แม่พิมพ์ไร้สัญชาติ เฮ! ได้ใบประกอบวิชาีชีพครูไทย
กรณีที่ น.ส.สายคำ ดีวงศ์ ชาวไทลื้อ ร้องขอใบประกอบวิชาชีพครู คุรุสภาฯส่งกฤษฎีกาตีความ คุณสมบัติด้านมาตรฐานวิชาชีพครบถ้วน ภาวะไร้สัญชาติไม่เป็นอุปสรรคประกอบวิชาชีพครูในเมืองไทย
จากบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องการขอขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูของบุคคลไร้สัญชาติ ระบุว่า สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา มีหนังสือด่วนมาก 14 ก.ย.54 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า น.ส.สายคำ ดีวงค์ ครูโรงเรียนไมตรีจิตคริสเตียน เชียงใหม่ ต.เชิงดอย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ สังกัดสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
โดยมีเอกสารประกอบ ได้แก่ สำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาใบประจำตัวคนเข้าเมือง ซึ่งระบุว่าเป็นบุคคลไร้สัญชาติ เชื้อชาติไทลื้อ เกิดที่ จ.สิบสองปันนา ประเทศจีน ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในเมืองไทยเมื่อปี 2526 และสำเนาใบรับรองคุณวุฒิและใบรายงานผลจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ระบุว่าจบหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย ตั้งแต่ 17 มี.ค.53
ซึ่งสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ได้ตรวจสอบพบว่า น.ส.สายคำ ดีวงค์ มีคุณสมบัติด้านมาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพครบถ้วนตามที่คุรุสภากำหนด
ทั้งนี้วันที่ 6 ต.ค.54 นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา มีถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ว่าได้พิจารณาข้อหารือของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา โดยมีผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (สำนักงานปลัดกระทรวงและกรมการปกครอง) และผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ (สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา) เป็นผู้ชี้แจง ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากผู้แทนกรมการปกครองว่า มติคณะรัฐมนตรี 29 ส.ค.43 อนุมัติในหลักการให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแก่บุคคลบนพื้นที่สูงและชุมชนบนพื้นที่สูงที่เกิดนอกราชอาณาจักร
น.ส.สายคำ ดีวงค์ จึงมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย และได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ถาวรในราชอาณาจักร
มาตรา 42 พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 บัญญัติให้ครูต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพครูตามกฎหมายว่าด้วยสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา และมาตรา 43 พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 บัญญัติให้วิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษาเป็นวิชาชีพควบคุม ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพโดยไม่ได้รับใบอนุญาต
มาตรา 44 พ.ร.บ.ดังกล่าว และข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ.2547 กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพครูแต่เพียงว่าต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ มีวุฒิปริญญาทางการศึกษาหรือเทียบเท่า หรือมีคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง และผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1ปี และผ่านเกณฑ์การประเมินปฏิบัติการสอน โดยกำหนดลักษณะต้องห้ามคือเป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือเคยต้องโทษจำคุกในคดีที่คุรุสภาเห็นว่าอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ รวมทั้งกรณีผู้ยื่นคำขอเป็นชาวต่างประเทศต้องผ่านการทดสอบและประเมินความรู้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนดเท่านั้น
กรณี น.ส.สายคำ ดีวงค์ เป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ถาวรในไทย สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากคณะกรรมการคุรุสภา ได้ยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ทั้งนี้ พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 ไม่ได้กำหนดให้บุคคลที่จะขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูต้องมีสัญชาติไทย ฃ
คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงมีความเห็นว่า การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูให้แก่ น.ส.สายคำ ดีวงค์ ซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนจึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด .
ที่มาภาพ : http://wrote107.blogspot.com/2011/01/blog-post_26.html