‘โทชิ คาซาเมะ’:โทษประหารชีวิต ไม่ช่วยทำให้สังคมปลอดภัยขึ้น
"...ผู้ที่ก่ออาชญากรรมส่วนมากไม่ได้คิดถึงผลพวงที่จะตามมา ดังนั้นการลงโทษอย่างเดียวไม่ช่วยทำให้สังคมปลอดภัยขึ้น สิ่งที่สำคัญกว่าคือการป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรม..."
“ในโลกตอนนี้เราฆ่าในนามของความยุติธรรม ในนามของการล้างแค้นแทนเหยื่อ ในนามของศาสนา ในนามของเงิน หรือแม้กระทั้งการฆ่าในสงครามที่ตอบแทนด้วยเหรียญกล้าหาญ คุณอยากจะสร้างสังคมอย่างไร สังคมที่เต็มไปด้วยศพหรือ มนุษย์เข่นกันมาฆ่ามากพอแล้ว ผมหวังว่าพวกเราจะได้เรียนรู้ และคุณสามารถพูดอย่างภูมิใจต่อลูกหลานได้ว่าคุณได้มีส่วนทำให้สังคมดีขึ้นได้”
เร็ว ๆ นี้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมกับ องค์กรนิรโทษกรรมสากลประจำประเทศไทย(Amnesty International Thailand) จัดปาฐกถา พร้อมนิทรรศการภาพถ่ายเรื่อง “เยาวชนแดนประหาร” ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 8 กระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ
‘โทชิ คาซาเมะ’ ช่างภาพอาชีพ และผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียเครือข่ายญาติและครอบครัวของเหยื่ออาชญากรรมที่สนับสนุนสิทธิมนุษยชน (Murder victims' families for human rights) ปาฐกถาผ่านเรื่องราวจากภาพถ่ายนักโทษเยาวชน อายุระหว่าง 16-22 ปี ที่รอการประหารชีวิตในสหรัฐอเมริกาและไต้หวัน ภาพถ่ายครอบครัวของเหยื่อและผู้กระทำผิด ตลอดจนเรือนจำ สุสาน ลานประหาร และสถานที่เกิดเหตุ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1996 โดยใช้ชื่อนิทรรศการว่า “Eyes on preciousness”
โทชิ เริ่มต้นให้มุมมองถึงการประหารชีวิตว่า ไม่ใช่เรื่องของการถกเถียงหรือความคิดทางกฎหมาย เเต่เป็นเรื่องของการฆ่ามนุษย์
การให้มีโทษประหารชีวิตนั้นเป็นการเปิดเผยให้เห็นอีกด้านหนึ่งของสังคมที่พยายามหาทางออกโดยการฆ่า ฉีดยา แขวนคอ ช็อตไฟฟ้า รมควัน ยิงเป้า ปาหินใส่จนเสียชีวิต แต่ในนามของความยุติธรรมนั่นไม่ใช่ทางออกเลย มีใครสามารถประหารชีวิตคนได้อย่างมีมนุษยธรรมบ้าง
ยกตัวอย่างในเมืองไทยอาจมีโทษ 50 ประเภท ที่นำไปสู่การประหารชีวิต แต่ในสหรัฐอเมริกาจะเป็นคดีจำพวกฆาตกรรม
ก่อนหน้านี้ในความคิดของ ‘โทชิ’ คิดว่า คนที่ต้องโทษนี้จะต้องดูโหดร้าย จนกระทั่งได้พบกับ ‘ไมเคิล’ ซึ่งเป็นเด็กอายุ 16 ปี ธรรมดา ๆ คนหนึ่ง เขามีไอคิวเพียง 19 เพราะพ่อติดยา ทำให้ปู่กับย่าต้องดูแลเด็กคนนี้แทน
เขาตกเป็นเหยื่อของการถูกตัดสินประหารชีวิตหลังจากต้องโทษในคดีฆาตกรรมที่ไม่ได้ก่อ แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวอันร้ายแรงของระบบยุติธรรม ทำให้ถูกวาดภาพให้ต้องกลายเป็นปีศาจ
ส่วนกรณี ‘คริสตี้’ นักโทษหญิงผู้ถูกตัดสินประหารชีวิตอีกคนหนึ่ง เกิดขึ้นในรัฐเทเนสซี่ สหรัฐอเมริกา เพราะทำการฆาตกรรมผู้หญิงที่ร่วมหลับนอนกับแฟนของเธออย่างทารุณ เนื่องจากโกรธที่แฟนนอกใจ โดยการไปนอนกับผู้หญิงคนนั้น หลังจากนั้น โทชิ ได้พบกับแม่ของ‘คริสตี้’ ทำให้เขาค้นพบสาเหตุของความรุนแรงที่เริ่มมาจากความจน การไม่ได้รับการศึกษา ร่วมทั้งแม่ไม่ได้ห่วงใยลูกสาวเลย
“ในรูปเธออาจดูเป็นคนเงียบๆ แต่หลังจากการถ่ายรูป เธอก็หัวเราะและพูดถึงแฟนเธอ ยาเสพติด จึงชัดเจนว่า ‘คริสตี้’ เติบโตขึ้นในบ้านที่ปราศจากความอบอุ่น แต่หากได้รับความรักจากคนที่ใกล้ชิดสถานการณ์อาจไม่ไปถึงจุดนั้น”
ช่างภาพอาชีพ ระบุว่า เรื่องนี้สำคัญมากในการป้องกันและหยุดยั้งไม่ให้เกิดอาชญากรรมในด้านต่าง ๆ ที่เราต้องเข้าใจและเรียนรู้สาเหตุก่อนว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร ก่อนกำหนดบทลงโทษที่เหมาะสม เพื่อที่จะได้ไม่มีใครต้องตกเป็นเหยื่ออีก
โดยในการประหารชีวิตด้วยการฉีดยาเช่นเดียวกันกับที่ใช้ในประเทศไทย ด้านหลังกำแพงนี้จะมีสารเคมี 3 ชนิด ที่จะถูกฉีดผ่านทางสายถึงร่างกายของนักโทษ
ชนิดแรกจะทำให้ ผ่อนคลาย
ชนิดที่สองจะทำให้ หลับ
ชนิดที่สามจะทำให้ กล้ามเนื้อเกร็ง
ปอดจะยุบเพราะถูกกล้ามเนื้อกด เมื่อกล้ามเนื้อรอบหัวใจแข็งและหยุดเต้นจนเสียชีวิต ใช้เวลา 15 นาที สารเคมีละ 5 นาที โดยใช้ผู้คุมสองคนในการบิดกุญแจสองดอกเพื่อให้เครื่องทำงานโดยที่ไม่มีใครรู้ว่า ดอกไหนจะทำการประหารชีวิตนักโทษเพื่อให้รู้สึกผิดน้อยลง
“ผู้คุมบอกกับผมว่า ‘คุณโทชิ’ ช่วยบอกคนทั้งโลกด้วยว่ามันเป็นอย่างไร พวกผมจะได้ไม่ต้องฆ่าคนอีก”
สำหรับผู้ที่มีอำนาจการประหารชีวิตก็เหมือนกับการเซ็นลงบนกระดาษ พวกเขาไม่เคยต้องมารับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในนี้เลย เช่นเดียวกับทุกคน เราอาจจะสนับสนุนโทษประหารชีวิต เพราะเป็นเรื่องไกลตัว อาจเป็นเพียงแค่คำพูดที่เห็นในหน้าหนังสือพิมพ์ เพราะเราไม่ต้องมารับผิดชอบในการประหารชีวิตคน
โทชิ เล่าต่อว่า เขาเคยได้พบผู้รอดชีวิตและครอบครัวของเหยื่อมามาก การที่หลายคนสนับสนุนโทษประหารชีวิตเป็นความเชื่อที่ผิดอย่างมาก
การประหารชีวิตนั้นไม่สามารถทำให้เหยื่อฟื้นคืนชีพได้ มีผู้คนมากมายตกอยู่ในวงวนของความแค้น บางคนถึงกับฆ่าตัวตาย เพราะทนที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้ นั่นอาจเกิดขึ้นในตอนแรก พวกเขาควรได้รับการดูแลทางจิตใจและการเงินต่างหาก
“ถึงจุดหนึ่งเมื่อคนเหล่านี้มีชีวิตต่อ ไม่ใช่โดยการให้อภัยอาชญากร แต่ให้อภัยตัวเขาเองเพื่อจะไม่ต้องเกลียดชังอาชญากรอีกต่อไป”
โทชิ เข้าใจความรู้สึกเหล่านั้นดี เพราะเคยตกเป็นเหยื่อเองเช่นกัน เมื่อ 11 ปีก่อนเดินทางไปรับลูกสาวที่โรงเรียนประถม ในระหว่างที่เดินอยู่บนฟุตบาทได้เดินผ่านคนวิกลจริตไล่ทำร้ายผู้คนจนเขาถูกทำร้ายไปด้วย หลังจากตื่นขึ้นมาพบครอบครัวในห้อง ICU
“เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นสีหน้าลูก ๆ ที่เต็มไปด้วยความกลัว ผมบอกว่า พ่อจะมีชีวิตต่อ ลูกจงเกลียดความรุนแรง จงเกลียดอาชญากรรม แต่อย่าได้เกลียดผู้ที่ก่อสิ่งนั้นเด็ดขาด ถ้าผมบอกให้ไปล้างแค้น จิตใจของครอบครัวก็จะเต็มไปด้วยความอาฆาต ซึ่งผมไม่ต้องการ
การต้องโทษประหารชีวิตใครก็คงไม่อยากให้มี แต่ถ้าสังคมยังรับรองถึงความปลอดภัยไม่ได้ โทษประหารชีวิตอาจจะยังต้องคงไว้เพื่อรับรองถึงภัยคุกคามดังกล่าวหรือไม่”
โทชิ ระบุถึงกรณีนี้ว่า ไม่มีใครอยากเป็นเหยื่อ ซึ่งนั่นเป็นเป้าหมายของสังคมในอุดมคติ แต่เราควรเน้นไปที่การป้องกันอาชญากรรมไม่ให้เกิดมากกว่า
“การที่เราพูดถึงโทษประหารชีวิตทำให้คนไม่คิดก่ออาชญากรรมได้ แต่อย่างที่ได้กล่าวไป ผู้ที่ก่ออาชญากรรมส่วนมากไม่ได้คิดถึงผลพวงที่จะตามมา ดังนั้นการลงโทษอย่างเดียวไม่ช่วยทำให้สังคมปลอดภัยขึ้น สิ่งที่สำคัญกว่าคือการป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรม ป้องกันไม่ให้คนเหล่านี้ออกมาคนร้ายผู้อื่นได้” เขาระบุทิ้งท้าย