเด็นการจัดการปัญหาการฆ่าตัวตาย มีการเสนอให้ผู้ป่วยทางจิต กลุ่มเสี่ยง และประชาชนทั่วไป มีสิทธิได้รับการคุ้มครองและเข้าถึงบริการทางสุขภาพจิตอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เนื่องจากผู้ฆ่าตัวตายกลุ่มใหญ่คือผู้ป่วยทางจิต ผู้มีปัญหาซึมเศร้า และผู้ใช้สารเสพติดและสุรา นอกจากนี้ควรป้องกันปัญหาโดยเน้นการพัฒนาระบบการช่วยเหลือเชิงรุก เพิ่มภูมิคุ้มกันทางจิต ฝึกทักษะให้คนทั่วไปมองเห็นคุณค่าในตนเอง
ประเด็นการจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ แม้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์จะสามารถผลิตชุดทดสอบสารโพลาร์ ซึ่งเป็นสารพิษในน้ำมันทอดซ้ำแล้ว แต่ยังหาซื้อยากและทดสอบยาก ที่ประชุมจึงเสนอให้ผลิตชุดทดสอบที่ใช้ง่าย โดยขอให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ผลิตและกระจายในวงกว้าง เพื่อให้หาซื้อง่าย ราคาถูก สามารถนำไปทดสอบได้เองในครัวเรือน ว่าน้ำมันที่ใช้อยู่เสื่อมสภาพหรือยัง .
ที่มาภาพ : http://www.wiseknow.com/blog/2009/11/17/3961/#axzz1arIqn9AY