นักวิชาการจุฬาระบุขยายกทม.เพิ่ม เมืองยิ่งเสี่ยงเมือง'จมน้ำ'
นักวิชาการด้านแหล่งน้ำชี้สาเหตุุกรุงเทพมหานครเสี่ยงจมน้ำ เนื่องจากดินทรุดตัวเพราะมีการขยายตัวเมือง แนะจัดตั้งองค์กรเพื่อศึกษาและรับมือความเสี่ยง ระบุต้องให้ความสำคัญด้านการบริหารงานผังเมือง
18 มิถุนายน 2558 คณะกรรมการเตรียมการเพื่อรับมือวิกฤตการณ์ “กรุงเทพจม” สภาปฏิรูปแห่งชาติ จัดสัมมนาเรื่อง “การปฏิรูปเพื่อรับมือวิกฤตการณ์น้ำทะเลขึ้นสูงและแผ่นดินทรุดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล” ณ ห้องประชุมสารนิเทศ ชั้น 1 อาคารรัฐสภา 1
รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสาเหตุของการทรุดตัวของพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เกิดจากการทรุดตัวตามธรรมชาติ และการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก หรือการทรุดตัวจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การใช้น้ำบาดาล น้ำหนักที่กดทับจากอาคาร สาธารณูปโภค การถมดินเพิ่มป้องกันน้ำท่วม อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีการควบคุมการใช้น้ำบาดาลและการทรุดตัวได้ลดต่ำลงมากกว่าเดิม แต่ก็ยังคงมีการใช้น้ำบาดาลอยู่จึงเป็นผลให้ยังคงเกิดการทรุดตัวของแผ่นดินอยู่โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลบริเวณจังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร
รศ.ดร.สุจริต กล่าวถึงการขยายตัวของเมืองยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังเป็นสาเหตุของการเพิ่มน้ำหนักกดทับพื้นดิน อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังส่งผลให้เกิดแนวโน้มของการยกระดับน้ำทะเลในอนาคตอีกด้วย ที่ผ่านมาการดำเนินงานขององค์กรที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการทำงานหรือดำเนินการแบบองค์รวม ดังนั้นจากสาเหตุดังกล่าวถามว่า ขณะนี้กรุงเทพมหานครอยู่บนความเสี่ยงหากปล่อยให้เกิดขึ้นแน่นอนว่าย่อมได้รับความเสียหายมาก ฉะนั้นจะรับมืออย่างไร รวมถึงต้องคำนึงเรื่องการปรับปรุงการใช้ที่ดินให้เหมาะสมได้แล้หรือไม่
หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงแนวทางในการปฏิรูปเชิงนโยบายว่า จะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายและมีการเพิ่มกฎหมายใหม่ เช่นให้มีการปรับปรุงการใช้ที่ดินที่เหมาะสม การใช้พื้นที่เพื่อการเก็บน้ำดิบ การใช้พื้นที่เพื่อการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง การควบคุมวิธีการดำเนินการเพื่อป้องกันน้ำท่วมของภาคเอกชน อาทิ การกำหนดระดับการถมดินระดับถนน ส่วนการพัฒนากลไกและเครื่องมือในการพัฒนานั้น เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งต้องมีการเพิ่มบทลงโทษการลักลอบใช้น้ำบาดาล
ส่วนการปฏิรูปองค์กร รศ.ดร.สุจริต กล่าวว่า จะต้องให้มีองค์กรหรือคณะกรรมการที่ศึกษาดูแลและจัดการด้านการวางแผนรับมือกรุงเทพจมในภาพรวม และจะต้องให้องค์กรเฉพาะกิจของหน่วยงานด้านการรับมือวิกฤตการณ์ ดังนี้
1 การประปาทำแผนดำเนินการระยะยาว 20 ปีขึ้นไป
2กรมชลประทานจัดทำแผนจัดหาน้ำดิบในระยะยาว และวางแผนรับมือความเสี่ยงจากการขึ้นของน้ำทะเลในอนาคต
3 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ติดตามสภาวะการใช้น้ำบาดาล และการทรุดตัวของแผ่นดิน
4 สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ติดตามผลกระทบจากสภาวะแวดล้อม และการเพิ่มของน้ำทะเล รวมถึงัดทำแผนป้องกันความเสี่ยงจากผลกระทบดังกล่าว
“จากนี้ไปการเจริญเติบโตของเมืองในกรุงเทพมหานครส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำ การกระจายน้ำ พื้นที่สีเขียว ระบบระบายน้ำ ควรจะเป็นอย่างไร กลไกการติดตามเพื่อดูความเปลี่ยนแปลงและเทียบแผนของหน่วยงานที่มี ควรเป็นแบบไหนจึงจะป้องกันปัญหาได้ นี่คือสิ่งที่ต้องคิดและดำเนินการ”
รศ.ดร.สุจริต กล่าวด้วยว่า ที่สำคัญคือต้องกำหนดความรับผิดชอบและให้การสนับสนุนงานผังเมืองในการควบคุมดูแลการพัฒนาให้เหมาะสม รวมทั้งด้านการทรุดตัว การระบายน้ำ และผลจากการยกระดับน้ำทะเลร่วมกับหน่วยงานที่ดำเนินการโดยตรง ส่วนปัญหาผลกระทบจากสภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศนั้นเราจำเป็นจะต้องมีแผนประเมินความเสี่ยงและหามาตรการที่เหมาะสม โดยจะต้องมอบหมายให้มีการติดตามวิเคราะห์ ประมาณการ เปลี่ยนแปลง เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงผลกระทบ รวมทั้งต้องมีการวิจัยศึกษาผลที่จะเกิดกับประเทศไทยอย่างจริงจัง และต้องให้ข้อมูลผลการศึกษากับสื่อมวลชนและประชาชนเป็นระยะๆ