อังคณา นีละไพจิตร: 83 ปี ประชาธิปไตยไทย อำนาจแท้จริงยังไม่เป็นของ ปชช.
"คนชั้นสูง คนมีทรัพย์สินเงินทองมากมาย อาจไม่เข้าใจความทุกข์ยากของคนยากไร้ คนที่ไม่เคยถูกละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายก็อาจไม่เข้าใจการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และการยุติการงดเว้นโทษ คนไม่เคยถูกเลือกปฏิบัติ อาจไม่เข้าใจความสำคัญของการเสมอภาคและเท่าเทียม”
วันที่ 24 มิถุนายน 2558 องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน จัดเวทีสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ครั้งที่ 3 ‘สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ ปฏิรูปไม่เสียของ ต้องฟังเสียงประชาชน’ ณ อาคารรักตะกนิษฐ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต
นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวในหัวข้อ ‘ภาคประชาชนกับการปฏิรูปประเทศไทย’ ว่า 83 ปี ของการวางรากฐานระบอบประชาธิปไตยในประเทศ ปัจจุบันมีประชาชนหลายกลุ่มมาแสดงสัญลักษณ์ต่าง ๆ ถึงความต้องการความเสมอภาค ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วมทางการเมือง ถึงแม้จะอยู่ในระบอบประชาธิปไตยมานาน แต่อำนาจที่แท้จริงยังไม่เป็นของประชาชน
หลายคนกล่าวว่า ประเทศไทยจะไม่มีวันเหมือนเดิมได้อีก หลังจากผ่านความขัดแย้งช่วงไม่กี่ปี แต่หลายคนยังมีความหวังและเจตนาที่มุ่งหวังปฏิรูปสังคม เพื่อลูกหลานในวันหน้า ทั้งนี้ คงเป็นคำถามที่ทุกคนต้องช่วยกันตอบว่า แม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น แต่ทำอย่างไรคงไว้ในเจตนารมณ์เดิม
เจตนารมณ์ในที่นี้ คือ การเคารพคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทุกคน การยอมรับความมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่ม ที่สำคัญ การยอมรับความแตกต่างหลากหลาย รวมถึงความเห็นต่างทางการเมือง
ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวต่อว่า หลังรัฐประหารปี 2549 เราพูดถึงการปฏิรูปประเทศ ซึ่งบางเรื่องทำไปแล้ว บางเรื่องยังพบปัญหาอุปสรรค บางเรื่องมีความหวัง ขณะที่หลายเรื่องถดถอยและน่ากังวล เช่น ทำอย่างไรสิทธิของพลเมืองที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญจะมองเห็นความทุกข์ยากของประชาชนที่ไม่ใช่พลเมือง แต่มีความเป็นมนุษย์เหมือนพวกเรา ทำอย่างไรทุกคนที่อาศัยในไทยจะเคารพคุณค่าและศักดิ์ศรีของกันแล้วกัน โดยไม่ละเมิดหรือเบียดเบียนกัน
ทำอย่างไรมองข้ามความแตกต่างไปสู่ความร่วมมือและไม่ยึดถือรูปแบบภายนอกจนทำให้เกิดความแตกแยก ไม่ว่าจะเป็น ความแตกต่างชาติพันธุ์ ศาสนา ฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม หรือแม้แต่ความเชื่อ และความเห็นทางการเมือง หรือทำอย่างไรจะปฏิรูปองค์กรสำคัญที่ค้ำจุนระบบนิติรัฐ ไม่ว่าจะเป็น การปฏิรูปตำรวจ การปฏิรูปทหาร หรือหน่วยงานความมั่นคงอื่น ๆ
นางอังคณา กล่าวย้อนไปเมื่อปี 2549-2550 ช่วงรัฐบาลปฏิวัติ รัฐบาลมีความพยายามปฏิรูปสถาบันตำรวจ เพื่อให้ตำรวจมีความเป็นมืออาชีพและทำงานเน้นความเป็นวิชาชีพตำรวจ โดยผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.การปฏิรูปตำรวจ และ ร่าง พ.ร.บ.สภาประชาชน อันจะมีสภาประชาชนตรวจสอบการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในแต่ละท้องถิ่นทั่วประเทศ แต่สุดท้าย ร่าง พ.ร.บ.สภาประชาชนตกในชั้นกฤษฎีกา
“แม้จะเหลือ ร่าง พ.ร.บ.ปฏิรูปตำรวจฉบับเดียว แต่ก็ถูกคัดค้านมากจากตำรวจระดับสูง จนสุดท้ายตกไปในสมัยนั้น” ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าว และว่าภายหลังปี 2550 ก็ไม่มีการพูดถึงการปฏิรูปตำรวจอีก คงมีเพียงการพูดถึงการปฏิรูปภายในองค์กรตำรวจ แต่ไม่มีการปฏิรูปโดยการมีส่วนร่วมหรือการแสดงความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน
นางอังคณา ยังพบว่า การทำงานเพื่อการปฏิรูปไม่ง่ายเหมือนอย่างที่คิด แต่ตลอดระยะเวลาการทำงานมีอุปสรรคมากมายทำให้ไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ แม้คำถามสำคัญที่มักถามตลอดว่า ทำอย่างไรได้รับประโยชน์จากรัฐสวัสดิการ ทำอย่างไรให้มีหลักประกันว่า เมื่อเราแข็งแรงดี ทำงาน จ่ายภาษี แต่วันหนึ่งเมื่อเข้าสู่วัยชรา เจ็บป่วย บาดเจ็บ ทุพพลภาพ ต้องได้รับการดูแลที่เหมาะสมจากรัฐ
ทำอย่างไรสร้างสังคมความปลอดภัย สังคมเคารพการมีส่วนร่วม และไม่เลือกปฏิบัติต่อมนุษย์ทุกคน หรือทำอย่างไรเราจะเห็นคุณค่าและสืบทอดเจตนารมณ์ที่ร่วมทำกันมา อย่างน้อยที่สุด คือการรักษาความเป็นพี่น้องและความเป็นกัลยาณมิตร คำถามเหล่านี้ได้เผชิญในชีวิต และไม่มีใครตอบได้ดีกว่าเราทุกคน
"คนชั้นสูง คนมีทรัพย์สินเงินทองมากมาย อาจไม่เข้าใจความทุกข์ยากของคนยากไร้ คนที่ไม่เคยถูกละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายก็อาจไม่เข้าใจการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และการยุติการงดเว้นโทษ และคนไม่เคยถูกเลือกปฏิบัติ อาจไม่เข้าใจความสำคัญของการเสมอภาคและเท่าเทียม”
ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ จึงเห็นว่าเป็นคำถามท้าทายของทุกคน ซึ่งดูเหมือนอาจจะยาก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำสิ่งยาก ๆ ไม่ได้ หากเราร่วมมือกัน เสียงเล็ก ๆ จะรวมเป็นเสียงเดียว และเชื่อว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้ พบว่าในรัฐบาลที่ผ่านมาล้วนให้สัญญาประชาชนถึงหลักประกันต่าง ๆ แต่ไม่ว่ารัฐบาลใดไม่สามารถทำได้โดยลำพัง ปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะการตัดสินใจในปัญหาต่าง ๆ ที่ทุกคนต้องเผชิญ
ท้ายที่สุด เชื่อว่า ด้วยความตระหนักถึงคุณค่าร่วมทุกข์ร่วมสุข ความเอื้ออาทรที่มีต่อกัน ด้วยความอดทน อดกลั้น และความรักต่อเพื่อนมนุษย์ เชื่อว่าผ่านช่วงเวลาลำบากนี้ไปได้ เพื่อสร้างสังคมใหม่ที่งดงาม มีความเป็นธรรม และอารยะ และมีพื้นที่สำหรับทุกคน แม้อาจจะเห็นต่าง แต่ทุกคนเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน
วันหนึ่งไม่ว่าช้าเร็ว อำนาจอธิปไตยจะเป็นของปวงชนชาวไทย .