ภาคปชช.จี้กมธ.ยกร่างฯ ยืนหยัดไม่ให้หลักการสร้างความเป็นพลเมืองถูกถอด
สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปหวัง รธน.ใหม่ ลดเหลื่อมล้ำ เพิ่มอำนาจ ปปช. ชง 10 ข้อเสนอ ห้ามตัดออก เน้นสิทธิชุมชน ระบบสวัสดิการ กระจายอำนาจ ความเสมอภาคทางเพศ 'ประยงค์ ดอกลำไย' ขอ ครม.รักษาสัญญา ไม่ควบรวม กสม.-ผู้ตรวจการเเผ่นดิน
วันที่ 24 มิถุนายน 2558 องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน จัดเวทีสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ครั้งที่ 3 ‘สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ ปฏิรูปไม่เสียของ ต้องฟังเสียงประชาชน’ ณ อาคารรักตะกนิษฐ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต
โดยสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป มีข้อสรุปว่า รัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มอำนาจประชาชน และการปฏิรูปประเทศในระยะต่อไป ต้องมีบทบัญญัติว่าด้วย การจัดระบบสวัสดิการและบำนาญเพื่อทุกคน, สิทธิบุคคลที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และกำหนดการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง, สิทธิชุมชน ชุมชนท้องถิ่น และชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม, การกระจายอำนาจตามหลักการปกครองตนเอง อิสระ และการให้มีจังหวัดจัดการตนเอง, สมัชชาพลเมืองเพื่อการมีส่วนร่วมและลดความเหลื่อมล้ำ
สิทธิของผู้ใช้แรงงานที่จะได้รับค่าจ้างเป็นธรรม ความปลอดภัยในการทำงานและอาชีวอนามัย, ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและการมีองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ, สิทธิของผู้บริโภคและองค์การอิสระด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และสมาชิกวุฒิสภาต้องมีที่มายึดโยงกับประชาชน โดยการเลือกตั้งจากจังหวัด การเลือกตั้งจากสายอาชีพ และอาจมีสมาชิกจากการสรรหาเป็นส่วนน้อย และรับรองสิทธิความเสมอภาคทางเพศอย่างน้อยด้วยการกำหนดสัดส่วนหญิงชายทุกกลไก สภาผู้แทนราษฎร สถาบัน องค์กรอิสระ ทำหน้าที่ตัดสินใจทางการเมือง นโยบาย และการพัฒนาประเทศ
น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานเครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและรัฐสวัสดิการ กล่าวถึงการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการลดความเหลื่อมล้ำ โดยเสนอให้ปรับแก้บางมาตรา เช่น
มาตรา 63 ชุมชนย่อมมีสิทธิปกป้อง ฟื้นฟู อนุรักษ์ สืบสาน และพัฒนาขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาอันดีงามของชุมชน ท้องถิ่น และของชาติ... ควรเติมคำว่า ‘ชุมชนท้องถิ่น’ และ ‘ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม’ ด้วย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มความสำคัญของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ในการจัดการชีวิตนเองและทรัพยากร
มาตรา 85 รัฐต้องคุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา คุณธรรม และจริยธรรม เสริมสร้างและพัฒนาความเป็นปึกแผ่นของสถาบันครอบครัว สงเคราะห์ และจัดสวัสดิการให้แก่ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ผู้ยากไร้ และผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก... ควรตัดคำว่า ‘สงเคราะห์’ ออก ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องไม่พูดถึงเรื่องสงเคราะห์
สนับสนุนให้คงไว้มาตรา 86 รัฐต้องจัดและส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่เหมาะสม ทั่วถึง มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และได้รับสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานอันจำเป็นอย่างเท่าเทียมกัน
และมาตรา 89 โดยเฉพาะการจัดให้มีระบบการเงินการคลังเพื่อสังคม ซึ่งเป็นสิ่งต้องให้ความสำคัญมากขึ้น
ด้านนายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญ ภาค 4 หมวด 2 การปฏิรูปด้านต่าง ๆ มาตรา 282 ให้มีการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โดยเสนอให้แยกศาลอาญาออกจากศาลแรงงาน เพราะเรื่องแรงงานเกี่ยวข้องกับสาขาอาชีพ โดยใน (1) ควรกำหนดวรรคใหม่เพิ่มเติมว่า
ทั้งนี้ เพื่อรวบรวมปรับปรุงกฎหมายแรงงานให้ทันสมัย เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและความสุขของคนงาน เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางสังคมของทุกภาคส่วน รวมถึงมาตรฐานจ้างงาน และคุ้มครองผู้ทำงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยปราศจากเลือกปฏิบัติ
รองประธาน คสรท. กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ควรเพิ่มเติม (9) แยกศาลแรงงานออกจากศาลยุติธรรมด้วย เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานในการพิจารณาคดีเป็นไปตามเจตนารมณ์ของศาลแรงงาน และต้องมีกระบวนการไต่สวนความจริง บริหารข้าราชการตุลาการโดยเฉพาะ แต่หากรวมไว้ในองค์กรเดียวกันจะมองไม่เห็นปัญหาได้
ขณะที่นายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ กล่าวว่า ประชาชนจับตาการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้มีความพยายามยุบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ด้วยเหตุผลจากความคับแค้นใจส่วนตัวของบางคน แต่เมื่อเกิดกระแสคัดค้านจากภาคประชาชนมากขึ้น จึงเปลี่ยนมาเป็นการควบรวมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน ทั้งที่สองหน่วยงานมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน สุดท้ายหวังว่า ครม.จะไม่ควบรวมจริง ๆ ตามที่มีมติไว้
ทั้งนี้ หากมองในด้านสิทธิมนุษยชน ที่ปรึกษาพีมูฟ ระบุว่า ต้องให้ความสำคัญเรื่องสิทธิเสรีภาพด้วย โดยเฉพาะในการรวมตัว ซึ่งเป็นสิทธิของคนยากจนและคนชายขอบ ตลอดจนการมีสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ อย่างไรก็ตาม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กลับลิดรอนสิทธิดังกล่าว โดยกระทำได้ต่อเมื่อขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่แล้วเท่านั้น
ด้าน นายจินดา บุญจันทร์ คณะทำงานประชาชนภาคใต้เพื่อการปฏิรูป กล่าวถึงข้อเสนอประเด็นกระจายอำนาจให้เพิ่มอำนาจให้กับท้องถิ่น และเสนอให้คงไว้ของสมัชชาพลเมืองหรือสภาพลเมือง เพราะเชื่อว่าการรวมอำนาจไว้ส่วนกลาง จะแก้ปัญหาสังคมไทยไม่ได้ เพราะตลอดเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งเกิดขึ้น เพราะการแย่งชิงอำนาจกันที่ส่วนกลาง ดังนั้นต้องกระจายอำนาจไปสู่ฐานราก ปัญหาที่เกิดขึ้นก็จะลดลง
“แม้ข้อเสนอของประชาชนในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะถูกถอดออกเป็นส่วนใหญ่ แต่อยากให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญยืนหยัดไม่ให้หลักการสร้างความเป็นพลเมืองถูกถอดให้ถึงที่สุด” คณะทำงานประชาชนภาคใต้เพื่อการปฏิรูป กล่าว .
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:อังคณา นีละไพจิตร: 83 ปี ประชาธิปไตยไทย อำนาจแท้จริงยังไม่เป็นของ ปชช.