“บวรศักดิ์”เล่าเกร็ดรัฐประหาร ใครบอกไม่มีแล้วก็พูดไป ..ผมไม่พูดแล้ว
“..ใครมาถามผมว่า มันไม่มีแล้วนะรัฐประหาร ผมบอกว่าใครพูดก็พูดไป ผมไม่พูดแล้ว มันเป็นวัฒนธรรมการเมืองที่ฝังอยู่ในวัฒนธรรมไทยมาตั้งแต่อยุธยาจนถึงวันนี้ มันจะเปลี่ยนได้หรือไม่ ก็อยู่ที่คนรุ่นหนุ่มรุ่นสาว”
ในงานปาฐกถาประยูร กาญจนดุล ครั้งที่ 7 ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา “ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้รับเกียรติไปบรรยายเรื่อง “รู้ลึก รู้ชัด กับอนาคตรัฐธรรมนูญ” ณ ห้องประชุมสุรเกียรติ์ เสถียรไทย คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ
เนื้อหาบางห้วงบางตอนสะท้อนความรู้สึกลึกๆ ของ “ดร.บวรศักดิ์” ที่กำลังเผชิญความยากของการทำงานภายใต้สถานะความกดดันขณะนี้อย่างน่าสนใจ สำนักข่าวอิศรา ถอดความมานำเสนอดังนี้
“..ฟังหัวข้อ “รู้ลึก รู้ชัด กับอนาคตรัฐธรรมนูญ” แล้วตั้งคำถามกับตัวเองว่า รู้ลึก รู้ชัด อนาคตรัฐธรรมนูญจริงหรือเปล่า? คำตอบก็คือ ไม่จริงครับ”
“เพราะผมยังไม่รู้แม้กระทั่งอนาคตตัวเองว่าจะอยู่หรือจะไป ฉะนั้นใครที่หวังคำตอบว่า รู้ลึก รู้ชัด อนาคตรัฐธรรมนูญ ก็ต้องบอกว่าผิดหวัง” ดร.บวรศักดิ์ กล่าว
พร้อมกับบอกว่า “..คนที่จะรู้ลึก รู้ชัด อนาคตรัฐธรรมนูญนั้น ใกล้ตัวที่สุดคือ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ซึ่งจะเป็นคนลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนี้”
“ไกลออกไปคือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ซึ่งเป็นผู้สามารถที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ใช้บังคับ และสามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้อย่างไร และเมื่อใดก็ได้”
“ดังนั้น อยากรู้ลึกรู้ชัดอนาคตรัฐธรรมนูญก็ต้องไปถามท่านสมาชิกสปช.และคณะคสช. ถึงจะให้คำตอบได้”
“ดร.บวรศักดิ์” พูดเรื่อง “อำนาจรัฐ” กับ “อำนาจการเมือง” โดยกล่าวว่า “...ในหนังสือของอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช ท่านบอกว่า ในประเทศไทยต่างจากตะวันตกที่อำนาจรัฐกับอำนาจการเมืองเป็นอำนาจเดียวกัน เมื่อใดพรรคการเมืองไหนหรือใครคุมอำนาจการเมืองแล้ว ก็สามารถกุมอำนาจรัฐได้”
“ท่านอาจารย์ชัยอนันต์บอกว่า ในประเทศไทยอำนาจการเมืองที่ฝรั่งเรียกว่า political power อาจจะได้มาด้วยการเลือกตั้ง แต่อำนาจรัฐที่เรียกว่า state power อยู่ในมือของระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐทั้งหลาย”
“วันดีคืนดีอำนาจรัฐก็ขึ้นมาแข่งอำนาจการเมืองซะทีหนึ่ง จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมเราจึงมีสถิติรัฐประหารค่อนข้างมาก การรัฐประหารสำเร็จ 13 ครั้ง ถ้านับรวมเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ไม่รวมกบฏอีก10 กว่าครั้ง นี่เป็นวัฒนธรรมการเมืองไทยที่ในเมืองฝรั่งอาจจะไม่ค่อยมี ไม่ค่อยพบ”
“ดร.บวรศักดิ์” เล่าว่า ..ปี 2532 ผมเข้าเป็นที่ปรึกษาพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ก็มีข่าวลือรัฐประหาร ท่านพลเอกชาติชายท่านหัวเราะ ท่านบอกว่า..พ้นสมัยแล้ว ไม่มีหรอกรัฐประหารในยุคนี้
“ พูดจบอีก 2 วันต่อมา วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ท่านพลเอกชาติชายและผมเองต้องนอนอยู่ในกองบัญชาการอากาศโยธิน 15 วัน”
“ก็พูดกันต่อไปอีก หลังจากมีรัฐธรรมนูญปี 2540 บอกว่า ไม่มีแล้วรัฐประหาร พ้นสมัยแล้ว โครม! 19 กันยายน 2549”
“พูดกันอีกว่า รัฐธรรมนูญ 2550 มาถึงวันนี้ โลกาภิวัตน์ เต็มที่แล้ว ไม่มีแล้วยึดอำนาจ โครม! 22 พฤษภาคม 2557”
“ฉะนั้นใครมาถามผมว่า มันไม่มีแล้วนะรัฐประหาร ผมบอกว่าใครพูดก็พูดไป ผมไม่พูด แล้ว มันเป็นวัฒนธรรมการเมืองที่ฝังอยู่ในวัฒนธรรมไทยมาตั้งแต่อยุธยาจนถึงวันนี้ มันจะเปลี่ยนได้หรือไม่ ก็อยู่ที่คนรุ่นหนุ่มรุ่นสาว”
ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวย้ำว่า เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ คือ สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ ทำให้การเมืองใสสะอาดและสมดุล หนุนสังคมเป็นธรรม นำชาติสู่สันติสุข
2 ข้อเหลียวหลังไปแก้ปัญหาในอดีต อีก 2 ข้อแลหน้าไปสร้างอนาคตให้ลูกหลาน เขาบอกว่า ...การนำชาติสู่สันติสุข จะต้องไม่กลับไปตีกัน ชุมนุมปักหลักค้างคืนกันบนถนนอีก และต้องทำให้สังคมเป็นธรรม
เพราะวิเคราะห์ว่า เหตุแห่งความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อหลากสี จะบอกว่าคนขัดแย้งกันก็ใช้ แต่เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ออกมา
“ฐานของภูเขาน้ำแข็งคือ ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนมั่งมีมหาศาลกับคนไม่มี สังเกตดูเถอะ ม็อบกปปส. ม็อบเสื้อเหลือง ไม่ต้องจ้างมา พวกนี้เป็นคนชั้นกลางระดับบน ใครอยากกินของอร่อยที่สุดไปในม็อบเหล่านี้”
“วันไหนผมอยากกินก๋วยจั๊บอร่อย ผมก็ไปหลังเวทีของพันธมิตรฯ ใครอยากกินคั่วกลิ้งที่อร่อยที่สุดในประเทศไทย ก็ไปในม็อบกปปส. นี่คือคนชั้นกลางระดับบน และคนมั่งมี”
“แต่การชุมนุมของคนเสื้อแดง เป็นคนระดับล่างระดับรากหญ้า ซึ่งเขาต้องทำมาหากิน แต่อยากมาร่วมชุมนุม แต่ถ้ามาร่วมชุมนุมแล้วค่าจ้างวันละ 300 บาท หายไป คนเหล่านี้ก็ต้องเอาเงิน ไม่ใช่เอาเงินให้จ้างมาชุมนุม แต่เพราะถ้าเขามาชุมนุมแล้วลูกหลานเขาไม่มีกิน ก็เป็นไปไม่ได้”
เขาชี้ว่า “...นี่คือความขัดแย้งเชิงโครงสร้างในการจัดสรรทรัพยากรและความมั่งคั่งของประเทศ ทำให้คนมั่งมีมหาศาลยิ่งมั่งมีขึ้นไป ส่วนคนไม่มีก็ไม่มีอยู่เหมือนเดิม”
“ดร.บวรศักดิ์” วิเคราะห์ด้วยว่า รากฐานของความล้มเหลวของระบอบการเมืองไทยคือ 1.ประชาชนเป็นราษฎร 2.ความไม่เท่าเทียมกันความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้คนไม่มีต้องพึ่งพิงคนมี
ฉะนั้นความเป็นราษฎรกับความความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมคือรากฐานแห่งการซื้อสิทธิ์ขายเสียง
รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงต้องการขจัดการซื้อเสียงโดยการสร้างราษฎรให้เป็นพลเมือง แล้วสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดขึ้น เพื่อให้คนเป็นอิสระ ไม่ต้องไปหาส.ส. ไม่ต้องไปพึ่งส.ส.
แต่คนในระดับล่างของสังคม เขาเข้าไม่ถึงทรัพยากร ไม่มีอำนาจต่อรองในระบบเศรษฐกิจ “..ฉะนั้น ถ้ายังไม่ขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม คือ ไม่สร้างความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดขึ้น คุณอย่าไปหวังว่าจะเกิดประชาธิปไตยทางการเมือง” ดร.บวรศักดิ์ กล่าวและย้ำว่า
“..ถ้าคุณไม่เปลี่ยนวัฒนธรรมราษฎรเป็นวัฒนธรรมพลเมือง ก็ไม่ต้องหวังว่าประเทศนี้จะพ้นจากวงจรอุบาทว์ของการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง”
ประธานกมธ.ยกร่างฯ เผยความคืบหน้าการร่างรัฐธรรมนูญว่า วันนี้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่ต้องประสานประโยชน์ ไม่ใช่รัฐธรรมนูญในอุดมคติของผม
ซึ่งก็ดีอย่างก็คือ การที่ครม. ขอแก้รัฐธรรมนูญมา100กว่าจุด แสดงว่าไม่มีพิมพ์เขียวหรือพิมพ์ชมพู เพราะถ้ามีพิมพ์ พิมพ์ชมพูจริงเขาไม่ขอแก้ เขียนตามที่แป๊ะสั่งไปแล้ว
เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้ กลุ่มที่จะต้องเอามาชั่งแล้วแก้คือกลุ่มที่ 1 คือ สปช 2.ประชาชน 3. ครม.และคสช. ซึ่ง ดร.บวรศักดิ์ กล่าวว่า “..แม้คสช.เขาไม่ยุ่งจริง แต่คสช.ทุกคนนั่งอยู่ในครม. เขาเรียกว่าแยกร่างได้ ก็ต้องฟังแป๊ะเหมือนกัน ไม่ฟังไม่ได้”
4.องค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่น ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ผู้ตรวจการแผ่นดินฯลฯ และ 5. กลุ่มประชาสังคมต่างๆ
“ดูแนวโน้มแล้วมีหลายเรื่องที่ต้องหยิบขึ้นชั่งในการแก้ หนึ่งคือ การสู้กันระหว่าง “อนุรักษ์นิยม” คงสถานเดิมไว้ทุกอย่าง กับ “การปฏิรูป” และปรับปรุง
2. “ความเคยชิน” กับ “ความใหม่” ข้าราชเคยเป็นผู้ปกครอง เป็นผู้สั่ง ผู้บังคับบัญชา จะไปเปลี่ยนหมวดการปกครองท้องถิ่น เป็นการบริหารท้องถิ่นเพื่อให้เขาบริบทกับพลเมือง ซึ่งคู่กับผู้บริหารราชการแผ่นดิน จะต้องบริหาร อาศัยความเชื่อมมั่น ความศรัทธา แสวงความร่วมมือ แทนผู้ปกครองที่สั่งบังคับและบัญชา
แต่ท่านอดีตผู้ว่าฯทั้งหลายทั้งในสปช.และสนช. ท่านบอกว่าไม่ได้ ต้องกลับไปใช้คำว่าการปกครองท้องถิ่น นี่คือความเคยชินกับความใหม่ คนนอนตื่น 11 โมงเช้า วันนี้บอกให้ตื่นตี 5 ก็เป็นธรรมดา
ถัดมาคือ ต้องสู้กันระหว่าง “ฝรั่ง” กับ “ไทย” มีคนบอกไปเอารัฐธรรมนูญเยอรมันมาทำไม กินขาหมู กินเบียร์ คนไทยกินข้าว เราต้องทำแบบไทยๆเหมือนกัน
และต้องเลือกเอาระหว่าง “ความสงบหลังเลือกตั้ง” กับ “ความวุ่นวายหลังเลือกตั้ง” ซึ่งอันนี้ครม.เน้นมากว่าให้จำเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2549-22 พฤษภาคม 2557 ให้ดี
ถ้าประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่แล้วลงมือตีกันอีก บ้านเมืองก็อยู่ไม่ได้ ฉะนั้นเขาเน้นมากว่า หมวดปฏิรูปสำคัญ ต้องดูแลให้การปฏิรูป การปรองดองไปได้ เราจะเอาความสงบก็อาจจะต้องมีผู้รักษากติกา ถ้าจะเอาความวุ่นวายก็ไม่เป็นไร เลือกตั้งเสร็จก็ปล่อยไป
สุดท้าย ต้องบาลานซ์ระหว่าง “การเอาใจใส่พรรคการเมือง”และประโยชน์ของพรรคการเมืองกับ “ประชาชน”
“ดร.บวรศักดิ์” บอกว่า “..เราได้พยายามบาลานซ์ทั้งหมดนี้ แต่เจตนารมณ์หลัก 4 ข้อต้องอยู่ คือ สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ ทำให้การเมืองใสสะอาดและสมดุล หนุนสังคมเป็นธรรม นำชาติสู่สันติสุข ออกแบบบ้านนี่คือเสาเอก ถ้ารื้อเสาเอก ก็ต้องหาคนเขียนใหม่”
กระนั้นก็ตาม เขากล่าวว่า “..แต่เมื่อเราต้องรับฟัง ต้องดูความเป็นจริงของสังคมไทย เราก็ต้องประสานความเห็นและผลประโยชน์เหล่านั้นเข้าด้วยกันให้เป็นที่รับได้ ต้องเอาความคิดอนุรักษ์นิยมมาชั่งกับความคิดปฏิรูปปรับปรุง มาเป็น “มัชฌิมาปฏิปทา” ตรงกลางๆ
“เอาความสงบความวุ่นวายมาชั่งแล้วอาจจะต้องมีอะไรรักษากติกา เอาประโยชน์พรรคกับประโยชน์ประชาชนมาชั่งแล้วให้ทั้งพรรค ทั้งประชาชนได้ ทั้งหมดนี้คือความยากของการทำงานภายใต้สถานะความกดดัน”
“ดร.บวรศักดิ์” ทิ้งท้ายว่า “..อนาคตรัฐธรรมนูญนี้จึงขึ้นอยู่กับการที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯสามารถคง 4 เจตนารมณ์ไว้ได้ แต่ปรับบทบัญญัติให้สอดรับกับความรับได้ของสังคมไทยและกลุ่มต่างๆในสังคมไทย ทั้ง สปช. ประชาชน ครม. และองค์กรต่างๆ ที่ออกมาแสดงความเห็น”
พร้อมกับบอกว่า “..รัฐธรรมนูญนี้ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับในฝันของผม แต่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เชื่อว่าน่าจะทำให้สังคมไทยขยับเคลื่อนไปได้ข้างหน้า แก้ปัญหาความขัดแย้งในอดีตได้ สร้างความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสังคมได้”
“วันนี้ต้องยอมรับว่าสังคมไทยรับได้แค่นี้ ฉะนั้นจึงเป็นรัฐธรรมนูญที่พยายามทำให้ทุกฝ่ายรับ ได้ในภาวะปัจจุบันของสังคมไทย อาจจะไม่ถูกใจ100% กับใครสักคน แต่ก็ไม่ขัดใจคน เหล่านั้นถึงขนาดจะทำให้เขาต้องลุกขึ้นมาต่อต้าน เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่พยายามประสานประโยชน์และความรู้สึกของทุกกลุ่มของสังคมให้มากที่สุด”
ขอบคุณภาพจาก: www.parliament.go.th