สภานายจ้างชวน อุตาฯฟ้องศาลค้านขึ้นค่าจ้าง40% รง.สรุป 3 มาตรการช่วยเอสเอ็มอี
สภาองค์การนายจ้าง สุ่มหารือสภาอุตฯ ชวนฟ้องศาลเบรกนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 40% 1 ม.ค.55 ด้าน ก.แรงงานถกร่วม ก.คลัง สรุป 3 มาตรการอุ้มเอสเอ็มอี สั่งสำรวจผู้ประกอบการรายเล็กนอกระบบ
แหล่งข่าวจากที่ประชุมตัวแทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ 7 สภาองค์การนายจ้าง ซึ่งได้นัดพบกันที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมา เปิดเผยว่าได้มีการหารือจุดยืนต่อการปรับค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งภาครัฐพยายามผลักดันให้เพิ่มอีก 40% ในวันที่ 1 ม.ค.55 โดยมีการเสนอให้ดำเนินการทางกฎหมาย หากคณะกรรมการค่าจ้างมีมติให้ปรับเพิ่มอีก 40%
เนื่องจากเป็นการพิจารณาที่มีธงอยู่ที่ตัวเลข 300 บาท ขัดกับมาตรา 87 ของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งกำหนดให้การพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ให้คณะกรรมการค่าจ้างศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่นโดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าแลบริการฯลฯ
และจะส่งผลกระทบให้ระบบการจ้างงานทั่วประเทศเสียหาย ในระยะยาวจะมีการลงทุนในต่างจังหวัดน้อยลง เนื่องจากค่าแรงที่เท่ากันทั่วประเทศ ทำให้โรงงานย้ายฐานผลิตมาอยู่ใกล้ กทม.เพื่อประหยัดต้นทุนค่าขนส่ง นอกจากนี้การขึ้นค่าจ้างในภาวะที่กำลังประสบอุทกภัยยิ่งซ้ำเติมผู้ประกอบการ
"เราไม่ได้ค้านการเปลี่ยนโครงสร้างการจ้างงาน แต่ต้องการให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัว 3-4 ปี ไม่ใช่ขึ้นรวดเดียว 40% แบบนี้" แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า สภานายจ้างเสนอให้ทั้ง 2 องค์กรมีจุดยืนร่วมกันเพื่อให้มีพลัง และต้องการให้แถลงข่าวก่อนวันที่ 17 ต.ค. ซึ่งเป็นวันนัดประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง อย่างไรก็ตาม ผู้แทน ส.อ.ท.ยังแบ่งรับแบ่งสู้ โดยจะกลับไปนัดประชุมขอความเห็นสมาชิกก่อนจะแจ้งให้ทราบภายในวันที่ 14 ต.ค.
ทั้งนี้ หากส.อ.ท. ไม่เห็นด้วยกับสภาองค์การนายจ้าง สภาองค์การนายจ้างจะดำเนินการทาางกฎหมายด้วยตัวเอง โดยอาจฟ้องศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญ แต่หาก ส.อ.ท.เห็นด้วยจะได้ตั้งคณะทำงานด้านกฎหมายร่วมกันต่อไป
วันที่ 13 ต.ค.54 นายสง่า ธนสงวนวงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สมชัย สัจจพงษ์ ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังมาร่วมประชุมกับตนและ นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ถึงการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท โดยที่ประชุมได้เห็นชอบ 3 มาตรการ ได้แก่
1.การต่ออายุสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้หักค่าเสื่อมอัตราเร่งสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์ในปีแรกออกอีก 1 ปี 2.ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินที่ได้มาจากการขายเครื่องจักรเก่า เพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ และ 3.การหักรายจ่ายสำหรับค่าจ้างแรงงานส่วนเพิ่มเพื่อนำไปหักภาษีได้ 1.5 เท่าโดยมีเงื่อนไขว่าบริษัทที่ใช้สิทธินี้จะต้องมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านและมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี
ซึ่งกระทรวงแรงงานได้สอบถามกระทรวงการคลังว่ามาตรการนี้ครอบคลุมธุรกิจที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลด้วยหรือไม่ เช่น ร้านขายข้าวแกง ร้านขายก๋วยเตี๋ยวที่มีลูกจ้างจำนวนไม่มาก ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานได้สั่งการให้แรงงานจังหวัดไปสำรวจธุรกิจเอสเอ็มอีกลุ่มนี้ว่ามีจำนวนเท่าใดซึ่งคาดว่ามีประมาณ 30% จากยอดเอสเอ็มอีที่จดทะเบียนไว้กับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)ที่มีกว่า 2 ล้านแห่ง
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานที่ให้นำค่าใช้จ่ายในการอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานมาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ทั้งนี้ในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลางในวันที่ 17 ต.ค.นี้ ได้เชิญตัวแทนกระทรวงการคลังมาชี้แจงถึงมาตรการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีให้ บอร์ดค่าจ้างกลางได้รับทราบ
“กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรมหารือกันอย่างต่อเนื่องซึ่ง หลายมาตรการก็ตกผลึกไปพอสมควรคาดว่าภายใน ต.ค.นี้มาตรการทั้งหมดจะได้ข้อสรุปและจะเสนอเป็นแพคเกจต่อคณะรัฐมนตรี” เลขานุการ รมว.แรงงาน กล่าว .