พบอัยการใช้ดุลยพินิจสั่งคดีไม่ถูกต้องเพียบ! อสส.จี้ผู้บริหารซักซ้อมความเข้าใจใหม่
"อสส." ออกหนังสือแจ้งเวียนผู้บริหารสำนักงานอัยการทุกระดับซักซ้อมความเข้าใจการใช้ดุลยพินิจสั่งคดีพนักงานอัยการให้ถูกต้อง หลังตรวจพบปัญหาบกพร่องตั้งกก.สอบวินัยเพียบ อาทิ นำข้อเท็จจริงนอกสำนวนคดี-ไม่เชื่อคำให้การผู้เสียหาย ใช้อ้างเป็นเหตุผล ไม่สั่งฟ้องผู้ต้องหา หวั่นทำลายภาพพจน์องค์กรเสียหาย หมดความน่าเชื่อถือ!
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.58 ที่ผ่านมา นายมนัส สุขสวัสสดิ์ รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด ได้ทำหนังสือแจ้งถึง ที่ปรึกษาสำนักงานอัยการสูงสุด รองอัยการสูงสุด ผู้ตรวจการอัยการ อธิบดีอัยการ อธิบดีอัยการภาค อัยการพิเศษฝ่าย เลขานุการอัยการ อัยการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการและโครงการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และผู้อำนวยการสำนักงาน เพื่อซักซ้อมความเข้าใจ ในการใช้ดุลพินิจสั่งคดีของพนักงานอัยการให้มีความถูกต้อง และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
หลังตรวจสอบพบว่า การใช้ดุลยพินิจในการสั่งคดีของพนักงานที่ผ่านมามีความไม่ถูกต้องหลายประการ
โดยพนักงานอัยการบางคนได้นำข้อเท็จจริงนอกสำนวนต่างๆ เช่น ข้อเท็จจริงตามหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหา หรือ เอกสารหลักฐานต่างๆ ที่ฝ่ายผู้ต้องหานำมามอบให้พนักงานอัยการมาพิจารณารับฟังเป็นพยานหลักฐานในสำนวนโดยไม่ผ่านการสอบสวนของพนักงานสอบสวน และนำมาอ้างเป็นเหตุผลในการใช้ดุลยพินิจสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา
หรือ บางกรณีไม่เชื่อคำให้การของผู้เสียหาย หรือ พยานในสำนวนการสอบสวน โดยไม่มีเหตุผลหักล่างเพียงพอ แล้วนำมาเป็นเหตุพิจารณาสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา ซึ่งจากการตรวจสอบสำนวนของสำนักงานวิชาการมักจะพบข้อบกพร่องในการสั่งคดีจนเป็นเหตุให้ต้องตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยและถูกลงโทษทางวินัย ทำให้เกิดความเสียหายแก่คดีทำให้เสียภาพพจน์และความน่าเชื่อถือต่อองค์กรอัยการ
สำหรับ การซักซ้อมความเข้าใจในการใช้ดุลพินิจสั่งคดีของพนักงานอัยการให้มีความถูกต้อง และเป็นไปในทางเดียวกัน มีดังต่อไปนี้
1.การพิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อมีความเห็นสั่งคดี พนักงานอัยการต้องพิจารณาข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานจากสำนวนการสอบสวน โดยพนักงานอัยการมีอำนาจสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม หรือส่งพยานมาใหซักถาม ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอัยการในลักษณะ 2 เรื่องการสอบสวน และระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2547 ข้อ 49 ,56 ,66,67,68,69 และ 70
2. ในกรณีที่ผู้เสียหาย หรือผู้ต้องหา หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องในคดี ร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการ หากพนักงานอัยการพิจารณาแล้วเห็นว่า มีเหตุอันควรต้องพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้อง โดยการสอบคำให้การพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริง หรือพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเอกสารที่ผู้ร้องอ้างเป็นพยานหลักฐาน เพื่อเป็นพยานหลักฐานในการสั่งคดี
พนักงานอัยการต้องสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม หรือส่งพยานมาให้ซักถาม โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสูดว่า ด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2547 ข้อ 70 ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ความแน่ชัดในการพิจารณาพยานหลักฐาน รวมทั้งให้ความแน่ชัดว่า ผู้ต้องหาได้กระทำความผิดหรือไม่ ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2547 ข้อ 69
3.การพิจารณาสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา เนื่องจากพนักงานอัยการไม่เชื่อคำให้การขอผู้เสียหาย หรือพยานในสำนวนการสอบสวน พนักงานอัยการต้องระบุเหตุผลที่สามารถหักล้างคำให้การของผู้เสียหาย หรือพยานดังกล่าวได้ โดยต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความสุจริตและเที่ยงธรรม ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 21 และมาตรา 22 และให้คำนึงถึงภารกิจและบทบาทของพนักงานอัยการ ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 ข้อ 5 โดยเคร่งครัด
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Google