โรดแมป “อนาคตร่างรธน.” ไม่มีพิมพ์เขียว แต่ต้องฟังแป๊ะเหมือนกัน?
“..คสช.เขาไม่ยุ่งจริง แต่คสช.ทุกคนนั่งอยู่ในครม. เขาเรียกว่าแยกร่างได้ ก็ต้องฟังแป๊ะเหมือนกัน ไม่ฟังไม่ได้”
“ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อธิบายโรดแมปการร่างรัฐธรรมนูญ ตามร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เวอร์ชั่นล่าสุด ในงานปาฐกถา ประยูร กาญจนดุล ครั้งที่ 7 เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า..
กรรมาธิการยกร่างฯได้รับขยายเวลาทำงานอีก 30 วัน นับแต่วันที่ครบ 60 วัน ที่จะต้องส่งร่างสุดท้ายให้สภาปฏิรูปแหงชาติ(สปช.) ลงมติ จากกำหนดเดิมคือ 23 กรกฎาคม 2558 เป็นส่งร่างรัฐธรรมนูญวันที่ 22 สิงหาคม 2558
หลังจากนั้นให้รอไว้ 15 วัน จนกระทั่งครบนับแต่วันที่ครบ 15 วัน ไม่เกิน 3 วันให้ลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
แปลว่า ระหว่างวันที่ 5-7 กันยายน 2558 ต้องลงมติโหวตรับ/ไม่รับรัฐธรรมนูญ แล้วแต่ประธานสปช.จะเลือกวัน
ถ้าไม่เห็นชอบ ฝาแฝดอินจันท์แต่เดิมคือ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็สิ้นสุดลง ตายตกไปตามกัน
หลังจากนั้นจะมีการตั้ง “คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ” ขึ้นใหม่ 21 คน ให้เวลาร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีก 180 วัน หรือ 6 เดือน ร่างเสร็จแล้วก็ไปสู่ขั้นตอนประชามติ
ถ้าประชามติผ่าน ก็ให้กรรมการยกร่างฯ 21 คน ปฏิบัติหน้าที่ทำกฎหมายลูกตามรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ถ้าไม่ผ่าน รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ไม่บอกว่าอะไรเกิดขึ้น?
“แปลว่าคสช. กับครม. ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง ฉะนั้น ไม่มีการหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมาแก้ไขแล้วใช้”
ถ้ากรรมการยกร่างฯ 21คนทำเสร็จส่งไปแล้วลงประชามติด้วยเสียงข้างมาก 49 ล้านคน ถ้ามาลงประชามติ 20ล้านคน เสียงข้างมากคือ 10ล้านคน ก็ผ่านประชามติ
แต่ถ้าต่ำกว่า 10 ล้านคน กรรมการยกร่างฯก็จบ แต่จบแล้วไม่บอกว่าจะทำอย่างไรต่อ แปลว่าแป๊ะยังจะต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวต่อ เพราะเขายังไม่เลือกว่าจะทำอย่างไรต่อไป
ในกรณีที่ สปช.เห็นชอบ ก็ยุบสปช.เหมือนกัน แต่กรรมาธิการยกร่างฯอยู่ต่อตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อให้ไปอธิบายร่างรัฐธรรมนูญที่สปช.เห็นชอบ
ส่วนขั้นตอนการทำประชามติ หากเป็นไปตามที่คณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.)กำหนดคือ 10 มกราคม 2559 หากไม่เห็นชอบ ก็ยุบกรรมาธิการยกร่างฯ ตั้งกรรมการ 21 คน ร่างรัฐธรรมนูญอีก 6 เดือน พิมพ์รัฐธรรมนูญแจก 19 ล้านฉบับ แล้วลงประชามติอีกครั้ง
“ถ้าประชามติไม่ผ่านอีก ก็ยุบกรรมการร่างฯ แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อ แป๊ะยังไม่ได้เขียนไว้ แป๊ะยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อ แต่ถ้าผ่านก็ไปทำกฎหมายลูก” ดร.บวรศักดิ์ กล่าว
“ดร.บวรศักดิ์” อธิบายเพิ่มเติมว่า หลังจากกรรมาธิการยกร่างฯได้รับคำขอแก้ไขเพิ่มเติมมาจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ประกอบด้วย 1 คำขอ 100 กว่าจุด 3 ประเภท และข้อสังเกต 1 ประเภท
ข้อสังเกตที่ว่า คือ ปรารภไว้แต่ไม่ติดใจ เช่น พลเมืองจะเอาไว้หรือ? ถ้าเอาพลเมืองไว้ต้องอธิบาย กับข้อแก้ไข 3 ดีกรี ได้แก่ 1.ครม.ซีเรียส ยกตัวอย่างคือ หมวดปฏิรูป
“ครม.บอกว่าต้องให้มีการปฏิรูปต่อเนื่อง ฉะนั้นคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ..ต้องมี สภาขับเคลื่อนปฏิรูป ..ควรจะต้องมี
ส่วนเนื้อหาสาระการปฏิรูป อย่าไปเขียนรายละเอียดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าเขียนแล้ว จะเป็นการ ..เรียกแขก
เช่น กฎหมายว่าด้วยการให้มีองค์กรบริหารท้องถิ่นทั้งจังหวัด ก็มีเสียงตัดค้าน หรือ รัฐจะไม่จัดการศึกษาแล้ว แต่จะส่งเสริมและกำกับให้เอกชนจัดการศึกษา ครูก็มายื่นหนังสือให้พิจารณาให้ดี
นอกจากนี้รัฐบาลบอกว่า บางเรื่องถ้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สภาที่มาจากการเลือกตั้ง หากเขาไม่เห็นด้วยจะทำอย่างไร?
ส่วนข้อแก้ไขระดับปานกลางมีประมาณ 2-3 ตัวอย่าง และข้อแก้ไขระดับดีกรีเล็กน้อย เช่น ประเภทถ้อยคำต่างๆ
นอกจากนี้ยังมีคำขอแก้ไขเพิ่มเติมจาก สปช. มี 8 คำขอ บางคำข้อเป็น 100 มาตรา ซึ่งกรรมาธิการยกร่างฯก็ต้องฟัง เช่นเดียวกับ พรรคการเมืองก็ส่งมา ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย ชาติไทยพัฒนา ฯลฯ
รวมทั้งองค์กรอิสระที่จะต้องอยู่ในรัฐธรรมนูญ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการสิทธิฯ ศาลยุติธรรม ฯลฯ
และคำขอแก้ไขจากประชาชนจากการจัดเวทีของสปช.ทั่วประเทศ ทั้งเวทีภูมิภาคและเวทีเฉพาะทาง ทั้งหมดนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเป็นรัฐธรรมนูญที่ต้องประสานประโยชน์
“ซึ่งก็ดีอย่างก็คือ การที่ครม. ขอแก้รัฐธรรมนูญมา100 กว่าจุด แสดงว่าไม่มีพิมพ์เขียวหรือพิมพ์ชมพู เพราะถ้ามีพิมพ์เขียว พิมพ์ชมพูจริง เขาไม่ขอแก้ เขียนตามที่แป๊ะสั่งไปแล้ว”
“ดร.บวรศักดิ์” กล่าวว่า เวลานี้เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้ ต้องดูกลุ่มที่จะต้องเอามาชั่งแล้วแก้ร่างรัฐธรรมนูญ กลุ่มที่1 คือ สปช. เป็นด่านแรก 2.ประชาชน หากเอาใจสปช. แต่ประชาชนไม่ชอบก็ไม่ได้
3.ครม.และคสช. “..คสช.เขาไม่ยุ่งจริง แต่คสช.ทุกคนนั่งอยู่ในครม. เขาเรียกว่าแยกร่างได้ ก็ต้องฟังแป๊ะเหมือนกัน ไม่ฟังไม่ได้”
4.องค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่น ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการสิทธฯฯลฯ และ 5. กลุ่มประชาสังคมต่างๆ
“อนาคตรัฐธรรมนูญนี้จึงขึ้นอยู่กับการที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯสามารถคง 4 เจตนารมณ์ไว้ได้ แต่ปรับบทบัญญัติให้สอดรับกับความรับได้ของสังคมไทยและกลุ่มต่างๆในสังคมไทย ทั้ง สปช. ประชาชน ครม. และองค์กรต่างๆ ที่ออกมาแสดงความเห็น” ดร.บวรศักดิ์ สรุป