คลื่นวิทยุกวนการบิน เหตุ ICAO ปักธงแดง ลดอันดับมาตรฐานความปลอดภัย
เลขาธิการ สวชช. เผยคนทำวิทยุชุมชนท้อแท้ ไร้การสนับสนุนงบฯ ที่ดี ต้องดิ้นรนทอดผ้าป่าอยู่รอด ฉะเงื่อนไขต้องตั้งสถานีในที่ดินเอกสารสิทธิสร้างภาระ ด้าน กสทช.ชี้เหตุ ICAO ปักธงแดง มาตรฐานการบินไทยต่ำ ส่วนหนึ่งมาจากคลื่นวิทยุรบกวน ระบุแค่ 1 วินาที ไถลนอกรันเวย์ได้
วันที่ 19 มิถุนายน 2558 โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จัดเสวนา ‘อนาคตวิทยุชุมชนไทยภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช.รุ่งหรือร่วง?’ ณ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
นายวิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ (สวชช.) กล่าวว่า ปัจจุบันคนทำวิทยุชุมชนอยู่ในภาวะท้อแท้ เพราะการเรียกร้องตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ในด้านการสนับสนุนงบประมาณไม่เกิดขึ้น ทำให้ต้องดิ้นรนด้วยการจัดทอดผ้าป่าหรือรับบริจาค เพื่อนำรายได้มาบริหารจัดการตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท/เดือน ขึ้นอยู่กับขนาดสถานี ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีคำถามกับตัวเองว่า ทำไปเพื่ออะไร เพราะต้องควักเงินในกระเป๋าอยู่เรื่อย ๆ
แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พยายามจัดระเบียบวิทยุชุมชน ภายหลังยึดอำนาจ เลขาธิการ สวชช. ระบุว่า การกลับมาอนุญาตทดลองออกอากาศใหม่ มีเงื่อนไขสำคัญ ซึ่ง กสทช. รัฐบาล และฝ่ายความมั่นคง พยายามตรวจสอบให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ยังพบสถานีวิทยุขนาดเล็กบางแห่งไม่กลัว โดยยังรุนแรง ยุยง เพราะอาจมีฐานหนุนอยู่เบื้องหลัง รวมถึงมีการโฆษณาสินค้าด้วย ที่เป็นเช่นนี้เพราะการกำกับผู้ได้รับใบอนุญาตฯ ในแต่ละประเภทขาดประสิทธิภาพ
นายวิชาญ ยังกล่าวถึงเงื่อนไขปัญหาสำคัญ คือ การกำหนดให้สถานีวิทยุชุมชนต้องตั้งในที่ดินมีเอกสารสิทธิ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กำหนดให้เป็นของสาธารณะ จะตั้งบ้านใครไม่ได้ แต่เมื่อมีเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้ต้องย้ายสถานีที่เคยตั้งในที่ดินสาธารณะไปที่มีเอกสารสิทธิ หากจะตั้งที่เดิมต้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอนุมัติ ส่งผลให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ฉะนั้นการไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดีพอ วิทยุชุมชนก็อยู่ในภาวะลำบาก อย่างไรก็ตาม การเติบโตจะเกิดขึ้นเมื่อมีกระบวนการออกใบอนุญาตฯ และการสนับสนุนงบประมาณที่ดี
“ที่ผ่านมาวิทยุชุมชนถูกมองเป็นสื่อการเมือง ขายโฆษณาหลอกลวง ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำเลย คือ การส่งเสริมการกำกับดูแลร่วมกัน ระหว่าง กสทช.และวิทยุชุมชน ไม่ใช่ให้กำกับดูแลกันเอง เพราะไม่มีใครเชื่อฟัง โดยเน้นด้านกฎกติกาและจริยธรรมในการทำงาน แต่ปัจจุบันมักให้น้ำหนักด้านการให้ใบอนุญาตฯ มากกว่า ส่งผลให้ยังมีผู้กระทำผิดอยู่” เลขาธิการ สวชช. กล่าว
ด้าน น.ส.มณีรัตน์ กำจรกิจการ ผอ.สำนัก สำนักการอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า วิทยุชุมชนจะรุ่งหรือร่วง อยู่ที่สถานียังคงเจตจำนงเดินหน้าต่อไปหรือไม่ เพราะแนวโน้มเกิดขึ้นมาไม่ใช่แค่ว่าเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่เป็นปัจจัยองค์กรกำกับดูแลที่พยายามสร้างความเข้าใจและเข้าถึงกลุ่มสถานีให้มากที่สุด และ กสทช. ต้องทำอย่างไรให้สถานีต่างๆ เหล่านั้นอยู่รอดเป็นเรื่องต้องทำงานร่วมกันกับวิทยุชุมชน
ทั้งนี้ ยอมรับว่า ปัจจุบันบุคลากรของ กสทช.ขาดความรู้จริงและรู้แจ้งปัญหาแท้จริงของวิทยุชุมชน เพราะบุคลากรส่วนใหญ่ทำงานในส่วนกลาง ดังนั้นจะเตรียมการพัฒนาศักยภาพส่วนนี้ในอนาคต พร้อมกันนี้ ได้ผลักดันโครงการสนับสนุนชุมชนที่ดี ซึ่งได้รับงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เพื่อวิจัยหาค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมในแต่ละสถานี เพื่อสนับสนุนงบประมาณกึ่งหนึ่งต่อไป
ผู้แทน กสทช. ยังกล่าวถึงกรณีองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization:ICAO) มอบสัญลักษณ์ธงแดงแก่ไทยในเว็บไซต์ของ ICAO ทำให้ส่งผลกระทบต่อการบิน ซึ่งมีสาเหตุหนึ่งจากปัญหาคลื่นวิทยุรบกวนระบบการร่อนของเครื่องบิน และการติดต่อสื่อสารระหว่างหอบังคับการบินกับนักบิน เพียงแค่ 1 วินาที ก็ทำให้บินออกนอกรันเวย์ได้ หากยังแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้ อนาคตจะกระทบต่อเศรษฐกิจ เพราะไม่มีเครื่องบินลำใดบินเหนือน่านฟ้าไทยเลย
“สถานีวิทยุของไทยมีจำนวนมาก และใช้คลื่นความถี่ใกล้เคียงกัน ทำให้เกิดการรวมตัว 2 คลื่น ผสมพันธุ์กลายเป็นคลื่นใหม่ที่มีย่านความถี่เกิน 108 MHz ซึ่งระบบการบินใช้กัน จนเกิดการรบกวน แต่การลดกำลังการส่งอย่างเดียวจะไม่เกิดประโยชน์ หากเครื่องส่งยังไม่ได้มาตรฐาน” น.ส.มณีรัตน์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ข้อมูล ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2558 จากการวิจัยหัวข้อ กระบวนการอนุญาตทดลองประกอบกิจการกระจายเสียงบริการชุมชนของ กสทช. พบว่า กระบวนการขออนุญาตทดลองฯ ของ คสช.มีวิทยุรายใหม่ได้รับอนุญาตออกอากาศ 3,723 สถานี แบ่งเป็น บริการธุรกิจ 2,954 สถานี บริการสาธารณะ 581 สถานี และบริการชุมชน 188 สถานี
ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดแผนความถี่และมาตรฐานทางเทคนิคเอฟเอ็มใหม่เบื้องต้น คือ ให้จัดสรรช่วงคลื่น 88.-91.5 MHz สำหรับวิทยุบริการชุมชน และ ช่วงคลื่น 91.7-107.9 MHz สำหรับบริการสาธารณะและบริการธุรกิจ โดยวิทยุชุมชนถูกกำหนดมาตรฐานทางเทคนิคกำลังส่ง 500 วัตต์ และ 100 วัตต์ แต่อีก 2 ประเภท ไม่มีการกำหนด .