นักสิทธิฯ ชี้ไทยไม่พร้อมยกเลิกโทษประหารเป็นจำคุกตลอดชีวิต
ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิฯ ชี้ปัจจุบันไม่มีหลักฐานยืนยัน ‘ประหารชีวิต’ ลดอาชญากรรมได้ ระบุไทยยังไม่พร้อมยกเลิก เปลี่ยนเป็นจำคุกตลอดชีวิต ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาล
การพยายามผลักดันยกเลิก 'โทษประหารชีวิต' ยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยมีการยอมรับเพิ่มมากขึ้น เเม้ปัจจุบันยังคงเป็นเสียงข้างน้อยในสังคมไทย ด้วยไม่ใช่สาเหตุลดปัญหาอาชญากรรมหรือปัญหาร้ายเเรงต่าง ๆ ได้ เท่ากับการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม เเนวคิดดังกล่าวยังกลายเป็นข้อถกเถียงกันถึงความเหมาะสม
น.ส.เอมร เสียงใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ประเทศไทยซึ่งเป็น 1 ใน 58 ประเทศทั่วโลกที่ยังคงมีโทษประหารชีวิตอยู่ โดยส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติด ซึ่งขณะนี้นี้กำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการเตรียมความพร้อมเปลี่ยนแปลงโทษดังกล่าว โดยอิงหลักเหตุผลสากลว่า ขัดหลักสิทธิมนุษยชนพื้นฐานในการมีชีวิตอยู่
อย่างไรก็ตาม นักโทษประหารชีวิตส่วนใหญ่ด้อยโอกาสที่จะจ้างทนายมาแก้คดี ความผิดพลาดของระบบยุติธรรม ปัจจัยด้านการเงินที่ไม่ควรมีผลต่อการตัดสินความเป็นความตายได้ และปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานชัดเจนที่ยืนยันว่าโทษประหารชีวิตสามารถยับยั้งหรือลดสถิติอาชญากรรมในสังคมได้
“การยุติโทษประหารชีวิตไม่ใช่การสนับสนุนให้ผู้กระทำผิดไม่ได้รับโทษ แต่เป็นการยุติการลงโทษที่ไม่คุ้มค่า ไม่สมเหตุผล และโหดร้าย ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งลดความเสี่ยงที่โทษประหารจะถูกนำไปใช้กับผู้บริสุทธิ์อีกด้วย” ผู้เชี่ยวชาญฯ กล่าว
เมื่อถามถึงการดำเนินการขั้นตอนต่อไป นางสาวเอมร ยังระบุว่า ทำในทันทีไม่ได้ เพราะต้องเตรียมความพร้อมในหลายหน่วยงานของรัฐอย่างค่อยเป็นค่อยไป กรมราชทัณฑ์พร้อมหรือไม่ ถ้าหากจะเปลี่ยนโทษประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต โดยเรือนจำก็ต้องมีมั่นคงแข็งแรง
ตลอดจนมีกระบวนการที่พร้อมให้นักโทษออกมาสู่สังคมได้มีประสิทธิภาพ มอบความรู้ให้ประชาชนถึงโทษประหารชีวิต สิทธิมนุษยชน ซึ่งปัจจุบันยอมรับว่าสังคมไทยยังไม่พร้อม ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจต่อไป เพื่อให้เกิดการยอมรับในเวทีโลก .