"มารา ปาตานี" กับวงถกผู้เห็นต่างในพื้นที่ รัฐให้น้ำหนักวงไหน?
อาจเป็นคำกล่าว "ขอโทษ" ของ พลโทปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 จากกรณีวิสามัญฆาตกรรม 4 ศพที่อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 25 มีนาคม 2558 ก็ได้ ที่ทำให้หลายฝ่ายรู้สึกว่าท่าทีของทหารต่อปัญหาชายแดนใต้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป
เพราะการกล่าวคำ "ขอโทษ" หรือ "ขออภัย" จากคนระดับแม่ทัพ สืบเนื่องจากการปฏิบัติที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนตลอด 11 ปีไฟใต้ ท่าทีแบบนี้และการปรับยุทธศาสตร์ของฝ่ายทหาร ด้วยการลดกำลังพลหลักจากกองทัพภาคอื่นๆ ลงเหลือเพียงไม่กี่กองพันในปัจจุบัน และลดน้ำหนักการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ทำให้บรรยากาศในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่อนคลายมากขึ้น
เมื่อผนวกกับการสานต่อโครงการ "พาคนกลับบ้าน" ที่ฝ่ายทหารดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาหลายแม่ทัพ กระทั่งถึงแม่ทัพปราการซึ่งเน้นหนักเป็นพิเศษ ทำให้กระบวนการพูดคุยสันติสุขในระดับพื้นที่รุดหน้าไปมาก
โดยเฉพาะการพบปะพูดคุยกันครั้งใหญ่ที่สุดที่ค่ายกัลยาณิวัฒนา อำเภอเมืองนราธิวาส เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เห็นต่างจากรัฐที่ส่วนใหญ่พำนักอยู่ฝั่งมาเลเซีย และบางส่วนติดคดีความมั่นคง มีความมั่นใจเข้าร่วมวงพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการมากถึง 467 คน นับเป็นการพูดคุยครั้งประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
การพูดคุยสันติสุขในยุครัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้ถือว่าสานต่อจากการพูดคุยยุครัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เปิดโต๊ะพูดคุยอย่างเป็นทางการโดยมี พลโทภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติในขณะนั้น เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทย และมี นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำบีอาร์เอ็น เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ
เพราะในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ได้จัดกระบวนการขึ้นใหม่ ไม่ได้ใช้คณะพูดคุยหรือโครงสร้างการพูดคุยเดิม แต่มีการตั้งคณะกรรมการ 3 ระดับ คือ
-คณะกรรมการระดับชาติ คุมนโยบาย มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
-คณะทำงานพูดคุย มี พลเอกอักษรา เกิดผล เป็นประธาน
-คณะกรรมการระดับพื้นที่ มีแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธาน
นับตั้งแต่มีการตั้งคณะพูดคุยขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 2558 แต่จนถึงขณะนี้กลับมีความคืบหน้าที่มองเห็นเป็นรูปธรรมไม่มากนัก ยกเว้นฝ่ายผู้เห็นต่างที่เคลื่อนไหวจัดตั้งองค์กร "มารา ปาตานี" (MARA Patani) ขึ้นมา จากการประกอบร่างของกลุ่มเคลื่อนไหวนอกประเทศ 6 กลุ่ม คือ บีอาร์เอ็นสายพิราบที่สนับสนุนการเจรจา หรือ BRN action group, กลุ่มบีไอพีพี นำโดย นายกามาลุดดิน ฮานาฟี, กลุ่มจีเอ็มพี นำโดย นายเจ๊ะกูแม กูเต๊ะ ซึ่งมีหมายจับของรัฐบาลไทย, กลุ่มพูโล สายนายกัสตูรี่ มาห์โกตา, กลุ่มพูโลสายเก่า และกลุ่มพูโลสาย นายซัมซูดิง คาน
องค์กร "มารา ปาตานี" พยายามเปิดตัวทางสื่อมวลชนไทยผ่านภาคประชาสังคมที่สนับสนุนการพูดคุย แต่กลับไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เพราะถูกมองว่าไม่ใช่ตัวจริงที่มีผลกับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ และไม่มีบีอาร์เอ็นฝ่ายทหาร หรือ บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต ร่วมอยู่ด้วย
อย่างไรก็ดี คณะพูดคุยที่นำโดย พลเอกอักษรา ได้เดินทางไปพบปะอย่างไม่เป็นทางการกับแกนนำ "มารา ปาตานี" มาแล้ว เมื่อสัปดาห์ก่อนถึงเดือนรอมฎอน แต่ผลการพูดคุยไม่มีความคืบหน้าในเชิงสารัตถะมากนัก เนื่องจากข้อเสนอของฝ่ายไทยที่ให้ "หยุดยิง" ช่วงเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอดนั้น ฝ่ายผู้เห็นต่างไม่ยอมรับ โดยอ้างเหตุผลว่าเตรียมการไม่ทัน ส่วนชื่อ "มารา ปาตานี" ซึ่งฝ่ายไทยไม่ยอมรับ ทางฝ่ายผู้เห็นต่างพร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น "สภาประชาชนปาตานี" และยืนยันถึงความจำเป็นที่ต้องมี "องค์กรร่วม" ในการพูดคุยกับรัฐบาลไทย
ขณะเดียวกัน ทางฝ่ายผู้เห็นต่างเสนอให้รัฐบาลผลักดันให้การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติด้วย
แต่ถึงกระนั้น กระบวนการพูดคุยระดับชาติดูจะยังมีอุปสรรคอยู่มาก เนื่องจากทางฝ่ายไทยต้องการให้ทำ "บันทึกข้อตกลงร่วม" ในการพูดคุย แต่ฝ่ายผู้เห็นต่างเองยังไม่มีเอกภาพ เพราะในการพบปะกัน กลุ่มที่รวมตัวกันเป็น "มารา ปาตานี" ก็มาร่วมประชุมไม่ครบทั้ง 6 กลุ่ม ขาดกลุ่มพูโลสายนายซัมซูดิง คาน แม้จะมี นายมะสุกรี ฮารี ลูกชายของผู้นำศาสนาคนสำคัญของจังหวัดยะลา เปิดตัวเป็นหัวหน้ากลุ่ม "มารา ปาตานี" ก็ตาม
ขณะที่การไม่ยอมรับเงื่อนไขหยุดยิงช่วงเดือนรอมฎอน ยิ่งตอกย้ำภาพ "มารา ปาตานี" ไม่ใช่ตัวจริงที่สามารถควบคุมหรือสั่งการกองกำลังในระดับพื้นที่ได้
ด้วยเหตุนี้รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงจึงให้น้ำหนักการพูดคุยไปในระดับพื้นที่ ภายใต้การนำของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้ามากกว่า โดยเฉพาะการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการรอบล่าสุด เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่สามารถระดมผู้เห็นต่างมาร่วมได้ถึง 467 คน ซึ่งเกือบทั้งหมดพำนักอยู่ในมาเลเซีย บางส่วนติดคดีความมั่นคง นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการพูดคุยเจรจาที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้มากขนาดนี้
แม้ข้อเรียกร้องของฝ่ายผู้เห็นต่างยังเป็นประเด็นเดิมๆ เช่น ถอนหมายจับ เลิกบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ฯลฯ แต่ความไว้วางใจที่ฝ่ายผู้เห็นต่างแสดงออกกับรัฐ โดยเฉพาะกับแม่ทัพปราการ ชลยุทธ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ทำให้วันนี้น้ำหนักของการพูดคุยอยู่ในระดับพื้นที่มากกว่ากลุ่มเคลื่อนไหวในต่างประเทศ บนโต๊ะเจรจาระดับชาติ
และสุดท้ายปัญหาชายแดนภาคใต้อาจจบลงได้ด้วยการจับเข่าคุยกับ "คนในพื้นที่" และ "ผู้ได้รับผลกระทบตัวจริงจากนโยบายรัฐ" เพื่อปลดเงื่อนไขทั้งหมด พร้อมจับมือกันสร้างสันติสุข มากกว่าการตั้งความหวังกับกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ในต่างประเทศ แต่กลับไม่มีผลกับสถานการณ์ในพื้นที่เท่าที่ควร
เหมือนกับที่อดีตแกนนำบีอาร์เอ็นรายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับ "ทีมข่าวอิศรา" เอาไว้ว่า แท้ที่จริงแล้ว คนที่กดปุ่มสร้างสถานการณ์จนไฟใต้ลุกโชนเพื่อท้าทายและต่อรองกับอำนาจรัฐนั้น เขาอยู่ในประเทศไทยนี่เอง !