คำชี้แจงผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอเรื่องความเหลื่อมล้ำในระบบการรักษาพยาบาล
ตามที่มีคำถามและการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ โดยอ้างถึง การศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เรื่อง “ผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ” ผ่านทางสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ต่างๆ รวมทั้งเรียกร้องให้ทีดีอาร์ไอเปิดเผยผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์นั้น ผู้เขียนในฐานะนักวิจัยซึ่งดำเนินการศึกษาดังกล่าว ขอชี้แจงดังนี้
การศึกษาเรื่องดังกล่าวซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสองแหล่งคือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและมูลนิธิร็อคกีเฟลเลอร์ได้เสร็จสมบูรณ์ไปแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2557
โดยรายงานผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ได้ถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์ของทีดีอาร์ไอ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 ซึ่งผู้สนใจสามารถสืบค้นได้จากเว็บไซต์ดังกล่าวโดยใช้ชื่อของผู้เขียน
นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยยังได้ส่งรายงานผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ให้แก่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ 15 แห่งอีกด้วย เนื้อหาในรายงานจึงไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นความลับดังที่บางฝ่ายเข้าใจ
ในเรื่องการตายของผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์นั้น การวิจัยเลือกผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และได้เสียชีวิตในช่วงปี 2550-2554 โดยผู้สูงอายุที่ศึกษามีโรคเรื้อรังอย่างน้อย 1 ใน 5 โรคคือ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง และโรคมะเร็ง โดยศึกษาเปรียบเทียบระหว่าง ผู้สูงอายุในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และระบบสวัสดิการถ้วนหน้า
การศึกษาพบว่า ทั้งสองระบบมีโครงสร้างอายุผู้ป่วยใน (ผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาล) ที่แตกต่างกัน โดยผู้ป่วยในของระบบสวัสดิการข้าราชการมีอายุเฉลี่ยสูงกว่าผู้ป่วยในของระบบสวัสดิการถ้วนหน้า และเมื่อดูอายุเฉลี่ย ณ วันที่ตาย ยังพบว่า ผู้ป่วยสวัสดิการข้าราชการมีอายุเฉลี่ยมากกว่าผู้ป่วยในระบบสวัสดิการถ้วนหน้า
ที่สำคัญ อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยในระบบสวัสดิการถ้วนหน้าสูงกว่าของผู้ป่วยสวัสดิการข้าราชการ
จากประเด็นดังกล่าวอาจจะมีการตีความหมายในลักษณะที่ว่า อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยในระบบสวัสดิการถ้วนหน้า “สูงผิดปรกติ” การตีความดังกล่าวไปไกลเกินกว่าผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอและข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่ เพราะการจะสรุปว่าอัตราการเสียชีวิต “สูงผิดปรกติ” หรือ “สูงเกินไป” นั้นจำเป็นจะต้องเปรียบเทียบข้อมูลผู้ป่วย 2 ชุดที่มีลักษณะผู้ป่วยเหมือนหรือคล้ายกันมาก โดยข้อมูลชุดหนึ่งเป็นข้อมูลผู้ป่วย ซึ่งได้รับการรักษาพยายาบาลในระบบสวัสดิการถ้วนหน้า และข้อมูลอีกชุดเป็นข้อมูลการเข้ารับรักษาในระบบสวัสดิการข้าราชการ
อย่างไรก็ดีข้อมูลที่มีอยู่มิได้มีการจัดเก็บข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับผู้ป่วย เช่น ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้ป่วย ดังนั้นเราจึงไม่สามารถสรุปได้ว่าฐานข้อมูลสองชุดนี้มีผู้ป่วยในลักษณะเหมือนหรือคล้ายกันมากพอหรือไม่
ที่สำคัญในการประเมินประสิทธิผลในการรักษาพยาบาลของระบบสวัสดิการหนึ่งๆ จำเป็นต้องคำนึงถึงทรัพยากรที่ระบบนั้นๆ ได้รับ เพราะมีผลต่อการเลือกใช้ยาและเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงต้องพิจารณาประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของระบบนั้นด้วย
การวิเคราะห์ข้อมูลค่าใช้จ่ายยังพบด้วยว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ค่าใช้จ่ายในช่วง 1 ปีก่อนตายของผู้ป่วยในของระบบสวัสดิการข้าราชการสูงกว่าผู้ป่วยในของระบบสวัสดิการถ้วนหน้าถึงร้อยละ 13 ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งของความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาลของคนไทยกลุ่มต่างๆ ที่ควรได้รับการแก้ไขต่อไป
นอกจากนี้ การศึกษายังพบด้วยว่า ค่าใช้จ่ายของทั้งสองระบบจะยิ่งสูงขึ้น เมื่อผู้ป่วยใกล้เสียชีวิต ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องศึกษาหาแนวทางในการลดค่าใช้จ่ายของทุกระบบในแนวทางที่เหมาะสมต่อไป
ในฐานะนักวิจัย ผู้เขียนเห็นว่า การสรุปผลการศึกษาวิจัยใดๆ ควรพิจารณาตามหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เป็นอยู่อย่างตรงไปตรงมา โดยนักวิจัยไม่พึงคาดเดาเกินกว่าที่ข้อมูลสามารถอธิบายได้ ผู้เขียนยังคาดหวังด้วยว่า งานศึกษาวิจัยทางวิชาการจะถูกนำไปใช้อย่างตรงไปตรงมาและบนพื้นฐานของหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีอยู่