เครือข่ายคนทำงานหนุน 'กองทุนประกันสังคม' เป็นอิสระจากระบบราชการ
เครือข่ายประกันสังคมคนทำงานจี้รัฐดันกองทุนประกันสังคมเป็นอิสระ ระบุเป็นกองทุนขนาดใหญ่ ไม่ควรมี ขรก.บริหารฝ่ายเดียว นักวิชาการ มช.แนะจะปฏิรูปทั้งทีต้องคิดไกลถึงอนาคต หนุนเกิดองค์กรระบบสวัสดิการอิสระทั่วประเทศ สร้างทุกภาคส่วนดูเเลร่วม
วันที่ 26 มิถุนายน 2558 เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) จัดสัมมนา ‘ความเป็นอิสระกองทุนประกันสังคม:ยุทธศาสตร์ ทิศทาง และความเป็นไปได้’ ณ ห้องทับทิม โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ
นายบัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ระบุถึงเหตุผลที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ควรเป็นองค์กรมหาชนหรือองค์กรอิสระของรัฐ เพราะ สปส.ดูแลกองทุนขนาดใหญ่ของประเทศที่ไม่ใช่ภาษีประชาชน มูลค่าถึง 1.2 ล้านล้านบาท จึงไม่ควรมีข้าราชการประจำบริหารฝ่ายเดียว นอกจากนี้ยังเพื่อความคล่องตัวในการบริหารหรือบริการอย่างมีธรรมาภิบาลโปร่งใส ลดการขาดแคลนกำลังเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะด้านการเงิน การลงทุน และสร้างโอกาสเพิ่มบุคลากรที่มีคุณภาพ รับผิดชอบต่อประชาชนแท้จริง ที่สำคัญ ต้องทำให้ผู้ประกันตนและนายจ้างมีหลักประกันในการร่วมตรวจสอบ พัฒนาการบริหารหรือบริการระยะยาว
สำหรับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม พ.ศ. 2558 แม้จะเพิ่มเติมให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมมากขึ้น แต่เป็นในรูปแบบส่วนราชการ ซึ่งไม่เกิดหลักประกันระยะยาว อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูป สปส.ให้เป็นองค์กรอิสระอย่างต่อเนื่อง แต่กระทรวงแรงงาน (รง.) กลับคัดค้าน โดยเห็นว่า ที่ผ่านมามีองค์กรอิสระจำนวนมากบริหารงานไม่ประสบความสำเร็จ ประกอบกับตั้งค่าตอบแทนให้เจ้าหน้าที่สูงมาก และต้องใช้เวลาในการแก้ไขกฎหมายนาน ดังนั้นจึงเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.ให้มีองค์กรกำกับตรวจสอบที่เป็นอิสระจาก สปส.แทน
ด้าน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการใช้งบประมาณของ สปส.ค่อนข้างเป็นปัญหาในเรื่องความโปร่งใส เช่น งบประมาณในระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศของสำนักงานกว่า 2,800 ล้านบาท ในปี 2550 งบประมาณให้บุคลากรไปศึกษาดูงานต่างประเทศ 118 ล้านบาท/ปี โครงการจัดซื้อที่ดินและอาคารวัฏจักร ซึ่งผู้บริหารของ สปส.ได้เสนออนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการวงเงิน 500 ล้านบาท หรืองบประมาณการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประกันสังคม 195 ล้านบาท/ปี ดังนั้น การปรับให้องค์กรมีความเป็นอิสระน่าจะนำไปสู่การตรวจสอบและบริหารงบประมาณที่เหมาะสมได้ โดยต้องเปลี่ยนโครงสร้างเป็นองค์การอิสระในรูปแบบองค์กรมหาชน
“พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2558 มีเนื้อหาส่วนใหญ่มุ่งเน้นส่งเสริมสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน อาทิ กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีขาดรายได้ กรณีที่มาของการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรสู่ความเป็นอิสระ ดังนั้นโดยภาพรวมจึงให้คะแนนกฎหมายฉบับนี้เพียง 40 คะแนน จาก 100 คะแนนเต็ม เพราะยังไม่บรรลุเป้าหมายที่แรงงานต้องการ” ประธาน คสรท. ระบุ
นายอนันตชัย คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า สปส.ต้องบริหารจัดการในรูปแบบองค์การมหาชนที่มีการกำหนดทิศทางชัดเจนในรูปแบบการประชุมใหญ่ประจำปี หากพบคณะกรรมการบริหารคนใดไม่ดำเนินการตามนโยบายวางไว้จะต้องเปลี่ยนแปลง แต่ปัจจุบันพบส่วนใหญ่รัฐบาลจะเป็นผู้เปลี่ยนแปลงเอง ทำให้ขาดประสิทธิภาพ เพราะเป็นเพียงการล้างตำแหน่งเท่านั้น ไม่ได้ดำเนินการเพื่อกองทุนประกันสังคมอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ถือเป็นภารกิจของเครือข่ายแรงงานต้องสร้างความเป็นหนึ่งผลักดันต่อไป
ขณะที่อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การตั้งธงให้ สปส.เป็นองค์กรอิสระทำให้มีเพดานข้อจำกัด เพราะเมื่อพูดถึงระบบประกันสังคม นั่นหมายถึงการพูดถึงระบบสวัสดิการของประเทศ ซึ่งมีระบบสวัสดิการอื่น ๆ ด้วย ฉะนั้นจึงพูดถึงความเป็นอิสระไม่เต็มปาก แต่ควรทำอย่างไรให้เกิดความอิสระของระบบสวัสดิการทั้งประเทศ เเละแทนที่จะให้ภาครัฐหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นตัวหลักฝ่ายเดียวก็ควรทำให้ทุกภาคส่วนในสังคมดูแลเรื่องดังกล่าวร่วมกัน
“ระบบสวัสดิการของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก มักผูกโยงกับภาวะทางเศรษฐกิจ โครงสร้างประชากรอนาคต และการดูแลที่มีต้นทุน เพราะฉะนั้นทำอย่างไรให้เกิดการออกแบบระบบตอบโจทย์ในอนาคตด้วย” นักวิชาการ มช. กล่าว และว่าปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบันของระบบประกันสังคมตอบโจทย์เฉพาะภาพปัญหาที่หมักหมมเท่านั้น แม้จะแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ แต่กลับพบยังไร้มาตรการแก้ไขปัญหาในอนาคต ทั้งนี้ การดึง สปส. ซึ่งอยู่ในระบบราชการออกมาเป็นอิสระ แรงเสียดทานจึงมีค่อนข้างมาก ประกอบกับบริบททางสังคมขาดความเข้มแข็ง
สำหรับข้อเสนอระยะยาว อาจารย์ไพสิฐ กล่าวว่า ให้กองทุนประกันสังคมกลายเป็นองค์กรอิสระในอนาคต แต่ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าอิสระไปเพื่ออะไร ส่วนระยะกลาง เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ต้องคิดว่า จะให้ระบบครอบคลุมแรงงานข้ามชาติหรือไม่ ทั้งนี้หากบอร์ดประกันสังคมปัจจุบันร่วมมือกับนายจ้าง ลูกจ้าง เเละเชื่อมโยงกับกองทุนอื่นทำข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างระบบสวัสดิการแห่งชาติขึ้นมาได้น่าจะเป็นทิศทางที่ควรเกิดขึ้น .