นักวิชาการฉะบริหารน้ำล้มเหลว เหตุไม่มีพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ
นักวิชาการไม่วิพากษ์ยุทธศาสตร์โครงการบริหารจัดการน้ำ 9.5 แสนล้านคสช.ชี้ต้องกำหนดวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาระยะยาว แนะเลิกคิดแก้ปัญหาแบบเก่าๆ ทำงานแบบบูรณาการให้ได้
26 มิถุนายน 2558 คณะกรรมการวิจัยและพัฒนาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการดำเนินงานด้านการวิจัย ร่วมกับ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จัดสัมมนานำเสนอข้อมูลทางวิชาการและงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ในกระบวนการนิติบัญญัติ เรื่อง “9.5 แสนล้านบาท อนาคตการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย?” ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2
รศ.ดร.อภิชาต อนุกูลอำไพ นายกสมาคมทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาการจัดการน้ำของประเทศไทยนับวันยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งๆ ที่ไทยลงทุนการก่อสร้างเกี่ยวกับน้ำด้วยงบประมาณจำนวนมากในแต่ละปี จึงเกิดคำถามว่า วันนี้เราเดินไปถูกทาง และสมควรจะทบทวนกำหนดทิศทางใหม่ได้หรือไม่ หลักการของการบริหารจัดการทั่วไปโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับนโยบายระดับชาติ ควรเริ่มด้วยการกำหนดวิสัยทัศน์ระยะยาวเพื่อที่จะได้แปลงวิสัยทัศน์ให้มาเป็นยุทธศาสตร์และแผนงาน
“วิสัยทัศน์คือการตั้งเป้าของประเทศว่าจะสามารถบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาได้ระดับใดภายในระยะเวลาที่กำหนด มีคำกล่าวว่า การมีวิสัยทัศน์ แต่ไม่ทำอะไรเลยคือฝันกลางวัน และการลงมือทำโดยไม่มีวิสัยทัศน์คือฝันร้าย ดังนั้นการกำหนดวิสัยทัศน์เรื่องน้ำของประเทศจึงต้องมาเป็นอันดับแรกในการบริหารจัดการ”
ดร.อภิชาต กล่าวถึงแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ 9.5 แสนล้านของรัฐบาลคสช.มีโอกาสอ่านดูแล้ว แต่ไม่ขอวิจารณ์แผนดังกล่าว เพียงแต่อยากเสนอแนวคิดและหลักการบริหารจัดการน้ำของประเทศบนพื้นฐานของการกำหนดวิสัยทัศน์ โดยจะขอนำวิสัยทัศน์ที่มีการกำหนดในแผนยุทธศาตร์มาเป็นจุดเริ่มต้น
สำหรับวิสัยทัศน์ที่กำหนดในแผนยุทธศาตร์ 9.5 แสนล้านนั้น ดร.อภิชาต กล่าวว่า คือทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดในการอุปโภคบริโภค มีน้ำเพื่อการผลิตที่มั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยน้อยลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุล โดยการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการจัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำทุกลำน้ำสาขาหลักของประเทศไทย 25 ลุ่มน้ำ หากมมองเรื่องการมีส่วนร่วมดูผิวเผินก็เป็นไปตามเจตนารมณ์ แต่ในทางปฏิบัติยังไม่ได้ผลเนื่องจากขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังจากรัฐทั้งในเรื่ององค์ความรู้และงบประมาณ
“ที่ผ่านมาคือมีการประชุมเพียงไม่กี่ครั้ง และการพิจารณาแผนลุ่มน้ำก็ทำหน้าที่คล้ายตรายาง หน่วยงานและวิธีการจัดสรรงบประมาณไม่ได้ยึดแผนลุ่มน้ำเป็นหลัก คณะกรรมการลุ่มน้ำก็ไม่สามารถริเริ่มโครงการของตัวเองได้เพราะไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล ดังนั้นเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องแยกคณะกรรมการลุ่มน้ำออกมาให้อยู่ภายใต้องค์กรกลางที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลและไม่ขึ้นต่อหน่วยงานปฏิบัติใดๆ”
นายกสมาคมทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการระบายน้ำจากเขื่อนด้วยว่า ควรจะมีการทบทวน Rule curve ใหม่ เพราะสถานการณ์เปลี่ยนจากปกติ และควรยุติการระบายน้ำเกินกว่าที่กำหนดมาใช้ในยามฉุกเฉิน เพราะเป็นการเอาน้ำที่จำเป็นสำหรับฤดูกาลในปีต่อไปมาใช้ คล้ายๆ กับทำ OD กับธนาคาร ซึ่งหากมีการจัดสรรน้ำสำหรับภาคการใช้ต่างๆ แล้วการระบายน้ำจากเขื่อนจำเป็นต้องยึดสัดส่วนที่กำหนดในการทำ Rule curve ก็จะมีปัญหาการใช้น้ำมาเกินศักยภาพเนื่องจากรัฐไม่สามารถควบคุมการปลูกพืชของเกษตรกรได้ เพราะเราติดแนวคิดที่จะเป็นครัวของโลกอยู่ สิ่งที่รัฐต้องทำคือการพิจารณาสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อระบายน้ำลงท้ายน้ำอย่างเดียวไม่ต้องเปิดพื้นที่ชลประทานใหม่
ด้านรศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาน้ำเราจะมาคิดแบบเก่า แก้ปัญหาแบบเก่า แล้วใช้แต่กฎหมายเก่าๆ ไม่ได้อีกแล้ว เมืองไทยเป็นเมืองที่ดีแต่หาแพะ แก้ปัญหาไม่ได้ก็หาแพะแล้วปลดออก การทำแบบนี้เป็นการทิ้งปัญหาไว้ บริหารน้ำล้มเลวเพราะไม่มีพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ดังนั้นวันนี้จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ในด้านงานวิจัยเข้ามาเติมเต็มเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว และการทำงานต้องไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างคิด คิดกันคนและแบบทำกันคนละอย่าง งานเลยไม่มาในรูปแบบเดียวกัน
"เราใช้น้ำเยอะ เราเริ่มรู้ถึงข้อจำกัด พอหน้าแล้งมาก็จะเอาน้ำจากเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ดังนั้นวันนี้ต้องหันไปดูต้นน้ำด้วยว่าเป็นอย่างไร"
ดร.สุจริต กล่าวด้วยว่า การบริหารจัดการน้ำต้องเอาเรื่องน้ำไปผูกกับการพัฒนาประเทศจะแยกออกจากกันไม่ได้ รวมทั้งต้องทำให้ช่องว่างระหว่างหน่วยงานที่มีอยู่ขณะนี้เชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดไปองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นหันมาวางแผนแบบมีส่วนร่วม ร่วมกัน
“ปัญหาคือเรามีช่องว่างระหว่างทุกองค์กร เราไม่มีแผนของแต่ละองค์กร ไม่มีงานวิจัย ไม่มีคนที่รู้เรื่องน้ำ เวลาจะแก้ปัญหาก็จับใครไม่รู้มาแก้ พอมีเทคโนโลยีสูงแต่บุคลากรก็ไม่เข้าใจ”
สำหรับงบโครงการในการบริหารจัดการน้ำนั้นจะมีโกงหรือไม่ แก้ปัญหาเรื่องน้ำได้จริงไหม ดร.สุจริต กล่าวด้วยว่า ไม่มีคำตอบ เพียงแต่เห็นว่า โครงการบริหารจัดการน้ำ น่าจะเอามาทำรีวิวใหม่ให้นิยามความมั่นคงทางน้ำ ส่วนทิศทางจะไปทางไหนนั้นยังไม่รู้ก็ควรไปวิจัยให้เรียบร้อยก่อนแล้วค่อยมาสร้างเป็นแผนพัฒนานำมาสู่แผนการจัดการ