เปิดมุมมอง “รุ่นใหม่ออกฤทธิ์ คิด-ทำ-เปลี่ยน” สร้างสรรค์สังคม
"ผม มีความคิดว่าจะเริ่มต้นด้วยการปลูกต้นไม้ขาย ด้วยต้นทุนเพียง 200 บาท ทุกวันนี้สิ่งที่ได้คือ ความสุขจากการได้ดูการเจริญเติบโตของต้นไม้ สิ่งมีชีวิต และได้กำไรจากการเพาะปลูกของตัวเอง"
เมื่อเร็วๆ นี้ โครงการผู้นำแห่งอนาคต Leadership for the Future และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรม “รุ่นใหม่ออกฤทธิ์ คิด-ทำ-เปลี่ยน” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1
ภายในงานมีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ จากคนรุ่นใหม่ 5 คน 5 สไตล์ ที่ต่างมีการลงมือทำสิ่งดีๆ โดยเริ่มจากการลงมือทำ และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
กลุ่มปกป้องหาดสมิหลา
เริ่มต้นแลกเปลี่ยนความคิดจากนายอภิศักดิ์ ทัศนีย์ ผู้ก่อตั้งแกนนำกลุ่ม Beach For Life ปกป้องหาดสมิหลา จ.สงขลา เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้หันมาสนใจเรื่องหาดทราย เกิดจากความทรงจำตอนวัยเด็กที่ความสุขเกิดจากการได้เล่นหาดทราย จึงเกิดพลังการปกป้องหาดทรายขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ก่อนรวมกลุ่มเพื่อนๆ จำนวน 20 คน ตั้งกลุ่ม Beach for Life ขึ้นด้วยความห่วงใยในปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้นกับหาดสมิหลา ปัญหานี้ทับซ้อนปัญหาเดิมอยู่อีกที เนื่องมาจากการนำกระสอบทรายขนาดใหญ่มาวางตามแนวชายหาดเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะ หน้า
"โครงสร้างที่แข็งไม่เหมาะ กับหาดชลาทัศน์ การแก้ไขปัญหาแบบนี้หาดก็จะพังไปเรื่อยๆ ถ้าเราอยากจะป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง แต่ไม่คำนึงถึงพื้นที่หาด ก็ต้องสร้างแนวกระสอบต่อไปเรื่อยๆไม่สิ้นสุด"
แกนนำกลุ่ม Beach For Life ปกป้องหาดสมิหลา จ.สงขลา บอกว่า หลังจากที่เขาได้มีโอกาสรับรู้ถึงปัญหา ได้รวบรวมเพื่อนอุดมการณ์เดียวกันจากอีก 9 สถาบัน ในเมืองสงขลา ลงพื้นที่ศึกษาเรื่องหาดอย่างจริงจัง พร้อมกับเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นอีก 11 ครั้ง
กระทั่งได้ร่างธรรมนูญขึ้นมา 1 ฉบับ ชื่อว่า ‘ธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน’ ธรรมนูญถูกร่างและผ่านเข้าสภาเทศบัญญัติ เพื่อเป็นกติการ่วมกันเพื่อดูแลหาดสมิหลา
ส่วนสิ่งที่กลุ่ม Beach For Life ปกป้องหาดสมิหลา จะทำคือ การศึกษาเรื่องกฎหมายเพื่อนำมาใช้ในการปกป้องชายหาดของเรา และจะนำข้อมูลเผยแพร่เป็นความรู้ให้กับคนในเมืองต่อไป
แอพลิเคชั่น FolkRice
ด้านนายอนุกูล ทรายเพชร ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรอินทรีย์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ FolkRice ถ่ายทอดประสบการณ์แปลงร่างไปเป็นชาวนา จึงได้เรียนรู้ว่า ชาวนาส่วนใหญ่ทำนาเสร็จจะต้องรวมกลุ่มกันขายข้าว แต่ไม่เคยทำให้ผู้ซื้อรวมกลุ่มกันซื้อได้เลย จึงเกิดความคิดที่จะทำแอพลิเคชั่น FolkRice
แอพลิเคชั่น FolkRice มีเป้าหมายจะเป็นตัวกลางออนไลน์ที่เชื่อมต่อให้คนทั่วไป สามารถสั่งซื้อข้าวสารได้จากชาวนาโดยตรง
แต่ปัญหาคือผู้ซื้อจะมั่นใจได้อย่างไรว่า การสั่งซื้อข้าวนี้ปลอดภัย จึงเกิดการลงมือทำเรื่องเกี่ยวกับขั้นตอนกระบวนผลิตทั้งหมดที่เกษตรกรจะต้องเป็นผู้ดูแลข้อมูล เพื่อจะบอกว่า ตัวเองมีกระบวนการผลิตอย่างไร มีความสามารถในการผลิตเท่าไหร่ สามารถขายในรูปแบบไหนได้บ้าง แบรนด์อะไร โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางหรือห้างโมเดิร์นเทรด รวมทั้งต้องการจะบริหาร FolkRice ให้เป็นธุรกิจเพื่อสังคมให้ได้
"เราเก็บส่วนแบ่งการขายจากชาวนาเพียงแค่ 10% เท่านั้น โดยจะเก็บเป็นข้าว ไม่ใช่เงิน และจะหาทางนำข้าว 10% นี้ไปขายต่อเองเพื่อหล่อเลี้ยงกิจการภายหลัง ระบบการทำงานของ FolkRice นี้ นอกจากจะมีตัวแอพฯ ที่ใช้สั่งซื้อแล้ว ยังมีทีมงานที่คอยช่วยเช็คสต็อคข้าวด้วย ซึ่งผู้บริโภคก็จะได้ข้าวที่ดีราคาถูกกว่าท้องตลาด แถมยังได้ด้วยเหลือชาวนาไปพร้อมกันด้วย"
ขณะที่นายอาภากร บุตรจันทา เกษตรกรรุ่นใหม่ ซึ่งปฎิเสธเส้นทางการทำงานที่มีเงินเดือนสูงๆ เลือกกลับไปทำงานที่บ้าน พร้อมเก็บงำความสนใจและสงสัยใคร่รู้คำตอบว่า ที่บ้านเกิดหรือทชนบทที่อื่นๆ เกษตรกรทำไม มีแต่คนสูงอายุ
เขาสนใจการเพาะปลูก ศึกษาต้นไม้หลากหลายชนิด และมีโอกาสหลายๆ อย่างเข้ามาในชีวิต จนเกิดเป็นแรงผลักดัน นำไปใช้ในการประกอบอาชีพเลี้ยงดูคนในบ้าน
"ผมมีความคิดว่าจะเริ่มต้นด้วยการปลูกต้นไม้ขาย ด้วยต้นทุนเพียง 200 บาท ทุกวันนี้สิ่งที่ได้คือ ความสุขจากการได้ดูการเจริญเติบโตของต้นไม้ สิ่งมีชีวิต และได้กำไรจากการเพาะปลูกของตัวเอง"
ส่วนนายเพียร เพลินบรรณกิจ จบการศึกษาจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีส่วนร่วมในโครงการ HITAP คือ หน่วยวิจัยที่วิจัยด้านนโยบายสาธารณะสุข งานหลักๆ เขาทำคือการวิจัยเรื่องคุณภาพของเครื่องมือแพทย์ นโยบายด้านสุขภาพ เช่น ในเรื่องของธาลัสซีเมีย และในประเทศไทยผู้ป่วยที่เป็นมีฐานะยากจน จึงได้เกิดการทำวิจัยเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งคือการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก
รวมถึงการร่วมกับเครือข่ายมักกะสัน ที่ลุกขึ้นมาเสนอหนทางสร้างสรรค์ ทวงคืนพื้นที่สีเขียว พื้นที่สวนสาธารณะ
นายเพียร มองเห็นว่า ในเมื่อรัฐบาล คสช.เข้ามาบริหารประเทศแล้ว ก็อยากให้มีพื้นที่บางส่วนมาเป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นพิพิธภัณฑ์ โดยเครือข่ายมักกะสันได้เสนอการทำพื้นที่สีเขียว พื้นที่สาธารณะ เป็นหลากมิติ ในรูปแบบของสวนสร้างสรรค์ โดยการไม่แบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ มีทั้งหอสมุดดีๆ พื้นที่ให้คนสูงอายุคุยกัน เป็นศูนย์รวมของคนในประเทศ ฯลฯ การพัฒนาพื้นที่ในส่วนมักกะสันจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาพื้นที่ในส่วน ต่างๆได้อีกด้วย
"เชื่อในสิ่งที่ตัวเองคิดอย่างไม่งมงาย ค่อยๆทำอย่างระมัดระวัง แล้วเราจะเจอจุดหมาย เราจะได้พบกันที่จุดหมายในสักวัน"
ในช่วงท้าย อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ นักวิชาการจากบางกอกฟอรั่ม สรุปถึงสิ่งที่สำคัญสำหรับคนรุ่นใหม่ คือ เราจะหวั่นไหวกับการตัดสินใจ ลงมือทำ และเอาชนะความกลัว ฉะนั้น การใช้ชีวิตในแต่ละวัน แล้วเดินไปตามความฝัน จนลมหายใจสุดท้าย คิดว่า เป็นสิ่งที่ดีที่สุด...