ทีดีอาร์ไอเผยผลวิจัยค่ารักษาพยาบาลขรก.สูงกว่าปชช.ถึง13%
ทีดีอาร์ไอแจงงานวิจัยทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ พบค่าใช้จ่ายระยะปีสุดท้ายก่อนตายของผู้ป่วยมีความเหลื่อมล้ำสูงระหว่างผู้ป่วยที่ได้รับสวัสดิการไม่เหมือนกัน และอัตราการรอดของข้าราชการสูงกว่าประชาชนทั่วไป
ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า งานวิจัยเกี่ยวกับผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ เป็นงานวิจัยที่ใช้ข้อมูลผู้ป่วยในจาก สปสช. และกรมบัญชีกลาง ผู้ป่วยในเหล่านี้เป็นโรคเรื้อรัง โรคใดโรคหนึ่งจาก 5โรค คือ ความดันโลหิต สูง หลอดเลือด เบาหวาน มะเร็ง และหัวใจ หรือเป็นหลายโรคในกลุ่มเดียวกันนี้ การวิจัยเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในระยะปีสุดท้ายก่อนตายของผู้ป่วยเหล่านี้ พบว่า มีความเหลื่อมล้ําสูงมากระหว่างผู้ป่วยที่ได้รับสวัสดิการ ไม่เหมือนกันทั้งๆ ที่เป็นโรคในกลุ่มเดียวกัน กล่าวคือ ข้าราชการมีอายุเฉลี่ยที่ยืนยาวกว่าประชาชนทั่วไป และ สวัสดิการของข้าราชการมีค่าใช้จ่ายที่มากกว่าถึง 13%
ดร.วรวรรณ กล่าวด้วยว่า การที่อายุเฉลี่ยของข้าราชการที่ยืนยาวกว่าอาจจะ มีปัจจัยอื่นๆ มาอธิบายได้ด้วยนอกจากเรื่องการรักษาพยาบาล เช่น มีอาชีพที่เป็นพิษภัยกับสุขภาพต่ำกว่า มีความรู้ความสามารถในการดูแลสุขภาพส่วนตัวมากกว่า มีรายได้เฉลี่ยสูงกว่า เป็นต้น งานวิจัยยังพบว่า ผู้ป่วยในที่เป็นประชาชนทั่วไปมีอาการของโรครุนแรงกว่าเมื่อเข้ารับการรักษาในช่วงปีสุดท้ายก่อนตาย และมีบางรายที่เข้ารับการรักษาเป็นครั้งแรกในช่วง 5 ปีก่อนตาย ซึ่งอาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทําให้อัตราการรอดต่ำเมื่อเข้ารับการรักษา ซึ่งข้าราชการมีการเข้าถึงสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ทั่วถึงกว่า การมีรายได้สูงกว่า มีบําเหน็จบํานาญ ทําให้มีความสามารถในการเดินทางมารักษาได้ดีกว่าด้วย
ดร.วรวรรณ กล่าวอีกว่า ข้อมูลของ สปสช. และกรมบัญชีกลาง ทําให้การวิจัยสามารถวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำของการได้รับการรักษาของประชาชนได้ ก่อนที่ประเทศไทยจะมีระบบสวัสดิการถ้วนหน้า การเก็บข้อมูลไม่ค่อยสมบูรณ์นักทําให้การวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำนี้จะกระทํามิได้เลย ดังนั้น การจะเปรียบเทียบว่าก่อนมีประกันสุขภาพถ้วนหน้า ความเหลื่อมล้ำหรือความเป็นธรรมทางสุขภาพเป็นอย่างไร เราไม่ทราบ มันอาจจะแย่กว่านี้หรือดีกว่านี้เราไม่สามารถสรุปได้ สิ่งที่ได้จากงานวิจัยนี้คือการวิจัยเพื่อพัฒนา เราน่าจะมาช่วยกันคิดว่าจะทําอะไรต่อไปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนี้ให้ค่อยแคบลงเรื่อยๆ