กฤษฎีกา ชี้ราชทัณฑ์สั่งลงโทษ "แอล โอรส" ห้ามญาติเยี่ยม 3 เดือน ไม่ถูกต้อง
"กฤษฎีกา"ชี้กรมราชทัณฑ์สั่งห้ามญาติเยี่ยม "แอล โอรส" 3 เดือนไม่ถูกต้อง หลังเตะลูกฟุตบอลพุ่งชนกระจกหน้าต่างเรือนจำเสียหาย 1 บาน ระบุขณะเกิดเหตุ ยังมิได้ถูกจัดชั้นโดยสภาพโทษ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้พิจารณาข้อหารือของกรมราชทัณฑ์ เกี่ยวกับการสั่งลงโทษ นายศรายุทธ ศรีกำเหนิด หรือ "แอล โอรส" หนึ่งในสมาชิก "แก๊งโอรส" ที่เคยโด่งดังในโลกออนไลน์ หลังประกาศท้าตีท้าต่อย กับ "เน วัดดาว" ผ่านโซเชียลแคม จากกรณีเตะลูกฟุตบอลที่ดัดแปลงให้มีน้ำหนักมากขึ้น โดยปราศจากความระมัดระวัง จนเป็นเหตุให้ลูกฟุตบอลพุ่งไปชนกับกระจกหน้าต่างของสถานพยาบาลเรือนจำชำรุดเสียหาย จำนวน 1 บาน ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2556
โดยให้ตัดการอนุญาตให้ได้รับการเยี่ยมเยียนเป็นเวลา 3 เดือน จากเหตุที่ผู้ต้องขังกระทำให้ทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย ว่าเป็นการสั่งลงโทษที่ถูกต้องหรือไม่
โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 11) ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าวแล้ว และเห็นว่าเป็นการสั่งลงโทษที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากขณะที่ผู้ต้องขังชายศรายุทธฯ ได้กระทำผิดวินัยดังกล่าว ผู้ต้องขังชายศรายุทธฯ ยังมิได้ถูกจัดชั้นโดยสภาพของโทษ
"เมื่อพิจารณามาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 แล้วจะเห็นได้ว่า เมื่อผู้ต้องขังคนใดกระทำผิดวินัย ให้เจ้าพนักงานเรือนจำผู้มีหน้าที่พิจารณาลงโทษอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่าง ดังต่อไปนี้ (1) ภาคทัณฑ์ (2) งดการเลื่อนชั้น (3) ลดชั้น (4) ตัดการอนุญาตให้ได้รับการเยี่ยมเยียนหรือติดต่อไม่เกินสามเดือน (5) ลดหรืองดประโยชน์และรางวัล (6) ขังเดี่ยว ไม่เกินสามเดือน (7) ขังห้องมืดไม่เกินสองวันในสัปดาห์หนึ่ง (8) เฆี่ยน หรือ (9) ตัดจำนวนวันที่ได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกตามมาตรา 32(6) และวรรคสอง แห่งบทบัญญัติดังกล่าวยังบัญญัติว่า ในกรณีและเงื่อนไขอย่างใดจะลงโทษดังระบุไว้ข้างต้นให้กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อ 100 ข้อ 101 ข้อ 102 และข้อ 103 แห่งกฎกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่า กฎกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดให้พัศดีเรือนจำ สารวัตรเรือนจำ และผู้บัญชาการเรือนจำมีอำนาจลงโทษฐานผิดวินัยตามลำดับ ซึ่งแม้ว่าผู้บัญชาการเรือนจำจะมีอำนาจลงโทษทุกสถานตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ฯ ก็ตาม
แต่ผู้บัญชาการเรือนจำจะสั่งลงโทษผู้ต้องขังกระทำผิดวินัยในกรณีและเงื่อนไขใดได้ นั้น ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงมหาดไทย ฯ ซึ่งข้อ 104 ภาคทัณฑ์ ข้อ 106 ตัดการอนุญาตให้ได้รับการเยี่ยมเยียนหรือติดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 107 งดการเลื่อนชั้น ข้อ 108 ลดชั้นข้อ 109 ลดรางวัล ข้อ 110 งดรางวัล ข้อ 111 ขังเดี่ยว ข้อ 112 ขังห้องมืด และข้อ 113 เฆี่ยนเท่านั้น
ผู้บัญชาการเรือนจำไม่มีอำนาจสั่งลงโทษทางวินัยอย่างอื่นกับกรณีที่ผู้ต้องขังซึ่งกระทำผิดวินัยตามที่กำหนดในกฎกระทรวงมหาดไทยฯ ได้
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ต้องขังชายศรายุทธฯ ได้ดัดแปลงลูกฟุตบอลให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น และได้เตะลูกฟุตบอลดังกล่าวไปชนกับกระจกหน้าต่างของสถานพยาบาลเรือนจำชำรุดเสียหายโดยปราศจากความระมัดระวัง จึงเป็นการกระทำผิดวินัยฐานทำให้ทรัพย์สินของหลวงเสียหายโดยประมาทตามข้อ 107 (2) แห่งกฎกระทรวงมหาดไทยออกตามความในมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 แล้ว ซึ่งผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษธนบุรีพึงสั่งลงโทษงดการเลื่อนชั้นตามกฎกระทรวงมหาดไทย ฯ
แต่เนื่องจากขณะที่ผู้ต้องขังชายศรายุทธฯ ได้กระทำผิดวินัยดังกล่าว ผู้ต้องขังชายศรายุทธฯ ยังมิได้ถูกจัดชั้น โดยสภาพของโทษ จึงนำมาใช้ไม่ได้กับกรณีนี้ แม้ว่าข้อ 103 แห่งกฎกระทรวงมหาดไทยฯ กำหนดให้ผู้บัญชาการเรือนจำมีอำนาจสั่งลงโทษทางวินัยได้ทุกสถานตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ฯ ก็ตาม แต่ความในมาตรา 35 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 ได้บัญญัติกรอบ
การใช้ดุลพินิจในการลงโทษกรณีผู้ต้องขังกระทำผิดวินัยไว้ ซึ่งผู้บัญชาการเรือนจำจะสั่งลงโทษผู้ต้องขังกระทำผิดวินัยในกรณีและเงื่อนไขใดได้นั้น ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงมหาดไทยฯ เท่านั้น ดังนั้น การที่ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษธนบุรีสั่งลงโทษผู้ต้องขังชายศรายุทธฯ โดยตัดการอนุญาตให้ได้รับการเยี่ยมเยียนหรือติดต่อบุคคลภายนอกเป็นเวลาสามเดือน
อันเป็นโทษทางวินัยอย่างอื่นต่างจากกรณีที่กำหนดในกฎกระทรวงมหาดไทยออกตามความ ในมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 การลงโทษผู้ต้องขังชายศรายุทธฯ จึงเป็นการสั่งลงโทษที่ไม่ถูกต้อง