ช่องโหว่ ร่าง รธน. หมวดสิ่งแวดล้อม ส่อแววรัฐเร่งพัฒนา ศก. ละเลยสิทธิชุมชน
ชำแหละร่าง รธน. หมวดสิ่งแวดล้อม พบช่องโหว่หลายจุด ส่อแววรัฐบาลเร่งปฏิรูป ศก. มองไม่เห็นหัวคนจน ‘บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์’ ยันไม่ขวางพัฒนา แต่ห่วงอนาคตตายหมู่
วันที่ 19 มิถุนายน 2558 ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จัดเสวนาเรื่อง ‘ช่องโหว่กฎหมาย-การปฏิรูปสิ่งแวดล้อม?’ ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวเสนอแนะในบางมาตรา หมวดทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2558 ว่า ในมาตรา 62 พลเมืองมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ และมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะเน้นไปในเชิงกระบวนการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นของประชาชน ซึ่งควรมีสิทธิในการพัฒนาทรัพยากรและสิทธิในการได้รับสิ่งแวดล้อมที่ดีควบคู่กันไปด้วย
นอกจากนี้ยังมี มาตรา 64 วรรค 2 การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพจะกระทำมิได้ ควรที่จะตัดคำว่า อย่างรุนแรงออก ตามที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)เสนอ
“ไม่ควรแบ่งประเภท เพราะโครงทุกขนาดล้วนส่งผลกระทบต่อชุมชนและสภาพแวดล้อม และควรมีกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นหลักการสำคัญเบื้องต้น” รองเลขาธิการ คปก.ระบุ
น.ส.ศยามล ยังกล่าวถึงหมวดที่ 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 83 รัฐต้องส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นเพียงแนวทางให้รัฐบาลปฏิบัติตามหรือไม่ก็ได้ ซึ่งควรรักษาชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมไว้ โดยการย้ายไปไว้ในหมวดสิทธิเสรีภาพ มอบสิทธิ อำนาจ ในการจัดการทรัพยากรที่ชุมชนเป็นเจ้าของ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการจัดการตนเองโดยรัฐต้องปกป้องคุ้มครอง
ทั้งนี้ ภาค 4 การปฏิรูปและสร้างการปองดอง มาตรา 287 ตั้งคำถามว่า สามารถทำได้จริงหรือไม่
ด้านนายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ประธานสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงมาตรการมีส่วนร่วมว่า การให้ประชาชนรับรู้แสดงความคิดเห็นประกอบการตัดสินใจ และมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญเขียนไว้ และถูกรัฐบาลตัดออกไป เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน เหตุผลเดียวกับการตัดการก่อตั้งองค์กรอิสระ
สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลไม่ได้เข้าใจการปฎิรูปและยังคงยืนยันให้เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องวางโครงสร้างเพื่อให้ภาคประชาชนใช้เป็นเงื่อนไขในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในระยะยาวได้ จึงจำเป็นต้องคงไว้ซึ่งองค์กรอิสระ สมัชชาพลเมือง อันเป็นการกระจายอำนาจให้เกิดการมีส่วนร่วมและการจัดการในท้องถิ่นของตน
ประธานสมัชชาองค์กรฯ ยังเสริมว่าการปฏิรูปไม่ควรอยู่ที่ปัญหาการเห็นต่าง แต่ควรอยู่ที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม อันเป็นผลมาจากการแย่งชิงทรัพยากรและการปล่อยปละละเลย อันเป็นปัญหาพื้นฐานที่ไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยอำนาจพิเศษ อันเป็นการผลักภาระและผลกระทบทางมลพิษไปให้คนในชนบทเพื่อกำไรของภาคอุตสาหกรรม
“ยุค คสช.ยากที่จะปฏิรูป เพราะแนวคิดพื้นฐานมีปัญหา มองไม่เห็นหัวคนจน มองไม่เห็นความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม” นายภาคภูมิ กล่าว
ขณะที่ ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมาธิการปฎิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปช. กล่าวถึงความห่วงใย กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ให้ออกแรงเพื่อรักษากติกา บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้เป็นฐานของการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองให้เดินหน้าต่อไป องค์ภาคพลเมืองจะทำอย่างไรให้คงอยู่ ทั้งนี้ การสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อม เราไม่ได้ต้องการขวางการพัฒนา แต่อยากเห็นเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ เติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เศรษฐกิจเติบโตเร็วและไปตายหมู่ในวันข้างหน้า