กรมเจ้าท่าชี้ท่าเรือปากบาราส่งผลดีต่อ ศก.-เล็งเปิดเวทีฟังความเห็นต้นปี 59
อธิบดีกรมเจ้าท่าชี้เมกะโปรเจ็ค 'ท่าเรือปากบารา' คุ้มทุนทางเศรษฐกิจ ช่วยลดเวลา-ค่าใช้จ่ายขนส่งผ่านช่องเเคบมะละกา หวังรัฐบาลอนุมัติงบฯ 120 ล. ศึกษา EHIA โครงการฯ
วันที่ 23 มิถุนายน 2558 ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเวทีพูดคุย “เมกะโปรเจ็คภาคใต้ ท่าเรือน้ำลึกปากบารา” ข้อเท็จจริงจากภาครัฐ ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ได้ถูกยกขึ้นมาผลักดันกว่า 20 ปีแล้ว แต่ที่ไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง เพราะมีประชาชนคัดค้านอย่างต่อเนื่อง ด้วยความกังวลต่อผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น รวมถึงยังมีข้อสงสัยว่าโครงการนี้จะคุ้มทุนหรือไม่
นายวุฒิชัย เจนการ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวถึงทรัพยากรชายฝั่งที่อยู่ใกล้ ๆ กับบริเวณพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา-สงขลา 2 นั้น มีทรัพยากรที่สำคัญ เช่น ปะการัง เกาะสาหร่าย หญ้าทะเล พะยูน และโลมา เป็นต้น ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นมีสองประการ คือ ระบบนิเวศน์ในท้องทะเล และการอนุรักษ์เชิงท่องเที่ยว
ด้าน ดร.จุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวถึงแนวคิดที่จะสร้างประตูสู่ทะเลอันดามันในแง่การขนส่งและระบบโลจิสติกส์จะทำประเทศไทยมีศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และสามารถเชื่อมท่าเรือทั้งสองท่าเข้าด้วยกัน คือ ท่าเรือสงขลาและท่าปากบารา ดังนั้นท่าเรือปากบาราจะช่วยลดระยะเวลา และค่าใช้จ่ายในการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา เกิดสะพานแลนด์บริด ซึ่งเป็นสะพานที่เชื่อมทั้ง 2 ฝั่งระหว่างท่าเรือสงขลาและท่าเรือปากบารา โดยการใช้รถไฟเป็นการขนส่งแทนรถบรรทุก
ด้านความคุ้มทุนในการสร้างท่าเรือปากบารานั้น อธิบดีฯ กล่าวว่า จะคุ้มทุนมากแค่ไหนคงตอบไม่ได้ เพราะกระบวนการทำท่าเรือนี้ยังดำเนินไปไม่ถึงไหน รวมถึงการสร้างท่าเรือปากบารายังมีความเข้าใจผิดระหว่างภาครัฐและประชาชน อยู่มาก แต่หากให้พูดถึงด้านเศรษฐกิจของประเทศ การสร้างท่าเรือปากบาราถือว่ามีความคุ้มทุน
อธิบดีกรมเจ้าท่า ยังกล่าวถึงเรื่องการถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราว่า ในปัจจุบันอุทยานมีพื้นที่ 3 แสนไร่ จำเป็นต้องถอนพื้นที่อุทยานไปประมาณ 1% เพื่อให้เรือสามารถเข้าออกได้โดยง่าย ส่วนในเรื่องของการสัญจรทางเรือ เรือทุกประเภทสามารถสัญจรได้ตามปกติ
"การทำท่าเรือปากบารามีการวางแผนการดำเนินไว้ 3 เฟส โดยเฟสแรก ความยาวหน้าท่า 750 เมตร รองรับเรือขนาด 70,000 DWT ได้ 2 ลำพร้อมกัน หรือเทียบเรือขนาดกลางได้ 3 ลำ ซึ่งสามารถขนถ่ายสินค้า ได้ 825,000 TEU/ปี เฟสสอง ความยาวหน้าท่า 1,250 เมตร สามารถขนถ่ายสินค้าได้ 1,375,000 TEU/ปี และเฟสสาม ความยาวหน้าท่า2,250เมตร สามารถขนถ่ายสินค้าได้ 2,475,000 TEU/ปี
ทั้งนี้ หากรัฐบาลอนุมัติงบประมาณปี 2559 จำนวน 120 ล้านบาท เพื่อจัดทำ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment: EHIA) ก็จะดำเนินการได้ทันทีภายในเดือนตุลาคมปีนี้ และคาดว่าจะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น(Public Scoping) หรือ เวที ค.1ในต้นปีหน้า
ด้านการสร้างท่าเรือปากบารานั้น ดร.จุฬา กล่าวต่อว่า ท่าเรือปากบาราการนำเข้าและส่งออก สินค้าส่วนใหญ่จะมาเป็นตู้คอนเทรนเนอร์ เรียกได้ว่า ท่าเรือที่กำลังสร้างจะเป็นท่าเรือสีเขียว แต่ผลกังวลของประชาชนส่วนใหญ่ คือ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ที่กำลังก่อสร้างและหลังจากนั้นจะมีอุตสาหรรมอื่นตามมา จึงต้องมีการทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment:SEA) คือการศึกษาในเชิงนโยบาย เพื่อศึกษาถึงผลกระทบและฟังความเห็นของประชาชน ด้านผลตอบแทน เศรษฐกิจ สังคม และดูผลกระทบในทุกๆด้านในเชิงบวกและเชิงลบทั้งหมด
ช่วงท้าย อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญยังไม่เป็นที่เรียบร้อย แต่การจัดทำ EHIA ก็ยังต้องดำเนินไปตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงการทำ EHIA ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ และมาตรา 44 แต่เกี่ยวกับข้อกำหนดของกฎหมายสิ่งแวดล้อม .
..................................................................
หมายเหตุ: DWT ย่อมาจาก Dead Weight Tonnage คือ น้ำหนักรวมของสินค้า วัสดุคงคลังและเชื้อเพลิงที่เรือบรรทุกไป มีหน่วยวัดเป็นตัน ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถในการบรรทุกสินค้า ความเร็วเรือ ระยะปฏิบัติการ จำนวนลูกเรือและผู้โดยสาร
TEUs ย่อมาจาก Twenty-foot คือ หน่วยนับสินค้าที่บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ความยาว 20 ฟุต โดยตู้คอนเทนเนอร์ 20 ฟุต เท่ากับ 1 ทีอียู ตู้คอนเทอนเนอร์ 40 ฟุต เท่ากับ 2 ทีอียู