อันตราย! ตั้งคาสิโนหวังรายได้เข้ารัฐ เสี่ยงมุ่งกำไรจนลืมผลกระทบสังคม
นักวิชาการ-ภาคประชาสังคมเตือน ผบ.ตร. คิดให้ดีก่อนตั้งคาสิโนถูก กม. ชี้กระทบปัญหาสังคมวงกว้าง นักลงทุนได้ผลประโยชน์ฝ่ายเดียว ระบุไม่ควรเสนอแนวคิดเลื่อนลอย ไร้ข้อมูลรูปธรรม
กรณี พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ขานรับแนวคิดจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) บางกลุ่ม เรื่อง การสร้างเอนเทอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ หรือคาสิโนอย่างถูกกฎหมายในไทย เพื่อดึงรายได้เข้าภาครัฐพัฒนาประเทศ และไม่สนใจผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน ซึ่ง ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย โดยหวั่นจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคต
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัมภาษณ์ ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า การเปิดบ่อนคาสิโนเป็นเรื่องที่ต้องทบทวนให้ดี รายได้ที่ได้รับนั้นจะคุ้มค่ากับความเสียหายหรือไม่ เพราะคาสิโนเป็นบ่อเกิดของผลกระทบทางสังคมสูงมาก ซึ่งรัฐจะต้องนำเงินไปเยียวยา และการพัฒนาให้เติบโตเท่ากับประเทศอื่นก็เป็นไปได้ยาก
“การทำคาสิโนในรูปแบบใหญ่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวนั้น ต้องอาศัยนักลงทุนจากบริษัทข้ามชาติ หากผู้เล่นเป็นคนในประเทศ รัฐอาจจะมีรายได้เพิ่มขึ้นบ้างจากการเก็บภาษี แต่ก็มีความเสี่ยงสูงที่เงินกำไรจะไม่กระจายสู่ระบบเศรษฐกิจไทย” นักวิชาการ จุฬาฯ กล่าว และว่า การสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (GDP) อาจจะโตขึ้น แต่ปรากฏว่าในแง่ของคุณภาพชีวิตไม่ได้ดีขึ้น เงินเหล่านี้ไม่ได้กระจายสู่สังคม เพราะจะตกไปอยู่ในมือของนักลงทุนต่างชาติและกระจายออกนอกประเทศแทน
ด้านนายธนากร คมกฤส ผู้อำนวยการเครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน กล่าวถึงข้อเสนอว่า ควรศึกษากระบวนการและโมเดลอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อน ไม่ควรนำเสนออย่างเลื่อนลอย ไม่มีข้อมูลยืนยันอย่างเป็นรูปธรรม จะทำให้สังคมสับสนและไม่มีความก้าวหน้า การจัดตั้งคาสิโนไม่ใช่คิดแต่เรื่องของเศรษฐกิจ เพราะต้องแก้ไขกฎหมายการพนัน และต้องชัดเจนในเรื่อง กลุ่มเป้าหมาย ตำแหน่งที่ตั้ง หลักเกณฑ์ผู้ประกอบการ การควบคุมผู้เล่น ที่สำคัญคือการจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบ ซึ่งปัจจุบันมีเพียงกระทรวงมหาดไทยที่ดูแลเรื่องการออกใบอนุญาต เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ดูแลเพียงการกำกับควบคุมเท่านั้น
หากรัฐบาลจะสร้างคาสิโนถูกกฎหมายจริง ก็ควรเป็นกิจกรรมรองรับคนเล่นพนันจำนวนหนึ่งในสังคม เพราะใช้จำกัดและควบคุมเพื่อไม่ให้นักพนันขยายตัว ลดคาสิโนเถื่อน และสร้างช่องระบายทางสังคม เป็นโมเดลที่เป็นไปได้และมีผลกระทบน้อย อันเป็นหลักการเดียวกันกับการสร้างโรงสุรา โรงงานยาสูบ แต่ถ้ารัฐบาลตั้งเพื่อเป็นแหล่งรายได้ จะอันตรายกว่ามาก เพราะคำนึงถึงผลกำไรโดยไม่สนใจผลกระทบใด ๆ ที่ตามมามากมาย
“การพนันมีผลกระทบเสมอ เพราะไม่ใช่การลงทุนหรือผลิตอะไรขึ้นมา แต่เป็นเพียงการย้ายเงินจากคนหนึ่งไปยังกระเป๋าอีกคนหนึ่ง มีคนได้และก็มีคนเสีย” นายธนากร กล่าวในที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในอดีตไทยเคยปรากฏหลักฐานการเปิดคาสิโนอย่างถูกกฎหมายมาก่อน โดยในสมัยรัฐบาล นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นช่วงหลังจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เกิดปัญหาข้าวยากหมากแพง ภาวะเงินเฟ้อ และรายได้ของรัฐบาลลดลงมาก
ดังนั้น รัฐบาลจึงคิดวิธีหารายได้เข้ารัฐ ด้วยการเปิดบ่อนคาสิโนอย่างถูกกฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 แต่เปิดได้ประมาณ 4 เดือน ก็พบปัญหาประชาชนติดการพนันเล่น ปัญหาหนี้สินที่ลามสู่ปัญหาสังคม จึงทำให้รัฐบาลจึงสั่งปิดบ่อนคาสิโน เมื่อวันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2488 .
ภาพประกอบ:สำนักข่าวทีนิวส์-ประชาชาติธุรกิจ-ผู้จัดการออนไลน์