ความเห็นต่อกรณีข่าวเมอร์สในไทย (มุมมองนักนิเทศศาสตร์)
นักวิชาการนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทยเตือนสื่อให้ระวังในการนำเสนอข่าวไวรัสเมอร์ส อย่าทำให้ชาวบ้านตื่นตระหนก แนะรัฐบาลทำพีอาร์เชิงรุก เน้นให้ข้อมูลให้มาก และรวดเร็วผ่านสื่อใหม่ พร้อมจับมือพันธมิตรบริษัททัวร์ โรงพยาบาลกระจายข้อมูล ปรับกลยุทธ์การท่องเที่ยวแปรวิกฤติเป็นโอกาส
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในประเด็นพบผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางหรือเมอร์ส รายแรกในไทยว่า สื่อส่วนใหญ่ทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ รวมถึงสื่อออนไลน์ทำข่าวนี้ได้ค่อนข้างดี มีการนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริง รวมถึงบอกวิธีการป้องกันโรคอย่างง่ายๆ ในรูปแบบของอินโฟกราฟฟิค หรืออิมเมอร์ซีฟกราฟฟิค
“การนำเสนอข่าวโรคร้ายแรงแบบนี้ สื่อมวลชนต้องคิดทบทวนให้รอบคอบก่อน ควรเช็คข่าว เช็คข้อมูลให้ถูกต้อง รอบด้าน ไม่ใช่เน้นแข่งกันนำเสนอด้วยความเร็ว เน้นดราม่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงในการนำเสนอข่าวระยะต่อไปคือสื่อบางส่วนจะหันไปเล่นข่าวการตามหาผู้ติดเชื้อ หรือผู้เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและเสี่ยงต่อการแพร่ข่าวจนสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนทั่วไป” คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าว
ดร.มานะ กล่าวแนะนำว่า หน่วยงานของรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขควรชี้แจง และให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ไวรัสเมอร์สในไทยอย่างรวดเร็ว และตรงไปตรงมา เพื่อป้องกันข่าวลือแพร่กระจายในสื่อสังคมออนไลน์
ด้านดร.โศภชา เอี่ยมโอภาส รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวแสดงความคิดเห็นว่า สถานการณ์ไวรัสเมอร์ในไทย แม้ผลกระทบโดยตรงในเรื่องภาพลักษณ์การท่องเที่ยวอาจยังไม่ชัดเจน แต่ควรจะมีวิธีการในการรับมือ เพราะไม่รู้ว่าไวรัสนี้จะอยู่ยาวนานแค่ไหน หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบต้องเริ่มมองว่า หากผลกระทบเข้าสู่การท่องเที่ยวก็ควรปรับแผนรูปแบบกิจกรรมบางประเภท โดยเฉพาะในปีนี้ที่มีการเน้นการเผยแพร่วิถีชีวิตความเป็นไทยในทุกภูมิภาค ควรมีการทำการสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุก ศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับไวรัสเมอร์สในเชิงลึกว่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการท่องเที่ยวในระยะไหนได้บ้าง
“รัฐบาลควรใช้ช่องทางการกระจายข้อมูลข่าวสารในรูปแบบสื่อใหม่ สื่อสังคมออนไลน์ที่เข้ามามีบทบาทอยู่แล้ว ช่วยในการกระจายข่าวสารให้รวดเร็วขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ ความถี่ในการส่งข้อมูล รัฐบาลจะต้องให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชนและนักท่องเที่ยวในระยะแรกค่อนข้างจะมาก ต่อเนื่อง รวดเร็ว และเร่งรัด พยายามสร้างแคมเปญใหม่ๆให้กับนักท่องเที่ยว และปรับกิจกรรมเสริมต่างๆขึ้นมาทันที เพราะไวรัสเมอร์สเป็นเรื่องที่กำลังสร้างความหวาดวิตกให้กับประชาชนในส่วนรวม”ดร.โศภชากล่าว
รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวว่า จำนวนของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้ามาในไทยสูงถึง 4.62 ล้านคนจากนักท่องเที่ยวทั้งหมด 24.77ล้านคนซึ่งถือว่าสูงสุดอันดับ 1 ในขณะที่กลุ่มคนยุโรปหรืออเมริกาเองก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เดินทางเข้ามาและใช้เม็ดเงินในการท่องเที่ยวมากเช่นกัน จึงควรเน้นกลุ่มนี้เป็นกลุ่มหลักให้มากที่สุด สิ่งหนึ่งที่ทำได้คือการแสดงความเป็นเจ้าบ้านที่ดี รับผิดชอบต่อสถานการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในขณะนี้ ไม่ให้รู้สึกว่าต้องว่าเผชิญภาวะเสี่ยงต่อโรค
“ ถึงแม้ว่าจะมีกิจกรรมทางการท่องเที่ยวหลักอยู่แล้ว แต่เมื่อไวรัสเมอร์สเข้ามา รัฐบาลควรวางกลยุทธ์ในการจับมือและประสานกับพันธมิตรหรือเครือข่ายที่การท่องเที่ยวจะสามารถทำได้ เช่น บริษัททัวร์ โรงพยาบาล ฯลฯ โดยอาจสนับสนุนให้โรงพยาบาลตรวจรักษาเบื้องต้นให้กับผู้ที่คิดว่ามีอาการหรือภาวะสุ่มเสี่ยงต่อไวรัสเมอร์ส นอกเหนือจากที่สนามบินที่มีการตรวจในขึ้นต้นแล้ว ซึ่งพันธมิตรหรือเครือข่ายเหล่านี้จะช่วยเอื้อและเป็นแรงผลักในการขับเคลื่อนข้อมูลข่าวสารไปพร้อมกับรัฐบาล ให้เห็นถึงกระบวนการในการกระจายข่าวสารที่เข้มแข็งไปยังกลุ่มคนภายนอกให้มากขึ้น” ดร.โศภชากล่าว
ในมุมมองของภาคเอกชน องค์กรธุรกิจยังไม่ถึงกับต้องปรับตัวร้อยเปอร์เซ็นต์หรือปรับเปลี่ยนแพ็กเกจการท่องเที่ยวทั้งหมดที่มีอยู่ เพราะว่ายังมีวิธีการสื่อสารอีกหลายวิธีกับวิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้น และกลุ่มธุรกิจองค์กรการท่องเที่ยวเหล่านี้เป็นเหมือนอีกกระบอกเสียงหนึ่งของรัฐบาลที่จะช่วยในการเผยแพร่ บอกต่อ รัฐบาลจึงสามารถขอความร่วมมือกับองค์กรเหล่านี้ให้แทรกรายละเอียดข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ไวรัสเมอร์สในเมืองไทยให้กับลูกค้าของเขา
“ตอนนี้หลายคนอาจจะมองว่าไวรัสเมอร์สเป็นอุปสรรคในการท่องเที่ยว แต่ในอีกมุมมองหนึ่งยังสามารถมองว่าเป็นโอกาส ให้ยึดเรื่องของสุขภาพเป็นตัวแปรสำคัญในการแก้ไขปัญหา เพราะว่าคนให้ความสำคัญกับสุขภาพ เช่น ในกรณีแพ็กเกจทัวร์อาจมีการเสริมแพ็กเกจหรือโปรโมชั่นที่เกี่ยวข้องกับการตรวจรักษาไวรัสเมอร์ส ก็อาจทำให้การท่องเที่ยวมีจุดน่าสนใจมากยิ่งขึ้น และจะทำให้วิกฤตไวรัสเมอร์ส กลายเป็นผลพวงที่จะสร้างโอกาสเชิงรุกในการท่องเที่ยวก็เป็นได้” ดร.โศภชากล่าว