NBTC Policy Watch วอน กทปส.หนุนงบฯ วิทยุชุมชนอยู่รอด-จัดสรรคลื่นให้ ปชช. 20%
นักวิจัย NBTC Policy Watch ชี้กระบวนการอนุญาตทดลองวิทยุชุมชนลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อ เรียกร้องเร่งเรียกคืนคลื่นความถี่เอฟเอ็ม จัดสรรใหม่ให้ ปชช.ไม่น้อยกว่า 20% ชงตั้งสำนักวิทยุชุมชนดูแลเฉพาะหนุนด้านต่าง ๆ
เร็ว ๆ นี้ โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) นำเสนอรายงานการศึกษา เรื่อง ‘กระบวนการอนุญาตทดลองประกอบกิจการกระจายเสียงบริการชุมชนของ กสทช.’ ณ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมี น.ส.ศริณทิพย์ หมั้นทรัพย์ เป็นนักวิจัยโครงการฯ นำเสนอ
น.ส.ศริณทิพย์ กล่าวว่า วิทยุชุมชนเป็นรูปธรรมของการปฏิรูปความเป็นเจ้าของสื่อชัดเจนที่สุด และหมายถึง วิทยุประเภทบริการชุมชนตามนิยามของ กสทช. ที่ว่า ต้องดำเนินการโดยไม่แสวงหากำไรในเชิงธุรกิจ และตอบสนองประโยชน์สาธารณะของชุมชนเป็นหลัก ถูกเหมารวมและเข้าใจผิดว่าเป็นวิทยุการเมืองเรื่องสี เป็นเครื่องมือสร้างความแตกแยกในสังคม และเป็นวิทยุขนาดเล็กโฆษณาสินค้าผิดกฎหมาย จนทำให้วิทยุชุมชนถูกลดคุณค่าทางสังคมลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ เพราะการกำกับดูแลที่ผิดพลาดของรัฐในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนวิทยุชุมชนภายใต้เงื่อนไขที่สามารถโฆษณาได้ชั่วโมงละ 6 นาที หรือการลงทะเบียนวิทยุรายใหม่ทั้งหมดภายใต้ชื่อวิทยุชุมชน และการกำกับดูแลที่ขาดการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบกิจการของ กสทช.ในปัจจุบัน
นักวิจัยโครงการฯ กล่าวต่อว่า กสทช.ยังเลือกปฏิบัติในการกำกับดูแลวิทยุเอฟเอ็มในไทยด้วย 2 วิธี แตกต่างกัน คือ วิทยุเอฟเอ็มรายเดิม จำนวน 524 สถานี ไม่ได้กำหนดมาตรฐานทางเทคนิค ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมกับ กสทช. และดำเนินธุรกิจในขณะนี้ให้แจ้งรายละเอียดข้อมูลการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่และเหตุแห่งความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่ไปยัง กสทช. (แจ้งมาแล้ว 509 สถานี) โดย กสทช.จะพิจารณามูลเหตุของความจำเป็น และระยะเวลาในการถือครองคลื่นที่เหลือให้แล้วเสร็จภายในปี 2558
ขณะที่วิทยุเอฟเอ็มรายใหม่ทั้ง 3 กิจการ 6,601+ สถานี ต้องเข้าสู่กระบวนการขออนุญาตทดลองประกอบกิจการกระจายเสียงภายใต้มาตรฐานทางเทคนิคแบบเดียวกัน เพื่อรับใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการอายุ 1 ปี เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการออกใบอนุญาตในอนาคต ซึ่งผู้ขออนุญาตทดลองฯ จะได้รับสิทธิในการประกอบกิจการเท่านั้น ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่แต่อย่างใด ต้องรอการคืนคลื่นให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะจัดสรรคลื่นใหม่ได้
“ผู้ขออนุญาตทดลองฯ ต้องขอต่อใบอนุญาตทุก ๆ ปี เสียค่าธรรมเนียม และถูกจำกัดกำลังเครื่องส่งตามประกาศ กสทช. ทำให้วิทยุบริการธุรกิจและวิทยุบริการสาธารณะไม่สามารถแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมกับวิทยุรายเดิมได้” น.ส.ศริณทิพย์ กล่าว
นักวิจัยโครงการฯ กล่าวอีกว่า ยิ่งไปกว่านั้น กระบวนการอนุญาตทดลองฯ ยังลิดรอนสิทธิการสื่อสารของชุมชนที่ต้องการดำเนินการวิทยุบริการชุมชนอีกด้วย กล่าวคือ การพิจารณาอนุมัติใบอนุญาตทดลองฯ ของ กสทช.เน้นการพิจารณาข้อมูลเอกสารเป็นเกณฑ์ ซึ่งใช้เวลานาน และไม่มีการตรวจสอบการดำเนินการจริง ส่งผลให้มีการดำเนินการผิดประเภท ยกตัวอย่าง วิทยุชุมชนโฆษณา
นอกจากนี้การตรวจเครื่องส่งให้ได้ตามมาตรฐานของ กสทช.นั้น ผู้ขออนุญาตฯ ต้องไปตามศูนย์ตรวจที่มีอยู่ไม่ครอบคลุมพื้นที่มากนัก และต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงถึงหลายหมื่นบาทไปกับการซ่อมเครื่องส่งให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการเดินทางหลายครั้ง ที่สำคัญ การขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 ยังสร้างปัญหาในการหาโฉนดที่ตั้งสถานี ทั้ง ๆ ในความจริง สถานีได้ตั้งอยู่บนพื้นที่สาธารณะของชุมชน ซึ่งได้รับความยินยอมเห็นชอบจากเจ้าของสถานที่และคนในชุมชนแล้ว
น.ส.ศริณทิพย์ ยังกล่าวว่า ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย กสทช.ไม่เพียงต้องจัดสรรคลื่นความถี่ให้ภาคประชาชนใช้ประโยชน์อย่างเท่าเทียมไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 เท่านั้น หากยังต้องให้การสนับสนุนในกรณีประชาชนขาดความพร้อมด้วย ทว่า กสทช.ผ่านทางกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ไม่เคยให้การสนับสนุนแก่วิทยุชุมชนเลยที่ผ่านมา โดยอ้างว่า ยังไม่สามารถจัดทำหลักเกณฑ์การสนับสนุนเสร็จ ส่งผลให้วิทยุชุมชนจำนวนหนึ่งต้องยุติประกอบกิจการบริการชุมชนถาวร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ศึกษารายงานฯ มีข้อเสนอถึง กสทช. ดำเนินการ ดังนี้
1.การจัดสรรคลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงให้ภาคประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 โดยเร่งให้วิทยุรายเดิมคืนคลื่นโดยเร็ว และนำมาจัดสรรใหม่ให้ภาคประชาชนสามารถใช้คลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียม
2.การจัดโครงสร้างสายงานการบริหารและปฏิบัติการในสำนักงาน กสทช.ตามประเภทกิจการ โดยให้มี 'สำนักวิทยุชุมชน' เพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับวิทยุชุมชนโดยเฉพาะ ดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่กำหนดหลักเกณฑ์การประกอบกิจการ พิจารณาใบอนุญาต ต่ออายุใบอนุญาต จัดทำคู่มือแนะนำผู้ประกอบการ ประชาสัมพันธ์ข้อมูล รวมถึงสนับสนุนวิทยุชุมชนในด้านต่าง ๆ
3.การบริการสำนักงานให้มีธรรมาภิบาล โดยทำงานแบบมีส่วนร่วม เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ และทำงานโปร่งใส่ ตรวจสอบได้
4.การส่งเสริมและสนับสนุนด้านงบประมาณ รัฐหรือองค์กรกำกับดูแลต้องจัดสรรงบประมาณเฉพาะสำหรับสนับสนุนวิทยุชุมชน เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และเสริมศักยภาพในด้านต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ควรกำหนดความช่วยเหลือให้ไม่นำมาซึ่งภาวะพึ่งพิงเกินสมควร เพราะวิทยุชุมชนควรอยู่ได้ด้วยการอุดหนุนของชุมชน .